Published by Crackers Books,

24 March 2024

https://crackersbooks.com/blogs

Blog Series: How to Crack for PhD/Postgrad Studies (Special Episode)


ว่าด้วยระบบติดตามความก้าวหน้าวิทยานิพนธ์ของมหาวิทยาลัยยอร์ก


รศ.ดร.วัชรพล พุทธรักษา

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยนเรศวร

สำนักพิมพ์ Crackers Books





การเรียนปริญญาเอกในระบบอังกฤษ มีกลไกบางประการที่สำคัญที่โดยส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนมองว่ามหาวิทยาลัยในประเทศไทยน่าจะนำไปใช้อย่างเคร่งครัดนั่นก็คือการมี “ระบบติดตามความก้าวหน้า” (Monitoring) ในการทำวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาเอก ซึ่งในแต่ละมหาลัยก็จะมีวิธีการและชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ที่มหาวิทยาลัยยอร์ก (University of York, UK) เรียกระบบนี้ว่า Thesis Advisory Panel Meeting หรือที่นักเรียนปริญญาเอกที่นี่นิยมเรียกกันง่ายๆว่า การประชุม “แท็ป” (TAP) การแท็ปนั้นมหาลัยบังคับให้นักเรียนป.เอกทุกคนต้องมีอย่างน้อยสองครั้งต่อปี โดยมีองค์ประชุมในแต่ละครั้งประกอบไปด้วย Supervisor และ Second supervisor ของนักเรียนปริญญาเอก ทั้งนี้บางภาควิชาอาจจะมีบุคคลที่สามเพิ่มเข้ามา โดยมากมักจะเป็น Chair of Research หรือ Postgraduate Director แต่ที่ภาควิชาการเมือง (Department of Politics) นั้นโดยหลักแล้วจะจัดให้มีการแท็ปโดยอาจารย์แค่สองคนเท่านั้น


ผู้อ่านอาจจะนึกภาพว่าการประชุมแท็ปของนักเรียนปริญญาเอกนั้นจะต้องเกิดขึ้นในห้องประชุมใหญ่ หรือเกิดขึ้นภายใต้บรรยากาศที่เคร่งครัด แต่ในความเป็นจริงแล้ว จากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนก็มักจะได้ประชุมแท็ปในห้องทำงานของอาจารย์ที่ปรึกษานั่นเอง ไม่ได้จำเป็นต้องใช้ห้องประชุมอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด


การประชุมแท็ปนั้นเป็นระบบที่บังคับให้นักเรียนป.เอกต้องมารายงาน (โดยส่งงานเขียนล่วงหน้าก่อนวันประชุม และนำเสนอปากเปล่าในวันประเมิน) ว่าในรอบหกเดือนโดยประมาณที่ผ่านไปนั้นตนได้ทำงานอะไรไปบ้างหรือว่ามีความคืบหน้าในการวิจัยและเขียนงานหรืออื่นๆอย่างไรบ้าง และในอีกหกเดือนข้างหน้าเราจะทำอะไรต่อ และฟังความคิดเห็น/ข้อวิจารณ์จากอาจารย์ทั้งสองท่าน ทั้งนี้ผลการแท็ปแต่ละครั้งจะถูกส่งไปยังมหาลัยเพื่อบันทึกไว้เป็นหลักฐานให้ตรวจสอบได้ว่านักเรียนแต่ละคนนั้นมีความก้าวหน้าอย่างไร (หรือไม่ก้าวหน้าอย่างไร) ระบบนี้มีข้อดีอย่างมากคือเป็นการกระตุ้นนักเรียนปริญญาเอกให้อยู่ on track ที่ถูกต้องในการทำงานวิจัยของตน ใครที่เดินช้าไปก็จะถูกกระตุ้น ใครที่ออกทะเลไปแล้วก็จะถูกตบแต่งให้กลับมาเข้าร่องเข้ารอยได้ แต่ความน่ากลัวของระบบแท็ปก็คือว่ามันสามารถมีอำนาจสั่งยุติการเรียนของนักเรียนปริญญาเอกที่มีผลงานไม่เข้าเป้า และมีอำนาจไม่อนุญาตให้ทำการวิจัยต่อไปได้ ดังนั้นนักเรียนปริญญาเอกที่นี่จึงต้องมีชีวิตอยู่แบบเสียวสันหลัง/ขวัญผวาอย่างน้อยก็ทุก ๆ หกเดือนเมื่อถึงเวลาที่ตนจะต้องเข้าประชุมแท็ปในแต่ละครั้ง


หากมหาวิทยาลัยไทยได้นำระบบ monitor ที่จริงจังเข้ามาใช้กับนักศึกษาปริญญาเอก รวมถึงการกำหนด limit ความยาวของ thesis ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ก็จะช่วยให้นักเรียนป.เอกมีวินัยในการทำงานและเรียนจบได้เร็วมากยิ่งขึ้น แต่การจะทำระบบแบบนั้นได้อาจารย์ที่ปรึกษาเองก็ต้องอุทิศเวลาและพลังกาย/ใจในการอ่านงานและมอบความเห็นให้กับนักศึกษาอย่างมากด้วยเช่นกัน อย่างกรณีของผู้เขียนนั้นในช่วงเวลาหนึ่ง อาจารย์ที่เป็น second supervisor นั้นอยู่ระหว่างการ on leave และไม่ได้อยู่ที่ยอร์ก อาจารย์ท่านก็ยังเสียสละเวลาเดินทางกลับมาประชุมแท็ปให้ หรือบางครั้งที่ไม่สามารถเดินทางกลับมาได้จริง ๆ การจัดแทปที่เป็น video conference ก็เป็นสิ่งที่ทำได้เช่นกัน (บทความเขียนขึ้นในช่วงปี 2010 ก่อนวิกฤติโรคระบาด Covid-19 เกือบหนึ่งทศวรรษ)


ท้ายสุด ทุกครั้งที่มีการประชุมแท็ป second supervisor จะขอให้ supervisor หลักของเราออกไปจากห้อง และเป็นมาตรฐานว่าจะต้องมีการสอบถามเราว่ามีปัญหาหรือข้อคับข้องใจเกี่ยวกับการทำงานของ supervisor ของเราบ้างหรือไม่ หากมีก็ขอให้บอกได้เลยและเค้าจะไม่บอกอาจารย์ของเราโดยตรง แต่จะรายงานไปยังมหาวิทยาลัยให้ ระบบนี้ดีตรงที่ว่าถ้ามีความขัดแย้งกันตั้งแต่ช่วงต้น ๆ ของการเรียน ความขัดแย้งระหว่างนักเรียนกับอาจารย์ที่ปรึกษา ก็มีโอกาสแก้ไขได้ทัน หรืออาจเปลี่ยน supervisor ได้ทัน (หากเป็นไปได้) โดยไม่เสียเวลาในการทำงานวิจัย และไม่เป็นภาระผูกพันไปแบบไม่มีสิ้นสุด ราวกับเจ้ากรรมนายเวร อย่างที่หลายคนได้พบเจอในไทยก็เป็นได้



  • Series บทความในชุด “How to Crack: ไขเคล็ดลับการเรียนระดับบัณฑิตศึกษา” ความยาว 6 ตอน อ่านได้ที่ https://crackersbooks.com/blogs#how-to-crack
  • นอกจากนี้ โปรดคอยติดตามฟัง How to Crack-Podcast ที่ผู้เขียนจะได้มาอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับเนื้อหาทั้ง 6 ตอนในรูปแบบของ Podcast สามารถฟังตอนแรกได้แล้ววันนี้ที่ https://crackersbooks.com/podcasts#รายการ-how-to-crack
  • ในปี 2568 รอพบกับ “หนังสือ” How to Crack ฉบับสมบูรณ์ ที่มีเนื้อหาเพิ่มเติมอีกมากมาย เช่น การเลือกอาจารย์ที่ปรึกษา/การบริหารความสัมพันธ์ระหว่างนักวิจัยกับที่ปรึกษา/การสร้าง Proposal วิจัยที่ดี/การนำต้นฉบับไปตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ฯลฯ โปรดคอยติดตาม



Premium isolated images

พื้นที่ประชาสัมพันธ์

ขอเชิญรับฟัง Podcast จากสำนักพิมพ์ Crackers Books

และรับฟังทุกรายการได้ที่ crackersbooks.com/podcasts

Flat Youtube Icon
เด อนกรกฎาคม 2567 เตร ยมพบก บการประช มว ชาการประจำป เคร อข ายปร ชญาส งคมศาสตร ไทย จ ดโดยหล กส ตรปร ชญาด ษฎ บ ณฑ ต ร ฐศาสตร ภาคว ชาร ฐศาสตร และร ฐประศาสนศาสตร มหาว ทยาล ยนเรศวร ร วมสน บสน นโดย สำน กพ มพ Crackers Books

ติดต่อโฆษณา โทร 0953394114