Blog Series: How to Crack for PhD/Postgrad Studies (3/6)
การทบทวนวรรณกรรมในการทำวิจัยระดับบัณฑิตศึกษา: กลยุทธ์ปริศนาจิ๊กซอว์
รศ.ดร.วัชรพล พุทธรักษา
หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยนเรศวร
บทนำ
การเริ่มกระบวนการทบทวนวรรณกรรมในระดับบัณฑิตศึกษา อาจทำให้คุณรู้สึกเหมือนกับกำลังจ้องมอง “ตัวต่อ” นับพันชิ้น ซึ่งแต่ละชิ้นก็เป็นการแสดงถึงการศึกษา ทฤษฎี หรือมุมมองที่แตกต่างกันในสาขาการวิจัยของคุณ เช่นเดียวกับปริศนาจิ๊กซอว์ที่ต้องใช้ความอดทน กลยุทธ์ และความเข้าใจในภาพรวม บทความที่ 3 ในซีรีส์ How to Crack นี้จะชวนไปสำรวจว่าเราจะสามารถเข้าถึงการทบทวนวรรณกรรมอย่างมีประสิทธิภาพโดยใช้คำอุปมาอุปไมยเรื่องการประกอบตัวต่อได้อย่างไร
ขั้นตอนที่ 1: การเรียงลำดับชิ้นส่วน (Sorting the Pieces)
เช่นเดียวกับที่คุณเริ่มไขปริศนาด้วยการจัดเรียงชิ้นส่วน ให้เริ่มการทบทวนวรรณกรรมโดยทำการ “จัดหมวดหมู่งานวิจัย” (Categorization) นักวิจัยต้องระบุประเด็นหลัก วิธีการ และข้อค้นพบในสาขาวิชาของคุณ การเรียงลำดับเบื้องต้นนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจขอบเขตของความรู้ที่มีอยู่และความเหมาะสมของงานวิจัยของคุณ
[ส่วนประเด็นเชิงเทคนิคในการจัดการหมวดหมู่งานวิจัยนั้น ไม่ได้เป็นประเด็นหลักของบทความนี้ นักวิจัยบางคนอาจใช้เพียงโปรแกรม word ธรรมดาร่วมกับการบริหารจัดการ Folders ให้เรียบร้อยก็สามารถทำได้ หรือหากถนัดในการขีดเขียนมากกว่าการพิมพ์ ก็อาจใช้ Goodnotes บนไอแพดเป็นหลัก และจำแนกสมุดโน้ต รวมถึงจัด Folders ให้เป็นหมวดหมู่ก็ได้เช่นกัน อย่างไรก็ดีผู้เขียนพบว่าหนึ่งในโปรแกรมที่มีประสิทธิภาพดีมากในการช่วยลำดับความคิด การจัดหมวดหมู่ประเด็นของงานวิจัยก็คือโปรแกรม Notion]
ขั้นตอนที่ 2: การประกอบเส้นขอบ (Assembling the Borders)
ในการแก้ปริศนา เรามักจะเริ่มต้นด้วยชิ้นส่วนขอบ (edge pieces) เพื่อวางกรอบของภาพจิ๊กซอว์เสียก่อน ในทำนองเดียวกัน ในการทบทวนวรรณกรรม ให้คุณเริ่มต้นด้วยการกำหนดบริบทกว้างๆ (broad context) ของงานวิจัยของคุณให้ได้ก่อน ระบุทฤษฎีหลักที่คุณนำมาใช้ กลุ่มงานที่เป็นงานสำคัญในสาขาวิชา (landmark studies) ที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาหัวข้อวิจัย และคำถามวิจัยของคุณ การประกอบร่างเส้นขอบให้ได้ก่อนนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจขอบเขตที่แน่ชัดของสาขาการวิจัยของคุณ
ขั้นตอนที่ 3: การระบุส่วนต่างๆ (Identifying Sections)
หลังจากจัดการตัวต่อที่บริเวณขอบเสร็จแล้ว ผู้ชื่นชอบปริศนาจิ๊กซอว์มักจะเล่นเกมในส่วนหรือรูปแบบที่แตกต่างกัน ในการทบทวนวรรณกรรมของคุณ ขั้นตอนนี้เป็นการเจาะลึกลงไปในหัวข้อย่อยหรือวิธีการเฉพาะเจาะจง โดยการมองหา “รูปแบบ” และ “แนวโน้ม” ในการวิจัยให้เจอ และเริ่มปะติดปะต่อว่า 'ส่วน' เล็กๆ ย่อยๆ แต่ละรายการเหล่านี้มีส่วนช่วยเติมเต็มความรู้ในสาขาวิชาของเราโดยรวมอย่างไรบ้าง
ขั้นตอนที่ 4: เติมช่องว่าง (Filling in the Gaps)
การไขปริศนาจิ๊กซอว์มักจะมีส่วนที่ยุ่งยากที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไข นั่นก็คือการจัดการกับ “ช่องว่าง” ที่ยังหาไม่เจอว่าจิ๊กซอว์ชิ้นที่ถูกต้องนั้นอยู่ตรงไหน หากเป็นการทบทวนวรรณกรรม นี่คือ “ช่องว่างขององค์ความรู้” (Gaps of knowledge) สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับนักวิจัยในระดับปริญญาเอกและระดับบัณฑิตศึกษาก็คือ การทำการค้นคว้าอย่างหนักและแหลมคมมากพอที่จะบอกได้ว่า “นี่แหละคือช่องว่างขององค์ความรู้” กระบวนการนี้สำคัญอย่างมาก เพราะเมื่อเราพบช่องว่าง เราพบจุดที่จะเติมจิ๊กซอว์ชิ้นที่ถูกต้องลงไปได้ นั่นหมายความว่าเราได้ทำการเริ่มต้นสร้างเส้นทางเดินเพื่อนำไปสู่สิ่งที่เป็นเป้าหมายปลายทางของการเรียนปริญญาเอกได้แล้ว นั่นก็คือ การอ้างถึง “ความใหม่ในทางวิชาการ” (Original contributions to knowledge)
ด้วยเหตุนี้การทบทวนวรรณกรรมจึงเป็นหน้าที่ทางวิชาการที่สำคัญอย่างมาก และไม่ใช่เป็นเพียงแค่การตัดต่อหรือสรุปความจากงานของผู้อื่นมาเรียงต่อกันเป็นขนมชั้นเท่านั้น แต่การทบทวนวรรณกรรมเป็นการช่วยให้นักวิจัย “ค้นหาช่องว่าง” ที่ต้องเติมจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายเข้าไปให้กับโลกของความรู้ในสาขาวิชาของตน
ขั้นตอนที่ 5: ถอยกลับไปดูภาพใหญ่ (Stepping Back to View the Big Picture)
เช่นเดียวกับที่คุณถอยกลับไปดูปริศนาจิ๊กซอว์เป็นระยะ ๆ ในการทำวิจัยก็เช่นกันบางครั้งเราจำเป็นต้องถอยกลับจากการทบทวนวรรณกรรมของคุณออกมา เพื่อทำการประเมิน “ภาพใหญ่” (Big picture) ที่เกิดจากงานวิจัยที่คุณรวบรวมและสำรวจไว้ แล้วอธิบายให้ได้ว่างานเหล่านั้นเชื่อมต่อกันอย่างไร? กลุ่มงานพวกนั้นบอกเล่าเรื่องราวอะไรเกี่ยวกับสถานภาพขององค์ความรู้ (current state of knowledge) ของสาขาของคุณบ้าง? และอะไรบ้างที่ยังขาดหายไปและรอให้เราเข้าไปเติมเต็มอยู่
ขั้นตอนที่ 6: จิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้าย – การสร้างคุณูปการให้กับงานวิจัย (The Final Pieces – Your Contributions) ในขั้นตอนสุดท้ายของการไขปริศนา ชิ้นส่วนสองสามชิ้นสุดท้ายจะช่วยทำให้ภาพของปริศนาจิ๊กซอว์เสร็จสมบูรณ์ ในการทบทวนวรรณกรรม นี่คือจุดที่คุณจะกลับไปพัฒนาที่คำถามการวิจัยให้แหลมคมยิ่งขึ้น หรือกลับไปสู่ความพยายามสร้างข้อเสนอหลัก (thesis) ในงานวิจัยของคุณ เพื่อแสดงให้เห็นว่าข้อมูลดังกล่าวเหมาะสมกับองค์ความรู้ที่มีอยู่และได้ถมช่องว่างที่เราได้ระบุไว้ได้อย่างไรบ้าง
บทสรุป
การทบทวนวรรณกรรมให้เสร็จสิ้นถือเป็นความสำเร็จที่สำคัญในการเรียนระดับบัณฑิตศึกษา เหมือนกับการไขปริศนาจิ๊กซอว์ที่ซับซ้อน ที่ต้องใช้ความอดทน การคิดเชิงกลยุทธ์ และสายตาที่เฉียบแหลมเพื่อพิจารณาในรายละเอียด แต่ความพึงพอใจในการประกอบชิ้นส่วนทั้งหมดเข้าด้วยกันเพื่อเผยให้เห็นความเข้าใจที่สอดคล้องและครอบคลุมเกี่ยวกับสาขาการวิจัยของคุณนั้น “คุ้มค่ากับความพยายาม” โปรดจำไว้ว่าวรรณกรรมทุกชิ้นที่ได้สำรวจ อ่าน วิพากษ์ ขบคิด ...ล้วนเป็นก้าวหนึ่งที่สำคัญสำหรับขั้นตอนต่อไปในการไขปริศนาทางวิชาการที่ใหญ่ขึ้นต่อไป
(สัปดาห์หน้าพบกับบทความในซีรีส์ How to Crack ตอนที่ 4 ว่าด้วยการสร้าง Argument)