Published by Crackers Books,
11 February 2024
https://crackersbooks.com/blogs-012
ฟัง Podcast ประกอบการอ่านบทความนี้
Blog Series: How to Crack for PhD/Postgrad Studies (2/6)
การตามล่าหาสมบัติที่เรียกว่า “หัวข้อ” ปริญญาเอก
รศ.ดร.วัชรพล พุทธรักษา
หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยนเรศวร
บทนำ
การเริ่มต้นเดินทางบนเส้นทางระดับปริญญาเอกมักจะเริ่มต้นความรู้สึกที่เหมือนกับเป็นการผจญภัยครั้งยิ่งใหญ่ และการผจญภัยแรกสุดนั่นก็คือ “การค้นหาหัวข้อการวิจัยที่เหมาะสม” ขั้นตอนสำคัญนี้ชวนให้นึกถึงการอุปมาอุปไมยกับการตามล่าหาสมบัติ โดยมีรางวัลเป็น “หัวข้อ” ที่ไม่เพียงแต่จะเป็นส่วนของการเติมเต็มความรู้ในสาขาของคุณเท่านั้น แต่ยังเป็นการจุดประกายความหลงใหลและความอยากรู้อยากเห็นของคุณด้วย เช่นเดียวกับการตามล่าหาสมบัติที่จะต้องมีแผน เบาะแส และช่วงเวลาแห่งการค้นพบ กระบวนการค้นหาหัวข้อระดับปริญญาเอกก็คือการเดินทางแห่งการสำรวจ ความเข้าใจ และการเปิดเผย
1: การเตรียมพร้อม
สำหรับการตามล่า ในการตามล่าหาสมบัติใด ๆ ก็ตาม ขั้นตอนแรกสุดก็คือการเตรียมตัวให้พร้อม คุณต้องเตรียมเครื่องมือที่จำเป็นให้พร้อม ได้แก่ ความรู้เกี่ยวกับสถานภาพความรู้ในเรื่องที่จะวิจัยในภาพรวม (Knowlede landscape) (จะกล่าวถึงหัวข้อนี้ในบทความถัดไป) ความเข้าใจเกี่ยวกับช่องว่างของความรู้ (Gap of knowledge) ในสาขาวิชานั้น ๆ และข้อมูลเชิงลึกจากอาจารย์ที่ปรึกษา รวมถึงจากการค้นคว้าผ่านวรรณกรรมต่าง ๆ ในทำนองเดียวกัน เมื่อเริ่มต้นการวิจัยในระดับปริญญาเอก คำแนะนำก็คือ “จงดำดิ่งลงไป” ในสาขาวิชาที่คุณสนใจ จงอ่านอย่างกว้างขวาง จงเข้าร่วมสัมมนาต่าง ๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับคุณ และโปรดมีส่วนร่วมในการอภิปรายแลกเปลี่ยนความเห็นกับเพื่อนคนอื่น ๆ (ทั้งในและนอกสาขาวิชาของเรา) เพื่อทำความเข้าใจว่าความสนใจทางวิชาการของคุณแท้จริงแล้วคือประเด็นใดกันแน่ และแนวโน้มที่ความรู้ใหม่จะถูกสร้างขึ้นนั้นพอจะเป็นไปได้หรือไม่ และจะมีประโยชน์อย่างไรกับโลกวิชาการ
2: การทำแผนที่กำหนดอาณาเขต
แผนที่ขุมทรัพย์จะนำทางผู้ค้นหาเพื่อไปยังตำแหน่งของสมบัติที่ถูกซ่อนอยู่ แต่สำหรับการเลือกหัวข้อวิจัยระดับปริญญาเอก “แผนที่” ณ ที่นี้คือการสร้าง “ความเข้าใจ” ของคุณในสาขาวิชาที่เรียน โดยเริ่มจากการระบุ/นิยามให้ได้ก่อนว่า “พื้นที่ทางวิชาการ” ที่ได้รับการสำรวจอย่างละเอียดแล้วนั้นเป็นอย่างไร มีรูปร่างหน้าตาอย่างไร มีใครสำรวจไว้แล้วบ้าง และสำรวจมาแล้วอย่างไร รวมทั้งคุณยังต้องระบุ/นิยามให้ได้ว่าแล้วพื้นที่ที่ยังคงลึกลับหรือยังไม่ได้ถูกวิจัยล่ะ จะมีรูปร่างหน้าตาแบบไหน การกำหนดอาณาเขตว่าสิ่งใดที่รู้แล้ว และสิ่งใดบ้างที่ยังไม่รู้เป็นจุดตั้งต้นที่จะช่วยให้นักวิจัย “คลำทาง” ในการเดินทางไปสู่ขุมทรัพย์ของตนเองได้ง่ายมากขึ้น
3: การติดตามเบาะแส
ในการตามล่าหาสมบัติ แต่ละเบาะแสหรือร่องรอยที่ค่อย ๆ รวบรวมมานั้นจะพาคุณเข้าใกล้สมบัติมากขึ้น สำหรับผู้เรียนระดับปริญญาเอก เบาะแส/ร่องรอยเหล่านี้เกิดขึ้นในรูปแบบของคำถามที่เกิดขึ้นจากการวิจัยที่มีอยู่เดิม ช่องว่างในวรรณกรรมต่าง ๆ หรือปัญหาในโลกแห่งความเป็นจริงที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข ความอยากรู้อยากเห็นส่วนตัว ตลอดจนทัศนคติในการตั้งคำถามของคุณล้วนทำงานเป็น “เข็มทิศ” ที่จะช่วยนำคุณผ่านเขาวงกตแห่งความรู้(และความไม่รู้) ไปสู่ “คำถามการวิจัย” ที่อาจเกิดขึ้นได้ในที่สุด
4: การเผชิญหน้ากับทางตัน
เช่นเดียวกับที่นักล่าสมบัติบางครั้งก็ไล่ติดตามเบาะแสต่าง ๆ แต่สุดท้ายได้นำไปสู่ทางตัน นักวิจัยปริญญาเอกอาจพบว่าแนวคิดบางอย่างที่เราคิดว่าดี กลับเป็นไปไม่ได้ที่จะนำมาศึกษา หรือประเด็นที่จะศึกษากลับได้ถูกผู้อื่นเหยียบย่ำไปแล้ว กระบวนการเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการออกเดินทางบนเส้นทางสายปริญญาเอก สิ่งสำคัญที่คุณต้องยึดมั่นก็คือ แค่ต้องเริ่มทำการประเมินทิศทางที่จะเดินใหม่ ทำการปรึกษากับอาจารย์ที่ปรึกษาอย่างใกล้ชิด และกำหนดทิศทางการเดินเสียใหม่หากจำเป็น โดยนำเป้าหมายปลายทางคือทรัพย์สมบัติมหาศาลมาเป็นแรงจูงใจในการฝ่าทางตันไปให้ได้
5: ช่วงเวลาแห่งการค้นพบ
ส่วนที่น่าตื่นเต้นที่สุดของการตามล่าหาสมบัติก็คือช่วงเวลาแห่งการค้นพบ! สำหรับนักศึกษาปริญญาเอก นี่ก็คือช่วงเวลาที่คุณนั้น “เริ่มสร้างคำถามหลักของการวิจัยที่มีเอกลักษณ์และมีความเป็นไปได้ขึ้นมา” ซึ่งเป็นคำถามที่จะก่อให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ ในสาขาวิชาของคุณ ช่วงเวลาแห่งการค้นพบนี้บางทีก็อาจเกิดขึ้นระหว่างการสนทนาที่ไม่คาดคิด ขณะอ่านบทความที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกัน หรือแม้แต่ในขณะที่กำลังไตร่ตรองถึงปัญหาในช่วงหยุดทำงานของคุณ ดังนั้นเตรียมอุปกรณ์การเขียนหรือคอยจดโน้ตในโทรศัพท์มือถือเอาไว้เสมอ เพราะบางครั้งช่วงเวลาที่ความคิดตกผลึกก็อาจโผล่มาได้ทุกเมื่อ
6: ตรวจทานการค้นหาของคุณ
การค้นหาสมบัติพบแล้วอาจสำคัญก็จริงแต่ยังไม่ใช่จุดสิ้นสุด คุณต้องแน่ใจด้วยว่ามันเป็นสมบัติของจริง ในแง่วิชาการ นี่หมายถึงการตรวจทานเกี่ยวกับหัวข้อของคุณ พูดคุยกับอาจารย์ที่ปรึกษาของคุณ เช็คความเกี่ยวข้องและขอบเขตของตนกับงานของคนอื่น ๆ ที่ตีพิมพ์ไปแล้ว และประเมินว่าตัวเราเองจะสามารถ “รักษาระดับความสนใจ” และความพยายามของคุณเอาไว้ได้ในช่วงเวลาอีกหลายปีข้างหน้าที่รออยู่ตลอดการเรียนของคุณ
บทสรุป
การค้นหาหัวข้อวิจัยปริญญาเอกของคุณ เป็นการเดินทางที่คล้ายกับการตามล่าหาสมบัติ มันต้องใช้ความอยากรู้อยากเห็น ความขยัน ความอุตสาหะ และบางครั้งความกล้าหาญที่จะย้อนรอย คิดนอกกรอบและสร้างเส้นทางเดินแบบใหม่ขึ้นมา “สมบัติ” ในกรณีนี้คือ “คำถามวิจัย” ที่ไม่เพียงแต่มีส่วนช่วยในการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ทางวิชาการเท่านั้น แต่ยังนำมาซึ่งความพึงพอใจและการเติบโตส่วนบุคคลอีกด้วย โปรดจำไว้ว่า ทุกขั้นตอนของภารกิจนี้คือประสบการณ์การเรียนรู้ ซึ่งมุ่งไปสู่การค้นพบสมบัติทางวิชาการของคุณเองในท้ายที่สุด
(สัปดาห์หน้าพบกับบทความลำดับที่ 3 ของซีรีส์ How to Crack ว่าด้วยเรื่อง “การทบทวนวรรณกรรม”)
พื้นที่ประชาสัมพันธ์
เตรียมพบกับหนังสือภาพสำหรับเด็กเล่มใหม่จาก Crackers Books
/kids
The Adventure Series
สนใจโฆษณา ติดต่อ 0953394114