Published by Crackers Books,

1 september 2024

https://crackersbooks.com/blogs

SOFT POWER กับแนวคิดเรื่องอุดมการณ์ (Ideology) ตามทัศนะของหลุยส์ อัลธูแซร์



กัญญารัตน์ ประภัย[1] และ กมเลศ โพธิกนิษฐ[2]

Kanyarat Praphai and Kammales Photikanit



[1] นิสิตปริญญาตรี สาขาวิชาพัฒนาสังคม, คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร (Undergraduate in the Social Development Program, Faculty of ​Social Sciences, Naresuan University) Email: kanyaratpr64@nu.ac.th

[2] ผู้ช่วยศาสตราจารย์, ดร., คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร (Assistant Professor, Dr., Faculty of Social Sciences, Naresuan University) ​Email:kammalesp@nu.ac.th



กริ่นนำ

จากฐานคิดเรื่อง SOFT POWER ของ โจเซฟ เอส. เนย์ จูเนียร์ ที่ได้ให้นิยามความหมายของคำว่า “Soft Power” คือ ความสามารถในการดึงดูด ​ชักจูง หรืออำนาจในการโน้มน้าว ที่สร้างการมีส่วนร่วมด้วยความยินยอมต่อผู้อื่น โดยปราศจากการข่มขู่หรือบีบบังคับใด ๆ โดยใช้กลยุทธ์ที่มุ่งเน้น​การสร้างความสัมพันธ์ที่ดี และการแสดงออกถึงความใส่ใจต่อรัฐคู่สัมพันธ์ จนสามารถกำหนดพฤติกรรม ให้เกิดการคล้อยตาม และยินยอมทำตาม​ความต้องการของผู้ใช้อำนาจนั้น (สุภาพิชญ์ ถิระวัฒน์, 2565; กมเลศ โพธิกนิษฐ, 2567) จึงทำให้ผู้เขียนได้นึกย้อนไปถึงแนวคิดหนึ่งของนัก​ปรัชญาสกุลความคิดแบบมาร์กซ์สายโครงสร้าง (Structural Marxism) คนสำคัญชาวฝรั่งเศสที่ชื่อ “หลุยส์ อัลธูแซร์” (Louis Althusser) ซึ่งผล​งานของเขานั้นมีอิทธิพลทางความคิดต่อนักคิดสกุลความคิดแบบมาร์กซ์ (Marxism) และสกุลความคิดหลังมาร์กซิสม์ (Post-Marxism) อย่างแพร่​หลาย


โดยหลุยส์ อัลธูแซร์ ได้เสนอแนวคิดเรื่อง “อุดมการณ์” (Ideology) ในงานเขียนชื่อ Lenin and Philosophy and Other Essays ในปี ค.ศ. 1971 ​และได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษโดย Ben Brewster ในปี ค.ศ. 2001 โดยเขาเสนอว่า อุดมการณ์ คือ ระบบของความคิด และเป็นสิ่งก่อสร้างใน​จินตนาการของ'การเป็นตัวแทน' ซึ่งครอบงำจิตใจของมนุษย์หรือกลุ่มทางสังคม อุดมการณ์ถูกมองว่าเป็นภาพลวงตาอันบริสุทธิ์ของความสัมพันธ์​ในจินตนาการของแต่ละบุคคลต่อสภาพความเป็นอยู่ที่แท้จริง โดยถูกสร้างขึ้นเพื่อผลิตซ้ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ของการผลิตภายใต้ “โล่” ​(Shield) ที่จัดทำโดยกลไกของรัฐที่กดขี่ ด้วยการผลิตสร้างอุดมการณ์ของชนชั้นปกครองซึ่งกุมอำนาจรัฐ ดังนั้น อุดมการณ์จึงไม่ใช่ระบบของความ​สัมพันธ์ที่แท้จริงซึ่งควบคุมการดำรงอยู่ของปัจเจกบุคคล เพื่อย้ำเตือนว่าตนเองเป็นใครและต้องขึ้นตรงกับใคร โดยมีกลไกรัฐที่กดขี่ (Repressive ​State Apparatus: RSA) และกลไกเชิงอุดมการณ์ของรัฐ (Ideological Stat Apparatus: ISA) ทำหน้าที่สำคัญในการกำกับควบคุมการปฏิบัติ​การของอุดมการณ์นั้นให้เกิดขึ้น ส่งต่อ ฝั่งแน่น และสืบทอดต่อไปเรื่อย ๆ เสมือนเป็นเรื่องปกติ (Althusser, 2001, pp. 150, 158-159, 162, 165)


ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาความสอดคล้อง ความเชื่อมโยงระหว่างแนวคิด SOFT POWER ของ โจเซฟ เอส. เนย์ จูเนียร์ และแนวคิดเรื่อง “อุดมการณ์” ​(Ideology) ของหลุยส์ อัลธูแซร์ จะพบว่า ทั้งสองแนวคิดนั้นมีจุดร่วมที่น่าสนใจ บนฐานคิดที่ว่าด้วย SOFT POWER ในรูปของการจัดวาง​อุดมการณ์ ที่มีลักษณะสำคัญของการแสดงความสามารถในการโน้มน้าว ครอบงำความคิด ความเชื่อ และกำหนดกรอบพฤติกรรมของคนในสังคม​ให้เป็นไปตามที่ผู้ติดตั้งชุดอุดมการณ์หลักนั้นต้องการ อีกทั้งยังทำหน้าที่ในการสืบทอดชุดความคิดและความเชื่อที่มีผลต่อระบอบสังคม โดยที่ผู้ถูก​ครอบงำนั้นไม่รู้สึกว่ากำลังถูกครอบงำ หากแต่ถูกทำให้รับรู้เสมือนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งปกติที่เกิดขึ้นราวกับเป็นเรื่องธรรมชาติ


ดังนั้น บทความนี้จึงมุ่งวิเคราะห์และนำเสนอให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างกรอบแนวคิดเชิงทฤษฎีที่ว่าด้วย SOFT POWER ของ โจเซฟ เอส. ​เนย์ จูเนียร์ กับแนวคิดเรื่องอุดมการณ์ (Ideology) ของหลุยส์ อัลธูแซร์ ที่ว่าด้วยความสามารถในชักจูงใจ ครองงำความคิด หรือกำหนดกรอบ​พฤติกรรมของผู้อื่น ให้ยินยอมพร้อมใจ รวมถึงมีพฤติกรรมที่เป็นไปตามที่ผู้มีอำนาจในฐานะผู้ผลิตสร้างชุดอุดมการณ์หลักนั้นต้องการ


จากฐานคิดเรื่อง SOFT POWER ของ โจเซฟ เอส. เนย์ จูเนียร์ สู่แนวคิดเรื่องอุดมการณ์ ของหลุยส์ อัลธูแซร์

โจเซฟ เอส. เนย์ จูเนียร์ ศาสตราจารย์สายรัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด ได้ให้นิยามว่า “SOFT POWER” คือ ​ความสามารถในการโน้มน้าว ชักจูง ที่ทำให้ผู้อื่นต้องการ และยอมรับในสิ่งที่คุณต้องการ โดยสิ่งสำคัญที่สุด คือ การใช้กลยุทธ์ที่มุ่งเน้นการสร้าง​ความสัมพันธ์ที่ดีเพื่อดึงดูดความต้องการ และการแสดงออกถึงความใส่ใจต่อผู้อื่น ให้เกิดการยอมรับ และคล้อยตามด้วยความเต็มใจ จนสามารถ​เปลี่ยนพฤติกรรม ​ให้ยินยอมทำตามความต้องการของผู้ใช้อำนาจนั้นๆ ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวจะแตกต่างจาก HARD POWER ที่ว่าด้วยการใช้อำนาจ​ทางการทหารที่เข้มแข็ง และใช้การบังคับ ขู่เข็ญ รวมถึงการใช้พลังอำนาจทางเศรษฐกิจ หรือการแทรกแซงทางเศรษฐกิจ (Military force or ​economic sanctions) (สุภาพิชญ์ ถิระวัฒน์, 2565; กมเลศ พธิกนิษฐ, 2567)


เมื่อพิจารณานิยามความหมายของคำว่า “SOFT POWER” ตามที่ โจเซฟ เอส. เนย์ จูเนียร์ ได้กล่าวไว้ในข้างต้น พอจะสรุปได้ว่า Soft Power นั้น ​ถือเป็น ความสามารถ และกลยุทธ์ในการครอบงำทางความคิด ความเชื่อ ที่มีผลต่อการกำหนดพฤติกรรมของบุคคลให้เป็นไปตามที่ผู้ใช้อำนาจนั้น​ต้องการ โดยที่ผู้ถูกครอบงำนั้นไม่รู้สึกว่ากำลังถูกครอบงำ หากแต่ถูกทำให้รับรู้เสมือนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งปกติที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ

ในขณะที่ หลุยส์ อัลธูแซร์ มาร์กซิสม์สายโครงสร้างนิยมชาวฝรั่งเศส ได้เสนอแนวคิดเรื่อง อุดมการณ์ (Ideology) กลไก (Apparels) และองค์​ประธาน (Subject) ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของแนวคิดของเขา โดยเขาได้เสนอว่า “อุดมการณ์” นั้นมีความหมายทั้งในเชิงนามธรรม และรูปธรรม ​โดยที่ความหมายในเชิงนามธรรมนั้น หมายถึง สิ่งที่เป็นตัวแทนความสัมพันธ์เชิงจินตนาการของปัจเจกบุคคลซึ่งสามารถสร้างภาพลวง (Illusion)

ที่ไม่สอดคล้องกับสภาพการดำรงชีวิตที่แท้จริงของพวกเขา (Althusser, 2001, p. 185; ชัยอนันต์ สมุทวณิช, 2530, น. 51)


ตามนัยยนี้ อุดมการณ์ จึงมีหน้าที่ในการประสานสังคมเข้าด้วยกันโดยการเชื่อมความสัมพันธ์ ระหว่างปัจเจกบุคคลกับการงานที่ถูกกำหนดไว้แล้ว​โดยโครงสร้างทางสังคม ในขณะที่ ความหมายในเชิงรูปธรรมนั้น หมายถึง อุดมการณ์ที่ดำรงอยู่ในเชิงวัตถุ หรือภาคปฏิบัติการที่จับต้องได้ และถูก​บงการด้วยตัวพิธีกรรมโดยทำหน้าที่เสมือนคำสั่งโดยอัตโนมัติ เพื่อให้ผู้อยู่ภายใต้อุดมการณ์นั้นๆ มีพฤติกรรม หรือการปฏิบัติอย่างอัตโนมัติ เมื่อ​เห็นวัตถุ หรืออยู่ในพิธีกรรมนั้นๆ (ฐานิดา บุญวรรโณ, 2016, น. 5-6)


อกจากนี้ หน้าที่ที่สำคัญของอุดมการณ์ ยังมุ่งเน้นไปที่การสืบทอดระบอบสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง เพราะเป็นกรอบที่กำหนดพฤติกรรมและ​ความเชื่อของคนในสังคม โดยที่ประชาชนซึ่งยอมตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอุดมการณ์นั้น ไม่รู้ว่าอุดมการณ์นั้นโดยเนื้อแท้แล้วเป็นแทนของอะไร ​ปัจเจกบุคคลจึงไม่ได้มีเจตนารมณ์ที่เป็นอิสระ หากตกอยู่ภายใต้อำนาจของอุดมการณ์ (ชัยอนันต์ สมุทวณิช, 2530)


ดังนั้นจะเห็นได้ว่า อุดมการณ์ตามแนวคิดของหลุยส์ อัลแซร์ คือ กรอบความคิดที่แฝงฝังอยู่ในความเชื่อ ซึ่งมีผลต่อพฤติกรรมของคนในสังคม ที่ผู้​ติดตั้งชุดอุดมการณ์หลักนั้น หรือผู้ที่ต้องการอำนาจในการครอบงำความคิด ได้ผลิตสร้างขึ้นมาเพื่อสืบทอดกรอบความคิดนั้นให้ดำรงต่อไปเรื่อย ๆ ​เสมือนเป็นเรื่องปกติ ที่กระทำผ่านการปฏิบัติงานของกลไกทางอุดมการณ์ และเมื่อพิจารณากรอบแนวคิดเรื่องอุดมการณ์ของหลุยส์ อัลธูแซร์ เข้า​กับนิยามความหมายของคำว่า “SOFT POWER” ของโจเซฟ เอส. เนย์ จูเนียร์ ก็สามารถเห็นถึงจุดร่วมระหว่างสองแนวคิดดังกล่าวได้ในลักษณะ​ของอุดมการณ์ที่ถือเป็น SOFT POWER ลักษณะหนึ่ง ซึ่งมีเป้าหมายหลักเพื่อทำหน้าที่ในการสืบทอดชุดความคิดและความเชื่อที่มีผลต่อระบอบ​สังคม เศรษฐกิจ และการเมือง อีกทั้งยังช่วยกำหนดพฤติกรรมและความเชื่อของคนในสังคมให้เป็นไปตามที่ผู้ติดตั้งชุดอุดมการณ์หลักนั้นต้องการ ​และจะได้อำนาจแห่งการครอบงำแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยที่ประชาชนในฐานะผู้รับอุดมการณ์นั้นเกิดความรู้สึกเสมือนเป็นสิ่งปกติที่เกิดขึ้น​ราวกับเป็นธรรมชาติ


ภาคปฏิบัติการของอุดมการณ์กับพันธกิจหลักในการผลิตซ้ำเพื่อสืบทอดอุดมการณ์

อัลธูแซร์ได้อธิบายว่าอุดมการณ์ไม่ได้เกิดขึ้นมาลอย ๆ หากแต่ต้องมีภาคปฏิบัติการ (Practices)

ที่จะทำให้อุดมการณ์ต่าง ๆ นั้นดำรงอยู่ ได้รับการผลิตซ้ำ และแทรกซึมในชีวิตประจำวันของผู้คน ทั้งนี้สามารถสรุปภาคปฏิบัติการของอุดมการณ์ ​(Ideological practices) ได้ดังนี้

1. การทำให้ดูราวกับเป็นธรรมชาติ (Naturalization) อัลธูแซร์ได้อธิบายว่าภาคปฏิบัติการของอุดมการณ์ไม่ได้อยู่ในระดับจิตสำนึกแบบง่ายๆ แต่ที่​สำคัญอุดมการณ์ทำงานลึกลงไปในจิตไร้สำนึก (Unconscious) หรือทำให้เราไม่ได้ตระหนักถึงและรู้สึกราวกับว่ากระบวนการนั้นเกิดขึ้นเองตาม​ธรรมชาติหรือเป็นไปโดยปริยาย (Naturalized/taken-for-granted) โดยผ่านกลไกต่างๆ

2. การผสมกันระหว่างความจริงกับจินตนาการ (Real-and-Seemingness) ในชีวิตประจำวันของเรานั้น มักจะเชื่อกันว่า มีการแยกกันระหว่าง​สองโลกคือ “โลกแห่งความจริง” (The world of reality) กับ “โลกแห่งจินตนาการ” (The world of imagination) แต่อัลธูแซร์อธิบายว่า แทนที่จะ​แยกระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องลวงออกจากกัน การทำงานของอุดมการณ์จะใช้วิธีการผสมเรื่องจริงๆ กับลวงๆ จนไม่สามารถแยกออกจากกันได้เลย

ซึ่งวิธีการผสมผสานจริงลวงดังกล่าวนี้ จะเกี่ยวโยงกับโลกของการสื่อสารเป็นอย่างมาก ทั้งนี้เพราะด้านหนึ่งสิ่งที่เราสัมผัสผ่านสื่อถือเป็นโลกแห่ง​จินตนาการ แต่ในอีกด้านหนึ่งของเราในฐานะผู้รับสาร ก็มีโลกแห่งความจริงบางอย่างอยู่ล้อมรอบตัวของเรา แม้ในขณะที่กำลังเปิดรับสื่ออยู่ก็ตาม

3. การสร้างชุดความสัมพันธ์ (Structuralist Set of Relations) อุดมการณ์จะทำงานผ่านชุดโครงสร้างความสัมพันธ์ ที่ลำดับแรกจะมีการแบ่งขั้ว​ความหมายออกเป็นความสัมพันธ์แบบคู่ตรงข้าม (Binary Oppositions) และลำดับถัดมาก็จะมีการกำหนดชั้นของคุณค่า (Hierarchy of Values) ​ลงไว้ในขั้วความสัมพันธ์นั้น

4. การผลิตซ้ำเพื่อสืบทอดอุดมการณ์ (Reproduction of Ideology) อัลธูแซร์เชื่อว่าแม้แต่ในมิติจิตสำนึกและความคิดเองก็ต้องมีการทำงานที่​ผลิตซ้ำเพื่อสืบทอดอุดมการณ์ (Ideological Reproduction) โดยการผลิตซ้ำเป็นกระบวนการต่อเนื่องของการครองอำนาจนำ (Hegemony) ทั้งนี้​เนื่องจากกลุ่มชนชั้นใดจะครองอำนาจนำได้นั้น จะต้องสร้างระบบคิดที่เอื้ออำนวยให้ประโยชน์กับกลุ่มตน และจะต้องมีวิธีการถ่ายทอดความคิดนี้​ให้แก่กลุ่มอื่นๆ ด้วยและการถ่ายทอดระบบคิดนี้เป็นตัวการทำให้ระบบคิดที่ผลิตขึ้นมายังยืน ซึ่งทำให้กลุ่มหรือชนชั้นผู้ปกครองสามารถรักษา​อำนาจเอาไว้ได้ (Althusser, 2014, p. 197; กาญจนา แก้วเทพ, 2539, หน้า 127)


จึงสรุปได้ว่าอุดมการณ์ไม่ได้เกิดขึ้นมาเอง และไม่ได้อยู่อย่างลอย ๆ แต่มันมาพร้อมกับการปฏิบัติการที่จะทำให้อุดมการณ์ต่างๆ นั้นดำรงอยู่ ได้รับ​การผลิตซ้ำ และแทรกซึมในชีวิตประจำวันของผู้คนเสมือนเป็นเรื่องปกติราวกับเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ โดยมีพันธกิจหลักที่ถูกกระทำผ่านภาค​ปฏิบัติการของอุดมการณ์นั้นที่มุ่งเน้นการทำให้อุดมการณ์ที่ผู้ติดตั้งชุดอุดมการณ์นั้นส่งผลต่อการครอบงำทางความคิดในระดับปัจเจกของผู้อยู่​ภายใต้ชุดอุดมการณ์ให้ดูราวกับเป็นธรรมชาติ ผ่านการผสมกันระหว่างความจริงกับจินตนาการ โดยการสร้างชุดความสัมพันธ์ของคุณค่า ความ​หมาย และบทบาทหน้าที่ของผู้อยู่ภายใต้ชุดอุดมการณ์ เพื่อประโยชน์ในการผลิตซ้ำและเพื่อสืบทอดอุดมการณ์ของผู้ติดตั้งชุดอุดมการณ์ให้มี​อำนาจครอบงำ และมีอำนาจเหนือกว่าผู้อยู่ภายใต้ชุดอุดมการณ์นั้นอย่างต่อเนื่อง


กลไกขับเคลื่อนของภาคปฏิบัติการของอุดมการณ์เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการผลิตซ้ำเพื่อสืบทอดอุดมการณ์

อัลธูแซร์ได้อธิบายไว้ว่า ในการผลิตซ้ำความสัมพันธ์ทางสังคมนั้น วิถีที่จะทำให้อุดมการณ์ธำรงอยู่ได้ ต้องกระทำผ่านเครื่องมือที่ใช้ติดตั้งระบบวิธี​คิด หรือที่เรียกว่า กลไกทางสังคม ซึ่งอัลธูแซร์ได้จำแนกออกเป็น

2 กลไกหลัก ดังนี้


1. กลไกด้านการปราบปรามของรัฐ (Repressive State Apparatus: RSA) ซึ่งคำว่า Repressive นี้หมายความว่าเป็นกลไกที่มีหน้าที่ต่อความ​รุนแรง (ทางกายภาพ) ความหมายตามนัยยนี้จึงหมายถึง กลไกที่เกี่ยวกับการใช้กำลัง/ความรุนแรง/การบังคับกดขี่ จึงปรากฏให้เห็นในรูปของการ​ทำงานของกองทัพ ตำรวจ ศาล ค่ายกักกัน คุก และกฎหมาย เป็นต้น


2. กลไกด้านอุดมการณ์ของรัฐ (Ideological State Apparatus: ISA) หมายถึงกลไกสังคมที่ทำงานในเชิงอุดมการณ์หรือกำหนดกรอบพฤติกรรม​ความเชื่อของคนในสังคมให้รู้สึกเต็มใจที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบสังคม มีหน้าที่หลักในการเผยแพร่อุดมการณ์นั้นให้ดำรงอยู่ ได้รับการผลิต​ซ้ำ และแทรกซึมในชีวิตประจำวันของผู้คนผู้ซึ่งอยู่ภายใต้ชุดอุดมการณ์นั้น ๆ ปรากฏให้เห็นในรูปของศาสนา โรงเรียน ครอบครัว การเมือง ​วัฒนธรรม สื่อมวลชน และบทเพลง เป็นต้น (Althusser, 2001, pp. 137, 143; ฐานิดา บุญวรรโณ, 2016, น. 4)


ทั้งนี้ เมื่อพิจารณากลยุทธ์เพื่อขับเคลื่อน “SOFT POWER” ตามแนวคิดของโจเซฟ เอส. เนย์ จูเนียร์ นั้น พบว่า กลยุทธ์ดังกล่าวมุ่งเน้นไปที่การสร้าง​อิทธิพลและความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างรัฐและประเทศอื่น ๆ โดยมุ่งหวังที่จะทำให้ประเทศหนึ่งมีอิทธิพลต่ออีกประเทศหนึ่งได้ผ่านทางการดึงดูดและ​โน้มน้าวใจแทนการบังคับใช้กำลังหรืออำนาจทางทหาร โดยมุ่งหวังให้การสร้างความเชื่อถือและการดึงดูดใจกับเป้าหมายและค่านิยมของตนผ่าน​การดึงดูดใจและการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี แทนที่จะใช้กำลังหรือแรงกดดัน ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญประการหนึ่งในการบรรลุเป้าหมายของ​การเมืองระหว่างประเทศ (กมเลศ โพธิกนิษฐ, 2567)


และเมื่อพิจารณากลยุทธ์เพื่อขับเคลื่อน “SOFT POWER” ตามแนวคิดของโจเซฟ เอส. เนย์ จูเนียร์

เข้ากับแนวคิดเรื่องกลไกขับเคลื่อนของภาคปฏิบัติการของอุดมการณ์ของอัลธูแซร์ จะพบจุดร่วมที่สำคัญระหว่างสองแนวคิดในฐานะ SOFT ​POWER ที่ว่าด้วยการจูงใจ และครอบงำทางความคิด ที่กระทำผ่านกลไกของภาคปฏิบัติการของอุดมการณ์ ภายใต้การติดตั้งชุดอุดมการณ์หลัก​ร่วมกัน (Over-determination) เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการผลิตซ้ำเพื่อสืบทอดชุดอุดมการณ์หลักนั้น ๆ ซึ่งทั้งสองแนวคิดนั้นมุ่งหน้าไปสู่การ​ทำงานร่วมกัน


เพื่อบรรลุเป้าหมายในการติดตั้งกรอบความคิด ความเชื่อ และพฤติกรรมอันพึงประสงค์ให้กับทุกคนในระดับปัจเจกให้ได้รับรู้และเข้าใจไปใน​ทิศทางเดียวกันจากรุ่นสู่รุ่น


ผลที่เกิดขึ้นจากภาคปฏิบัติการของอุดมการณ์: องค์ประธานหลัก (Subject) ที่ถือครอบอำนาจครอบงำ กับองค์ประธานรอง (subject) ผู้​เชื่องหงอย


สำหรับอัลธูแซร์แล้ว เรื่องของอุดมการณ์ (Ideology) กลไก (Apparatus) และองค์ประธาน/ตัวตน (Subject) นั้นเป็นสามสิ่งที่ไม่สามารถแยกออก​จากกันและกันได้ ซึ่งผลที่เกิดขึ้นจากภาคปฏิบัติการของอุดมการณ์นั้นจะสร้างชนชั้นให้เกิดขึ้น ภายใต้ความสัมพันธ์ทางอำนาจ และอุดมการณ์ ​หรือที่อัลธูแซร์ เรียกว่า โครงสร้างแบบกระจกสองชั้นของอุดมการณ์ (The Duplicate Mirror-structure of Ideology) ใน 2 ประเภท ดังนี้

1. องค์ประธาน(หลัก) (Subject) คือ ผู้ถือครองอำนาจครอบงำ ในฐานะผู้ผลิตสร้างชุดอุดมการณ์หลัก

2. องค์ประธาน(รอง) (subjects) คือ ผู้ที่ซึมซับรับเอาชุดอุดมการณ์หลักไป โดยไม่ตั้งคำถาม หรือรับและนำไปปฏิบัติโดยดุษฎี เสมือนว่าตนเองนั้น​เป็นประธานหลัก (Subject) (Althusser, 2001, pp. 170-171)


ทั้งนี้ ความเป็นองค์ประธานนั้น ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หากแต่เกิดขึ้นได้ภายใต้การปฏิสัมพันธ์กับสังคมรอบข้าง โดยที่สังคมนั้นมีบทบาท​ในการกำหนดตัวตนของปัจเจก ผ่านการผลิตสร้างชุดอุดมการณ์หลักโดยองค์ประธาน(หลัก) (Subject) ซึ่งทำให้เกิดการร้องเรียกเพื่อกำหนดตัว​ตน (Interpellation) ขององค์ประธาน(รอง) (subjects) ให้ต้องอ้างอิงหรือขึ้นตรงต่อองค์ประธาน(หลัก) (Subject) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเป็น ​การทำให้ตัวตนเป็นข้าทาส (Assujettissement) (ฐานิดา บุญวรรโณ, 2016, น. 6)


ดังนั้น SOFT POWER ในฐานะชุดอุดมการณ์หลักที่ถูกผลิตสร้างขึ้นโดยองค์ประธาน(หลัก) (Subject)จะทำหน้าที่ในการกล่อมเกลา ชักจูง และ​ครอบงำทางความคิด ส่งผลให้องค์ประธาน(รอง) (subjects) รับเอาชุดอุดมการณ์หลักนั้นมาโดยคิดเองว่าตนเองคือองค์ประธาน(หลัก) (Subject) ​ซึ่งในความเป็นจริงแล้วองค์ประธาน(รอง) (subjects) นั้นได้ถูกติดตั้งชุดอุดมการณ์หลักนั้นไว้แล้ว และรับมาคิดต่อ เชื่อ และนำไปปฏิบัติต่อเสมือน​ว่าเป็นสิ่งที่ตนเองคิดขึ้นมาเองได้ หรือเสมือนว่าตนเองนั้นคือองค์ประธาน(หลัก) (Subject)


ทั้งนี้ หากปัจเจกบุคคลได้รับการร้องเรียกจากองค์ประธาน(หลัก) (Subject) ให้เข้าสู่การเป็นองค์ประธาน(รอง) (subjects) และยินยอมพร้อมตาม ​หรือสยบยอม ต่อชุดอุดมการณ์หลักแล้วนั้น ผลที่เกิดขึ้นก็จะทำให้องค์ประธาน(รอง) (subjects) ผู้เชื่องหงอยเหล่านั้น ได้รับการเรียกขานใหม่ว่า​เป็น องค์ประธาน(รอง)ที่ดี (Good subjects) หากแต่ว่าองค์ประธาน(รอง) (subjects) นั้นท้าทาย ไม่เชื่อฟัง หรือตั้งคำถามต่อชุดอุดมการณ์หลัก​แล้วนั้น ผลที่เกิดขึ้นก็จะทำให้องค์ประธาน(รอง) (subjects) เหล่านั้นกลายเป็น องค์ประธาน(รอง)ที่เลว (Bad subjects) ซึ่งท้ายที่สุดก็จะต้องถูก​องค์ประธาน(หลัก) (Subject) ใช้กลไกด้านการปราบปรามของรัฐ (Repressive State Apparatus: RSA) เข้าจัดการ (Althusser, 2014, p. 203)


บทสรุป

จากฐานคิด เรื่อง SOFT POWER ของ โจเซฟ เอส. เนย์ จูเนียร์ นั้นสามารถเชื่อมโยงเข้ากับแนวคิดเรื่อง “อุดมการณ์” (Ideology) ของหลุยส์ อัลธู​แซร์ ได้ในฐานะของ การผลิตสร้าง และใช้อุดมการณ์ในฐานะ SOFT POWER ของกลุ่มผู้มีอำนาจในการปกครอง หรือกลุ่มผู้ผลิตสร้างชุด​อุดมการณ์หลัก ที่มีเป้าหมายเพื่อโน้มน้าว ครอบงำความคิด ความเชื่อ และกำหนดกรอบพฤติกรรมของคนในสังคมให้เป็นไปตามที่ผู้ใช้อำนาจหรือ​ชั้นชนปกครอง (รัฐ) ต้องการ และสืบทอดอุดมการณ์ที่มีผลต่อระบอบสังคม โดยที่ผู้ถูกครอบงำนั้นไม่รู้สึกว่ากำลังถูกครอบงำ หรือถูกบีบบังคับหรือ​ข่มขู่ หากแต่ถูกทำให้รับรู้เสมือนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนนั้นเสมือนเป็นเรื่องปกติธรรมชาติ


ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า การผลิตสร้าง และใช้อุดมการณ์ในฐานะ SOFT POWER ของกลุ่มผู้มีอำนาจในการปกครองตามนัยยะนี้ อัลธูแซร์ ขยายการ​อธิบายไปถึงกลไกการทำงานของอุดมการณ์ และกลไกในการกำกับควบคุมให้ชุดอุดมการณ์หลักนั้นถูกผลิตซ้ำ และทำงานได้อย่างต่อเนื่อง โดย​เขาได้เสนอแนวคิดเรื่อง ภาคปฏิบัติการของอุดมการณ์ (Ideological practice) ที่ว่าด้วย การผลิตซ้ำชุดอุดมการณ์หลักให้ดำรงอยู่ ซึ่งได้รับการ​ผลิตซ้ำ


และแทรกซึมในชีวิตประจำวันของผู้คน โดยเขาเหล่านั้นไม่คิดแม้จะตั้งคำถามต่อสิ่งที่ตนเองกำลังเผชิญอยู่ รวมถึงการนำเสนอแนวคิด เรื่อง กลไก​ขับเคลื่อนของภาคปฏิบัติการของอุดมการณ์ เพื่อผลิตซ้ำความสัมพันธ์ทางสังคมให้ผู้ปกครองยังคงมีอำนาจในการปกครองเหนือผู้อยู่ภายใต้ชุด​อุดมการณ์หลักนั้น ๆ ซึ่งประกอบด้วย 2 กลไกหลัก


คือ กลไกด้านการปราบปรามของรัฐ (Repressive State Apparatus: RSA) ที่เน้นการใช้อำนาจแบบการใช้กำลังบังคับกดขี่ และกลไกด้าน​อุดมการณ์ของรัฐ (Ideological State Apparatus: ISA) ซึ่งเน้นไปที่การใช้อำนาจในลักษณะของการชักจูงจิตใจให้เกิดกรอบความเชื่อ ที่ส่งผลถึง​การมีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ตามที่ผู้ผลิตชุดอุดมการณ์หลักนั้นต้องการให้เป็น โดยผลที่เกิดขึ้นจากภาคปฏิบัติการของอุดมการณ์นั้นได้สร้างความ​เป็นองค์ประธาน(หลัก) (Subject) ให้กับกลุ่มผู้ถือครองอำนาจครอบงำทางความคิด ในฐานะผู้ผลิตสร้างชุดอุดมการณ์หลัก

ในขณะเดียวกันก็ได้ร้องเรียกเพื่อกำหนดตัวตน (Interpellation) องค์ประธาน(รอง) (subjects) ซึ่งเป็นกลุ่มคนผู้ที่ซึมซับรับเอาชุดอุดมการณ์หลัก​ไป และนำไปปฏิบัติตามโดยสำคัญผิดไปว่าตนเองนั้นเป็นประธาน(หลัก) (Subject)


สรุปได้ว่าทั้ง 2 แนวคิดข้างต้นนั้น มุ่งเน้นการสร้างคำอธิบายในมิติรัฐศาสตร์ ที่เน้นการได้มาซึ่งอำนาจรัฐและการใช้อำนาจปกครอง และครอบงำ​ผ่านกลไกของรัฐ โดยสร้างอุดมการณ์เหนือความคิด เพื่อให้ง่ายต่อการปกครองประชาชนในสังคม ดังนั้น การต่อยอดจากฐานแนวคิดทฤษฎีดัง​กล่าวจากมุมมองในมิติการสืบทอดอุดมการณ์ของรัฐ ก็ถือเป็นประเด็นหนึ่งที่ท้าทายและน่าสนใจในแวดวงวิชาการ และแวดวงการเมืองการ​ปกครอง ตลอดจนการนำไปปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม เพื่อส่งเสริม และต่อยอดการพัฒนาในเชิงบวกในมิติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป
















บรรณานุกรม

กมเลศ โพธิกนิษฐ. (28 กรกฎาคม 2657). เรื่อง SOFT POWER จากความสามารถในการจูงใจสู่กลยุทธ์ทางการเมืองระหว่างประเทศ และกลไกการได้มาซึ่ง​อำนาจนำ (Hegemony). บล็อก Crackersblogs. https://crackersbooks.com/blogs-soft-power-hegemony


กาญจนา แก้วเทพ. (2539). สื่อส่องวัฒนธรรม. อมรินพริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.


ชัยอนันต์ สมุทวณิช. (2530). รัฐ. สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.


ฐานิดา บุญวรรโณ. (2016). บทบรรณาธิการ. ผู้เฒ่า Alt. วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, 12(2), 1.

สุภาพิชญ์ ถิระวัฒน์. (2565). Soft Power (อำนาจละมุน). สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.


https://dl.parliament.go.th/backoffice/viewer2300/web/viewer.php

ภาษาอังกฤษ

Althusser, L. (2014). On the Reproduction of Capitalism: Ideology and Ideological State Apparatuses. G. M. Goshgarian (Tran.). Verso.


Althusser, L. (2001). Lenin and Philosophy and Other Essays. Ben Brewster (Tran.). Monthly Review Press.


Premium isolated images

พื้นที่ประชาสัมพันธ์

ขอเชิญรับฟัง Podcast จากสำนักพิมพ์ Crackers Books

และรับฟังทุกรายการได้ที่ crackersbooks.com/podcasts

Flat Youtube Icon

ติดต่อโฆษณา โทร 0953394114

Inbox now rectangle button call to action CTA drop shadow
Sleek Clean Monoline Decorative Click