วิถีชีวิตชาวริมโขง: การปรับตัวเพื่อความอยู่รอดท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง" : มุมมองจากการเข้าร่วมค่ายคนรุ่นใหม่นักสื่อสารฮักน้ำโขง
จิราพร คำด้วง
ชินพร อัคเสริญ
พิมลสิริ นนท์สะเกษ
กรกนก โพธิ์ขาว
นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
โครงการ SCIENCE AND POLICY INTERFACE YOUNG PEOPLE ENGAGEMENT IN ENVIRONMENT ACTION 2024 เครือข่ายคนรุ่นใหม่นักสื่อสารฮักน้ำโขง เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ผ่านสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ซึ่งศูนย์ศึกษาลุ่มน้ำโขง สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยนครพนม (GMS) เป็นผู้จัดงานในครั้งนี้ โดยได้รับความร่วมมือจาก 6 สถาบันหลัก
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยนครพนม
ซึ่งวัตถุประสงค์ของโครงการ ดังนี้ 1.เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างนักวิชาการไทย สหรัฐอเมริกา 2.เพื่อขยายเครือข่ายทางวิชาการในประเทศไทย
3.เพื่อพัฒนาเครือข่ายคนรุ่นใหม่นักสื่อสารฮักน้ำโขง ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้จะได้นำความรู้ และประสบการณ์จริงจากวิทยากรไปต่อยอดในการพัฒนาความคิด ความสามารถต่อไป
แม่น้ำโขง First time : เป็นครั้งแรกที่พวกเราได้เห็นแม่น้ำโขงใกล้ขนาดนี้ มันกว้างใหญ่ไพศาลและสวยงามเหลือเกิน มีทั้งพืชน้ำ สิ่งมีชีวิต ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำโขง ก่อนเข้าร่วมโครงการในวันแรก พวกเราได้พากันไปเดินชมบริเวณริมแม่น้ำโขง และได้นั่งมองแม่น้ำที่ทอดยาวสุดลูกหูลูกตา เห็นภูเขาดั่งภาพวาดตลอดแนว ในขณะที่นั่งชื่นชมความสวยงามอยู่นั้น ก็ได้มีลมพัดโชยขึ้นมาจากแม่น้ำให้เหงื่อพวกเราได้หยุดไหล ….~แต๊ก แต๊ก แต๊ก ได้ยินเสียงมาแต่ไกล พวกเราพากันหันไป เห็นชาวประมงที่กำลังร่องเรือหาปลาเพื่อดำรงชีวิตเหมือนกับทุก ๆ วัน และยังได้เห็นกิจกรรมที่หลากหลายในตอนเช้าตลอดฝั่งริมโขง เช่น การออกกำลังกาย พ่อค้าแม่ค้าที่มาขายผักพื้นบ้านให้กับคนที่ผ่านไปผ่านมา
เปิดกิจกรรมวันแรกของโครงการด้วยเสียงร้องของปลาบึกในคลิปวิดีโอ วี้ดดดดด~ ซึ่งสามารถดึงดูดความสนใจของพวกเราได้เป็นอย่างดี จนต้องรีบเข้ามานั่งเพื่อดูวิดีโอนั้นอย่างจริงจัง ในช่วงของการเสวนา มีผู้คนจากหลายภาคส่วน มาให้ความรู้และหารือถึงประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำโขงและแม่น้ำสงคราม ซึ่งเป็น 1 ใน 37 ลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำโขง เมื่อพวกเราได้เห็นถึงมุมมองที่หลากหลาย จากผู้ที่เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ยิ่งทำให้พวกเราได้เกิดแง่มุมความคิดใหม่ ๆ
ความรู้ที่ได้จากโครงการ : ได้ทราบว่าแม่น้ำโขง เป็นแม่น้ำที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งหมายถึงเป็นแม่น้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนโดยเป็นแหล่งทำมาหากิน และที่อยู่อาศัยของสัตว์นานาชนิด นอกจากนี้แม่น้ำโขงยังเป็นแม่น้ำที่แสดงถึงความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เช่นเดียวกับแม่น้ำสงครามที่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ มีระบบนิเวศที่สำคัญและหาได้ยากในปัจจุบันนี้ ซึ่งคือป่าบุ่งป่าทาม ที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก เป็นแหล่งอาหาร การอนุบาลสัตว์ จนได้ขึ้นชื่อว่าเป็นมดลูกของแม่น้ำโขง ความสำคัญของแม่น้ำสงครามนี้ จึงส่งผลให้ได้รับขึ้นทะเบียนแรมซาร์ไซต์ แห่งที่ 15 ของประเทศไทย
เป็นที่น่าใจหายอย่างยิ่ง ที่แม่น้ำซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงวิถีชีวิต ไม่เพียงแต่คนลุ่มแม่น้ำโขง แต่รวมไปถึงคนทั่วประเทศ ปัจจุบันนี้กำลังป่วยหนัก และไม่ทราบได้ว่าในอนาคตจะตายลงหรือไม่ หากสิ่งมีชีวิตในน้ำพูดได้คงบอกว่า “ช่วยพวกเราด้วย”
เรื่องเล่าจากคนปากน้ำ : ปากน้ำไชยบุรี พื้นที่แม่น้ำสองสี ซึ่งจะเห็นได้ชัดในช่วงหน้าแล้ง เป็นที่น่าเสียดายที่พวกเราไปไม่เจอ แต่โชคยังเข้าข้างที่พวกเราได้มีโอกาสพบปะพูดคุยคนในพื้นที่ ทุกคนต่างบอกเล่าถึงความสำคัญของแม่น้ำ วิธีการหาปลาตั้งแต่อดีตที่เคยหาได้เยอะ จนรับประทานไม่ทัน แต่ด้วยภูมิปัญญาที่มีจึงได้นำปลาเหล่านั้นมาถนอมอาหาร จนเกิดเป็น “ส้มปลาชะโด” ซึ่งในวันนั้นพวกเราก็ได้พบกับ เจ๊ดา ซึ่งเป็นเจ้าของ “ส้มปลาชะโด เจ๊ดา”
ที่เป็นสินค้าขึ้นชื่อประจำจังหวัดนครพนม ในปัจจุบันปลาในแม่น้ำสงครามหาได้ยากและมีจำนวนน้อยลงไป ส่งผลกระทบทั้งชาวประมงที่ต้องเปลี่ยนไปประกอบอาชีพอื่นเสริม และเจ๊ดาที่ต้องตะเวนซื้อปลาจากที่อื่นมาทำส้มปลาชะโด นอกจากเจ๊ดาแล้ว ก็ยังมีผู้ประกอบการรายอื่นอีกที่ประสบกับปัญหาเหล่านี้
ร้านอาหารกับภาพวาดปลา : ร้านอาหารแห่งหนึ่ง ย่านปากน้ำไชยบุรี เป็นที่น่าสงสัยที่ร้านอาหารแห่งนี้เต็มไปด้วยภาพของปลาที่ดูแปลกตา แทนที่จะเป็นเมนูอาหารหรือสถานที่ท่องเที่ยวเหมือนกับร้านทั่ว ๆ ไป ที่สำคัญภาพปลาเหล่านั้นยังเป็นภาพวาด ที่วาดเองกับมือบนแผ่นไม้ที่ติดอยู่กับผนังทั่วทั้งบริเวณร้าน ดูมีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร หลังจากที่ได้คุยกับผู้จัดการร้าน ทราบมาว่า เจ้าของชื่นชอบปลามาก จึงเกิดเป็นไอเดียนี้
ภาพแห่งความสวยงามของชนิดพันธุ์ปลาในลุ่มแม่น้ำโขง
ร่วมวงคุยธรรมชาติ : กิจกรรมสุดท้ายของวัน จะเป็นการเเนะนำตัว พร้อมบอกความเชื่อมโยงตัวเรากับแม่น้ำใกล้ตัว พวกเราเองซึ่งมีความเชื่อมโยงกับแม่น้ำสายสำคัญทั้ง 3 สาย ได้แก่ แม่น้ำชีที่เป็นแม่น้ำบ้านเกิด แม่น้ำมูลที่อยู่ใกล้มหาวิทยาลัยที่เรียน และแม่น้ำโขง สถานที่ทำกิจกรรมของพวกเราในครั้งนี้ จากนั้นจะมีการแบ่งกลุ่มทำ workshop ว่าด้วยเรื่องเยาวชนกับการอนุรักษ์แม่น้ำโขง เพื่อให้ตัวแทนกลุ่มมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ปิดท้ายกิจกรรมด้วยการรับชมหนังกลางแปลงริมโขง ตลอดกิจกรรมดำเนินไปด้วยความสนุกสนานและ มีเสียงหัวเราะเป็นระยะ ๆ
วันที่สองของการเข้าร่วมโครงการ : เช้านี้เปิดกิจกรรมด้วยการเสวนาในหัวข้อ “โขง สงคราม แม่น้ำ กับเสียงคำรามที่ไม่มีใครได้ยิน” การเสวนาในตอนเช้าให้ข้อคิดพวกเราว่า ทุกการพัฒนาแลกมาด้วยการทำลายสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการสร้างเขื่อน และไม่มีอะไรที่สามารถชดเชยความเสียหายเหล่านั้นได้เลย คำถามคือแล้วต้องทำอย่างไร ? คำตอบคือไม่ควรมีการสร้างเขื่อนตั้งแต่แรก หากมีการสำรวจแล้วว่าประเทศไทยไม่ได้ขาดแคลนพลังงานขนาดนั้น อีกทั้งปัจจุบันยังมีพลังงานสะอาดที่เป็นทางเลือกอื่น ๆ ที่ไม่ต้องทำลายธรรมชาติและวิถีชีวิตของผู้คนขนาดนี้ ได้แก่ พลังงานโซลาร์เซลล์ ซึ่งก็สามารถใช้ในการผลิตพลังงานได้เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม หากกลุ่มทุนสนใจแต่การแสวงหาผลประโยชน์ โดยที่ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม ท้ายที่สุด วิถีชีวิตของผู้คนริมฝั่งโขงก็จะค่อย ๆ หายไป จนถึงคราวนั้นก็ไม่มีอะไรที่สามารถกู้กลับคืนมาได้
ภาพแห่งความหวังว่าการออกเรือในแต่ละครั้งจะต้องได้ปลากลับมา
วิถีชีวิตคนริมน้ำต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด: ในช่วงบ่ายแสงแดดที่ร้อนจ้าสาดส่องลงมาที่บ้านปากยามแหล่งป่าบุ่งป่าทามที่เต็มสองข้างริมแม่น้ำสงคราม จากการลงพื้นที่ในวันที่สอง สะท้อนให้พวกเราต่างได้เห็นถึงอาชีพของชาวปากยามในอดีต ที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพชาวประมงเป็นอาชีพหลักแต่ในปัจจุบันกลับกลายเป็นอาชีพเสริม เนื่องจากการพัฒนาที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดจนทำให้ระบบนิเวศของแม่น้ำได้รับผลกระทบ การขึ้นลงของน้ำที่เปลี่ยนไปไม่ตรงตามฤดูกาล จึงทำให้จำนวนปลาเริ่มลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ชาวประมงไม่สามารถหาปลาได้เยอะอย่างเคย แต่อย่างไรก็ตามพี่น้องชาวปากยามก็ยังคงดำรงวิถีชีวิตของคนริมน้ำไว้อยู่ โดยในช่วงที่น้ำขึ้นจะมีการออกไปหาปลามาทำปลาแดก ปลาส้ม ปลาตากแห้ง เป็นการถนอมอาหารเพื่อเก็บไว้กินในยามน้ำลด
เมื่อน้ำลดก็จะทำการเกษตรทำนา ทำสวนยาง เลี้ยงวัว ปลูกผักสวนครัว ในการดำรงชีวิตและนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้เพื่อความอยู่รอดนั่นเอง กลับกลายเป็นว่าชาวปากยามรวมไปถึงชาวริมน้ำโขงที่ได้รับผลกระทบคล้าย ๆ กัน กำลังตกอยู่ในสภาวะกลืนไม่ได้คายไม่ออก แต่จะต้องปรับตัว เพื่อไม่ให้ตายจากสิ่งที่
เรียกกันว่า “การพัฒนา”
ภาพแห่งวิถีชีวิต
ข้อคิดชวนหวนให้ทบทวนความหลัง: การไปโครงการในครั้งนี้ของพวกเราทั้งสี่คน ทำให้พวกเราได้ซึมซับวิถีชีวิตริมแม่น้ำมากขึ้นได้มองเห็นถึงความสำคัญของสายน้ำแห่งนี้ที่มีต่อการดำรงอยู่ทั้งคน สัตว์รวมไปถึงระบบนิเวศ พวกเราได้ข้อคิดที่ชวนให้หวนทบทวนกับสิ่งที่พวกเราได้ไปพบเจอมา โดยได้ข้อคิดว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาส่งผลให้เเม่น้ำแห่งชีวิตนี้ถูกทำร้ายทั้งทางตรงและทางอ้อม วิถีชีวิตของคนริมน้ำโขงต้องเปลี่ยนแปลงไปจากการไหลของน้ำไม่ตรงตามฤดู หาปลาได้น้อย รายได้ของครอบครัวที่ลดลง รวมไปถึงผู้ประกอบการทางด้านอาหารเองก็ขาดแคลนวัตถุดิบสำคัญไปด้วย ผลกระทบดังกล่าวล้วนเป็นส่วนหนึ่งของผลกระทบทางอ้อม ในส่วนผลกระทบทางตรงคงหลีกหนีไม่พ้นการถูกทำลายที่อยู่อาศัยของสัตว์นานาชนิดและแร่ธาตุในน้ำรวมไปถึงระบบนิเวศแม่น้ำที่เคยอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ หากไม่มีการดูแลหรืออนุรักษ์ธรรมชาติไว้ แม่น้ำแห่งนี้ก็คงเป็นเส้นเลือดที่ไม่มีเลือดคอยไหลเวียนหล่อเลี้ยงไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่ายกายอีกไม่นานก็จะตายลงในไม่ช้า ในท้ายที่สุดแม่น้ำไม่ได้เป็นของใครคนใดคนนึงแต่แม่น้ำเป็นของทุกคน พวกเราทั้งสี่คนยังอยากที่จะเห็นวิถีชีวิตแบบนี้ดำรงอยู่คู่กับแม่น้ำสืบไป
พื้นที่ประชาสัมพันธ์
ขอเชิญรับฟัง Podcast จากสำนักพิมพ์ Crackers Books
และรับฟังทุกรายการได้ที่ crackersbooks.com/podcasts
ติดต่อโฆษณา โทร 0953394114