พงศธร กันทวงค์
นักศึกษาสาขาวิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
E-mail : phongsathon.ka.64@ubu.ac.th
เกริ่นนำ
หลังจากผมได้นำเสนอบทความ “จากอุบลฯ สู่เกียวโต : ประสบการณ์นักศึกษาแลกเปลี่ยนระยะสั้น EP.1” ไป ตอนนี้ผมคิดว่าได้เวลาอันพอเหมาะพอควรที่จะเขียน EP.2 เพื่อบอกเล่าประสบการณ์ที่ผมมาเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนที่นี่เป็นเวลา 12 วันแล้ว ได้พบเจอผู้คนที่หลากหลายและสังเกตเห็นเมืองที่น่าสนใจแห่งนี้หลายประการ รวมถึงเขียนพรรณนาถึงความรู้สึกคิดถึงอาหารที่ไทยเป็นอย่างยิ่ง ประกอบกับอาจารย์ที่เคารพของผมมักจะส่งภาพอาหารมายั่วให้น้ำลายสอเป็นประจำ ยิ่งทวีความอยากมากขึ้นเรื่อย ๆ จนอดใจไม่ไหว เช่นเคย ผมหวังว่าทุกท่านจะรู้สึกเพลิดเพลินและครุ่นคิดถึงสิ่งที่ผมอยากจะสื่อออกมาได้ไม่มากก็น้อยจากบทความนี้ และการบอกเล่าประสบการณ์ของผมจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่ได้รับการสนับสนุนการเดินทางโดยคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ภายใต้โครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ณ สถาบันอุดมศึกษาต่างประเทศ ประจำปีงบประมาณ 2567 ผมจึงขอขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้อีกครั้งครับ
เครื่องดื่ม “บาป” ในไทย แต่เป็นเครื่องดื่มทั่วไปในญี่ปุ่น
ต้องสารภาพกับท่านผู้อ่านทุกท่านที่ได้อ่านบทความนี้ว่า ไม่ว่าจะเดินทางไปที่ไหนไม่ว่าจะในประเทศไทยหรือต่างประเทศ การได้ลิ้มลองอรรถรสของเครื่องดื่มที่ดูผิดบาปของไทยถึงขั้นเรียกการเก็บภาษีว่า “ภาษีบาป” เป็นสิ่งที่ผมขาดไม่ได้ เพราะสิ่งเหล่านี้ทำให้การรับประทานอาหารอื่น ๆ อร่อยขึ้นมากกว่าเดิมเป็นทวีคูณ หรือแม้กระทั่งการซื้อมาดื่มเงียบ ๆ คนเดียวในห้องก็ไม่เลวนัก เพราะบทความนี้สำเร็จไปด้วยดีเพราะเมื่อได้ดื่มเบา ๆ ไม่กี่กระป๋องที่ทำให้เรามีความสุขที่จะเขียนมันออกมา แต่ถ้าหากผมกล่าวแบบนี้ในประเทศไทยหลาย ๆ ครั้งอาจจะกลายเป็นคนที่ “ไม่ดี” ไปโดยง่าย
อย่างไรก็ตาม ในทางกลับกันในประเทศญี่ปุ่นที่การดื่มเบียร์สักแก้วใหญ่ ๆ กลายเป็นเรื่องปกติในมื้ออาหาร เพราะเมื่อผมย่างกรายเข้าร้านอาหารร้านใดก็ไม่พลาดที่จะมีเครื่องดื่มชุ่มคอขายกันเกลื่อนกราด เหตุผลที่สำคัญประการแรก อาจเป็นเพราะการดื่มเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่เป็นการสร้างเครือข่ายการทำงานหลังเลิกงาน หรือแม้กระทั่งการกระชับความสัมพันธ์ของกลุ่มเพื่อนใหม่ ประการที่สอง ร้านสะดวกซื้อสามารถขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ไม่ถูกจำกัดเวลา ประการที่สาม รัฐบาลของญี่ปุ่นยังฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ด้วยการเชิญชวนคนรุ่นใหม่มาดื่ม ถึงแม้อัตราการดื่มจะสูงติดอันดับโลก และประการสุดท้าย มีกฎหมายที่เปิดกว้างต่อการค้าขายในธุรกิจของชุมชนทำให้เกิดการแข่งขันที่เสรีระหว่างธุรกิจรายใหญ่และรายย่อย (1) นอกจากนี้เมื่อผู้เขียนกดเข้าไปในแอปพลิเคชันสั่งอาหาร พบว่า เราสามารถสั่งเครื่องดื่มเหล่านี้ผ่านช่องทางส่งตรงถึงบ้าน (delivery) ได้เลย
ส่วนประเทศไทยกลับแตกต่างกันเพราะถูกกำหนดด้วยการจำกัดเวลาขาย และการกำหนดว่าวันสำคัญทางศาสนาขายไม่ได้ ราวกับว่าประเทศไทยเป็นรัฐศาสนา (religious state) ที่ยึดคำสอนทางศาสนามาใช้เป็นกฎหมาย มากกว่าการสมาทานแนวคิดรัฐโลกวิสัย (secular state) ที่ไม่ได้เน้นคุณค่าทางศาสนาแต่อย่างใด แต่เน้นคุณค่าสมัยใหม่ในโลกประชาธิปไตยยึดถือ นอกจากนี้ ความต่างที่สำคัญคือการออกกฎหมายในไทยที่เอื้อต่อการสร้างรายได้ให้นายทุนรายใหญ่ แต่ตัดช่องทางการสร้างรายได้ของรายย่อย ทำให้คนไทยได้ลิ้มลองเครื่องดื่มที่มีรสชาติจำกัดอยู่ไม่กี่บริษัทนายทุนใหญ่เพียงเท่านั้น และนายทุนใหญ่บางบริษัทพร้อมที่จะลงทุนขายน้ำดื่ม เพื่อจะได้โฆษณายี่ห้อสินค้าของตนโดยหลีกเลี่ยงกฎหมายการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้ประกอบการรายย่อยจะเติบโตได้อย่างไร?
เรื่องธรรมดาที่ประปาดื่มได้ (เฉพาะในญี่ปุ่น)
หลังจากมาอยู่ที่นี่ได้พักใหญ่สิ่งที่สังเกตเห็นได้จากการเข้าร้านอาหาร คือส่วนใหญ่จะไม่เสิร์ฟน้ำเปล่าให้กับลูกค้า แต่จะเสิร์ฟน้ำชาแทนซึ่งผมไม่มั่นใจว่าส่วนหนึ่งอาจะเป็นเพราะวัฒนธรรมด้วยหรือไม่ แต่เมื่อต้องกดน้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญที่มีตั้งอยู่ทั่วไปซึ่งเราสามารถกดเครื่องดื่มได้หลายชนิด พบว่า ราคาน้ำเปล่าจากตู้ไม่ได้ต่างกันมากนักกับน้ำหวานชนิดอื่น ผมก็ได้รับการบอกกล่าวจากเพื่อนที่เดินทางมาด้วยกัน ว่าน้ำประปาที่นี่สามารถดื่มได้จากก๊อกน้ำในห้องที่อาศัยอยู่ ถึงแม้รสชาติของน้ำจะไม่ค่อยถูกใจผมเท่าใดนัก แต่ก็ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายเพื่อเข้าถึงน้ำสะอาดลงไปได้
ต่างกันลิบลับกับประเทศไทยที่หลายพื้นที่ยังขาดแคลนน้ำประปาที่สามารถดื่มได้ บางครั้งน้ำไม่ไหล และบางครั้งเราไม่ได้คาดหวังให้น้ำประปาดื่มได้ ขอแค่ให้น้ำประปาที่ไหลออกมาจากก็อกน้ำในบ้านไม่ไหลออกมาเป็นสีชาไทยก็แสนยาก อย่างไรก็ตาม เรายังพอมีหวังเมื่อคณะก้าวหน้า นำโดย คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่รุกไปทำงานร่วมกับเทศบาลตำบลอาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด ที่นำโดย คุณเทพพร จำปานวน นายกเทศมนตรี ได้ร่วมกันผลักดันให้เกิดน้ำประปาดื่มได้ให้เกิดขึ้นจริงจนได้รับเกียรติบัตรรับรองจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (2) นี่จึงเป็นต้นแบบที่น่าสนใจให้ท้องถิ่นอื่นนำไปปฏิบัติกันเพิ่มอีก
รสชาติอาหารของญี่ปุ่นและไม่ทราบว่าจะชินกับการใช้ตะเกียบคีบข้าวกี่โมง?
ผมคิดว่าการที่เรามาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่หากเอาแต่ขลุกตัวอยู่ในห้องและเปิดแอร์เย็นฉ่ำคงไม่คุ้มค่าสักเท่าไหร่ วันหนึ่งเลยตัดสินใจไปเดินหาร้านอาหารไม่ไกลมากนักเพื่อรับประทานกับเพื่อน ผมได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ที่นี่ว่าถ้าอยากรับประทานอาหารราคาถูกและอร่อยเหมาะที่จะไปร้านสุคิยะ (Sukiya) พวกเราจึงเดินตาม Google Map ไปเรื่อย ๆ จนไปถึงที่หมาย ผมและเพื่อนได้สั่งอาหารกันมาคนละอย่างแต่รายการอาหารที่ผมสั่งเป็นข้าวที่จะต้องใช้ตะเกียบรับประทาน หลายท่านอาจจะบอกว่าข้าวญี่ปุ่นเป็นข้าวที่เหนียว แต่เมื่อมาอยู่ในอาหารที่มีซอสและไข่ดิบจึงสร้างความลำบากในการใช้ตะเกียบพอสมควร ถึงแม้อยู่ไทยจะต้องใช้ตะเกียบกับอาหารบางอย่างแต่ก็คงไม่มีใครนำมาคีบข้าวสวยรับประทานแน่ ๆ คนอุบลฯ อย่างผมได้แต่นึกขำตัวเองในใจที่ไม่สามารถใช้ตะเกียบคีบข้าวได้จนต้องใช้ช้อนเล็ก ๆ ตักข้าวเพื่อรับประทาน และแน่นอนว่าในวันต่อไปผมจึงตัดสินใจเดินไปขอช้อนด้ามยาวเพื่อตักข้าวกับพนักงานที่ร้านจนได้ ไม่อย่างนั้นคงสาระวนกับการคีบข้าวจนหลงลืมความอร่อยของรสชาติอาหารไปเสียหมด (ฮ่า รู้สึกเขินอายกับตัวเองสุด ๆ)
ส่วนรสชาติของอาหารที่นี่นั้น ส่วนใหญ่ที่ผมได้รับประทานรสชาติจะออกไปทางหวานและเค็มร่วมกัน อาจจะเป็นเพราะผมตะลอนชิมยังไม่ได้รับประทานหลายอย่างของที่นี่ก็เป็นได้ สิ่งที่ผมได้รับประทานและเผ็ดที่สุดของที่นี่ก็คือกิมจิ แต่สำหรับผมแล้วไม่อาจสู้รสชาติผักดอง (ส้มผัก) ทางอีสานได้อย่างแน่นอน (ฮ่า) แต่อย่างน้อยพอหายอยากรสชาติเผ็ด ๆ ที่คุ้นเคยอยู่ไทยไปได้บ้าง แต่สิ่งที่ประทับใจที่สุดคือ Curry Noodle ของร้านหนึ่งที่อยู่ไม่ไกลจากอพาร์ตเม้นท์ มีรสชาติหอมพริกไทยและมีรสเผ็ดเล็กน้อยซึ่งผมไม่มั่นใจว่ารสชาตินี้มาจากวัตถุดิบใด ประกอบกับเส้นราเมนที่นุ่มอร่อย ทำให้ผมจัดการหลักฐานไปจนหมดถ้วยพร้อมกับซดน้ำซุปไปอีกหลายอึก อาจจะเป็นเพราะรสชาติแกงกะหรี่ที่คนไทยคุ้นเคยที่มาในรูปของอาหารแบบเส้นทำให้ผมประทับใจก็เป็นได้
พบปะนักวิชาการ นักวิจัย และนักศึกษาแลกเปลี่ยนจากต่างประเทศ
หลังจากที่ผมพบผู้ประสานงานตั้งแต่วันแรก ๆ ของการมาที่นี่ ผมได้รับกำหนดการจากผู้ประสานงานว่าที่ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต (Center for Southeast Asian Studies Kyoto University) หรือ CSEAS จะมีกิจกรรมพบปะพูดคุยของนักวิชาการ นักวิจัย และนักศึกษาแลกเปลี่ยนที่มาที่นี่ เมื่อถึงวันและเวลาที่นัดผมกับเพื่อนได้เข้าไปในห้องขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ห้องหนึ่ง เราได้นั่งลงและรู้สึกเกร็งกันพอสมควรเพราะกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นเราเข้าใจกันไปเองว่าเป็นสัมมนาวิชาการที่เป็นทางการ แต่ที่พบคือการมาพูดคุยอย่างเป็นกันเองของทุกคนในห้องส่วนเราไม่มั่นใจที่จะไปสนทนากับใครมากนัก แต่ความอุ่นใจก็เกิดขึ้นเมื่อเราเดินไปทักทายเพื่อนที่เข้ามาในห้องและพบว่าพวกเธอคือนักศึกษาแลกเปลี่ยนจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเช่นเดียวกันกับเรา และยังได้รู้จักเพื่อนคนใหม่ที่มาจากมาเลเซีย จากที่เราพักอยู่อพาร์ตเม้นท์เดียวกันจึงได้มีโอกาสพบกันในครั้งนี้ และมีโอกาสได้พบรุ่นพี่คนไทยที่เป็นนักศึกษาวิจัย (Researcher Student) ที่เตรียมศึกษาต่อในระดับปริญญาโท จึงได้ทราบว่ากิจกรรมนี้จะจัดขึ้นในทุก ๆ เดือนเพื่อให้ทุกคนได้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อทำความรู้จักกัน
เมื่อถึงเวลาทุกคนได้มายืนล้อมวงกันพร้อมกับเริ่มแนะนำตนเองและความสนใจ ที่นี่มีนักวิชาการ นักวิจัย และนักศึกษาแลกเปลี่ยนจากต่างประเทศ ที่มีความสนใจที่หลากหลายเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงได้ ส่วนผมเองได้แนะนำตนเองและบอกกว่าสนใจประเด็นด้านการเมือง การเลือกตั้ง ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม และกำลังทำวิจัยย่อม ๆ เกี่ยวกับส่วนท้องถิ่นที่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในญี่ปุ่น ผมไม่ได้กล่าวอะไรมากเท่าใดนักเพราะความตื่นเต้น เราได้รับการทักทายต้อนรับอย่างเป็นมิตรจากอาจารย์ที่นี่ นอกจากนี้ เมื่อจบกิจกรรมผมกับเพื่อนได้พูดคุยกับอาจารย์ท่านหนึ่งที่มาจากบังคลาเทศ ซึ่งอาจารย์บอกว่าอาจารย์ชอบอาหารข้างทางของไทยมาก และเดินทางไปในหลายจังหวัดของประเทศไทย ส่วนนิสัยคนไทยเป็นคนที่เป็นมิตรอาจารย์จึงชอบประเทศไทย และอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าอาจารย์จะเดินทางไปยังประเทศไทยเพื่อนำเสนองานวิชาการอีกด้วย ทำให้ผมรู้สึกว่าประเทศไทยมีอะไรที่น่าสนใจอีกมากมาย แต่ด้วยการเมืองที่ประชาธิปไตยไม่ลงหลักปักฐานทำให้เราพัฒนาให้ดีขึ้นได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็น
รายการอ้างอิง
[1] อนรรฆพร ลายวิเศษกุล. 2565. ความรุ่มรวยของ ‘สุราชุมชน’ และ ‘วัฒนธรรมการดื่ม’ ของญี่ปุ่น. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 27 พฤษภาคม 2567 จาก https://urbancreature.co/alcohol-industry-japan/?fbclid=IwZXh0bgNhZW0CMTAAAR15GzSk8IzM_Tb7pDTL2b8JhMVLANkpz_w7-sVkYTouRHPtaodui0PL4Lk_aem_AbwbLVKF75-fc9nd-IBu_mY_kVKvDzU9js8FessAc-mIS4phy-g87GCacmZCBYRxKFah1ai3fEnUcGXcCJ8IGAmH
[1] ข่าวสด. 2564. ธนาธร ปลื้ม เทศบาลก้าวหน้าทำน้ำประปาดื่มได้ ได้การรับรองระดับ ‘กรมอนามัย’. [ออนไลน]. สืบค้นเมื่อ 27 พฤษภาคม 2567 จาก https://www.khaosod.co.th/politics/news_6774231
พื้นที่ประชาสัมพันธ์
ขอเชิญรับฟัง Podcast จากสำนักพิมพ์ Crackers Books
และรับฟังทุกรายการได้ที่ crackersbooks.com/podcasts
ติดต่อโฆษณา โทร 0953394114