ทำความรู้จักกับแนวความคิดที่ว่าด้วยการจัดวางความคิดทางการเมือง
ตอนที่ 3 ทำความเข้าใจเกี่ยวกับ “การรื้อถอนความคิดที่ถูกจัดวางไว้” (Uninstallation)
วีรชน เกษสกุล
อาจารย์ประจำสาขาวิชาการปกครอง
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Weerachon.g@ubu.ac.th
เกริ่นนำ
ตามที่ผู้เขียนได้นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับแนวความคิด “การจัดวางความคิดทางการเมือง” หรือ “Political Installation” ไปแล้วสองตอนก่อนหน้านี้ โดยในตอนที่ 1 ผู้เขียนได้พยายามอธิบายถึงความเป็นมาและสาระสำคัญของแนวคิดดังกล่าว โดยเริ่มต้นจากการแนะนำแนวคิดที่เป็นนวัตกรรมทางความคิดของวัชรพล พุทธรักษา ที่ได้พัฒนาขึ้นจากแนวความคิดและทฤษฎีของอันโตนิโอ กรัมชี่ เพื่อใช้ในการวิเคราะห์และอธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองในมิติต่าง ๆ แนวคิดดังกล่าวนี้ได้ถูกนำเสนอผ่านหนังสือที่ชื่อ “อันโตนิโอ กรัมชี่ กับการจัดวางความคิดทางการเมือง: ปรัชญาปฏิบัติ การเปลี่ยนแปลงทางสังคม และการปลดปล่อยมนุษย์”
สำหรับแนวคิดนี้ผู้เขียนได้อธิบายไปแล้วว่าเป็นแนวความคิดที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างทฤษฎีการเมืองของอันโตนิโอ กรัมชี่ กับหลักการสำคัญของศิลปะแบบจัดวาง (Installation Art) โดยวัชรพล คาดหวังเอาไว้ว่าแนวความคิดดังกล่าวจะสามารถทำให้ผู้คนเข้าใจและสามารถนำแนวคิดของกรัมชี่ไปใช้ในทางปฏิบัติได้ง่ายขึ้น โดยเขาได้เสนอหลักการสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ การกลับไปทบทวนความคิดที่ถูกจัดวางไว้แล้ว (Installed) การรื้อถอนความคิดที่ถูกจัดวาง (Uninstallation) และการจัดวางความคิดใหม่ (Reinstallation) ซึ่งในบทความตอนที่แล้วผู้เขียนได้อธิบายถึงขั้นตอนแรกของการใช้แนวคิดดังกล่าว คือ “การกลับไปทบทวนความคิดที่ถูกจัดวางไว้แล้ว” (Installed) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนและตรวจสอบชุดความคิดหรืออุดมการณ์ที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ว่ามีความเหมาะสมหรือควรปรับปรุงอย่างไร ทั้งนี้ตามมุมมองหรือวิธีคิดของผู้เขียนเองได้เลือกใช้แนวความคิด “กลุ่มประวัติศาสตร์” (Historical Bloc) เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการทบทวนความคิดที่ถูกจัดวางไว้แล้ว
สำหรับบทความนี้ ผู้เขียนมีจุดมุ่งหมายที่จะอธิบายถึงขั้นตอนที่ 2 ของแนวคิด “การจัดวางความคิดทางการเมือง” ซึ่งนั่นคือ “การเข้าไปรื้อถอนความคิดที่ถูกจัดวาง” (Uninstallation)
การเข้าไปรื้อถอนความคิดที่ถูกจัดวาง (Uninstallation)
การรื้อถอนหรือการทำลายทั้งในทางวัตถุและทางความคิด ถือเป็นปรากฏการณ์สำคัญในเชิงวัฒนธรรมที่กลายเป็นสัจธรรมของการเปลี่ยนผ่านอำนาจทางการเมืองจากกลุ่มอำนาจหนึ่งไปสู่อีกกลุ่มหนึ่ง การทำลายความชอบธรรมของกลุ่มอำนาจเดิมด้วยการทำลายสัญลักษณ์ทางการเมืองของฝ่ายตรงข้าม และแทนที่ด้วยสัญลักษณ์ใหม่ที่แสดงออกถึงความชอบธรรมทางการเมืองของกลุ่มอำนาจใหม่ นอกจากนี้การพยายามรื้อถอนยังเป็นกลไกสำคัญสำหรับการต่อสู้หรือเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มพลังทางสังคม ซึ่งในกรอบคิดของวัชรพล การรื้อถอนความคิดที่ถูกจัดวางไว้ คือการพยายามสร้างสำนึกเชิงวิพากษ์ (Good sense) แต่อย่างไรก็ตามการจะสร้างสำนึกเชิงวิพากษ์ได้นั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจแนวความคิดที่ว่าด้วย“สามัญสำนึก” (Common sense)
แนวความคิดที่ว่าด้วย “สามัญสำนึก”
ตามที่ได้กล่าวไปในตอนต้นแล้วว่าการที่จะทำความเข้าใจแนวคิดเกี่ยวกับการสร้างสำนึกเชิงวิพากษ์ เราจำเป็นที่จะต้องเริ่มจากการเข้าใจแนวคิดที่ว่าด้วย “สามัญสำนึก” (Common sense) ซึ่งเป็นแนวความคิดสำคัญของอันโตนิโอ กรัมชี่ สำหรับกรัมชี่แล้วเขามองว่าสามัญสำนึกมีลักษณะเป็นนามธรรมคล้ายกับศาสนา และเป็นผลพวงทางประวัติศาสตร์ ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นโดยผู้คนในสังคมในบริบททางสังคมหนึ่ง ๆ จนกลายเป็นบรรทัดฐานหรือหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติร่วมกัน กรัมชี่เชื่อว่าเครื่องมือที่สนับสนุนให้เกิดสามัญสำนึกได้แก่ คติชนพื้นบ้าน เช่น นิทาน ตำนานพื้นบ้าน คำสอน และคติความเชื่อ (Hoare, G. and Sperber, N., 2016: pp. 86-88)
ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปทำความเข้าใจในบริบทการเมืองเมื่อครั้งที่กรัมชี่ทำงานอยู่กองบรรณาธิการวารสาร “L’Ordine Nuovo” (ระเบียบใหม่) เราจะเห็นได้ว่ามีนักปฏิวัติหลายคนมองว่าสามัญสำนึกเป็นอุปสรรคของการปฏิวัติ และเป็นสัญลักษณ์ของวิธีคิดแบบอนุรักษ์นิยม ซึ่งกรัมชี่เห็นว่าสามัญสำนึกคือ “การมองโลกในลักษณะที่ไร้เหตุผลในเชิงวิพากษ์” กล่าวคือสามัญสำนึกเป็นบรรยากาศที่ถูกสร้างขึ้นผ่านการกล่อมเกลาทางวัฒนธรรมจนกลายเป็นความจริงที่ไม่ต้องตั้งคำถามใด ๆ อย่างไรก็ตาม กรัมชี่เสนอแนวทางการท้าทายสามัญสำนึกด้วยการสร้างสำนึกเชิงวิพากษ์ (Good sense) (Gramsci, 1971: p 419; Hoare, G. and Sperber, N., 2016: pp. 88-89)
สำนึกที่ดีในการมองโลกแบบใหม่ (Good sense)
สำหรับการสร้างสำนึกเชิงวิพากษ์ (Good sense) นับว่าเป็นกลไกสำคัญที่กรัมชี่ใช้เพื่อตอบโต้ต่อสภาวะการครองอำนาจนำ (Counter Hegemony) กล่าวคือ หากกลุ่มชนชั้นที่ถูกกดขี่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลง พวกเขาต้องตั้งคำถามกับสภาวะของการถูกกดขี่ และลุกขึ้นสู้ในสนามทางความคิด ความเชื่อ ตลอดจนการสร้างจิตสำนึก เพื่อยกระดับปัญญาของผู้คนทั่วไป (Gramsci, 1971: p.340; วัชรพล พุทธรักษา, 2557: 166-167; กมเลศ โพธิกนิษฐ์, 2563: 162-163)
แต่อย่างไรก็ดี การสร้างสำนึกเชิงวิพากษ์จะสำเร็จไม่ได้หากปราศจากกลไกที่เรียกว่า “ปัญญาชน” (Intellectuals) ซึ่งกรัมชี่เห็นว่าปัญญาชนไม่ได้จำกัดอยู่ในชนชั้นสูงหรือชนชั้นนำ แต่ใครก็ตามที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนหรือสร้างแรงผลักดัน ตลอดจนการสร้างความรู้และจิตวิญญาณแห่งการต่อสู้ให้เกิดขึ้นในจิตสำนึกของกลุ่มผู้ถูกกดขี่ เพื่อท้าทายสามัญสำนึกแบบดั้งเดิม (Sassoon, A.S., 1982: p.14; Crehan, 2016: pp. 18-19, p.44; วัชรพล พุทธรักษา, 2557: 171)
อนึ่ง ประการสำคัญอย่างหนึ่งที่จะสนับสนุนการสร้างสำนึกเชิงวิพากษ์ไปสู่เป้าหมายปลายทาง คือการทำสงครามยึดพื้นที่ทางความคิดและวัฒนธรรม (War of Position) กรัมชี่เห็นว่าการทำสงครามขับเคลื่อนยึดพื้นที่ (War of Movement) อาจเหมาะกับรัฐที่มีอำนาจทางการเมืองเปราะบาง และแม้จะยึดอำนาจรัฐได้ แต่ยากที่จะรักษาอำนาจนั้นไว้อย่างยาวนาน ดังนั้นเขาเสนอแนวทาง “การทำสงครามเพื่อช่วงชิงพื้นที่ทางความคิด” เพื่อครองอำนาจนำและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมใหม่อย่างยั่งยืน กรัมชี่เสนอว่ากระบวนการนี้ควรใช้ผ่านสถาบันทางศาสนา ครอบครัว และการศึกษา เป็นต้น (Gramsci, A., 1971: p 59; Hoare, G. and Sperber, N., 2016: p. 59-60; Simon, R., 1999: p. 85-86; กาญจนา แก้วเทพ, 2541: 90-91)
เอกสารอ้างอิง
Crehan, K. (2016). Gramsci’s common sense: Inequality and its narratives. Duke University Press.
Gramsci, A. (1971). Selections from the Prison Notebooks. (Q. Hoare & G. N. Smith, Eds. & Trans.). London : Lawrenece Wishart.
Hoare, G., & Sperber, N. (2016). An introduction to Antonio Gramsci: His life, thought and legacy. London: Bloomsbury Publishing PLC.
Sassoon, A. S. (1982). Gramsci's politics. Di Mauro, G. and Di Mauro, E. (tr.). New York:
Monthly Review Press.
Simon, R. (1999). Gramsci's political thought: An introduction. London: The Electric Book
Company Ltd
กมเลศ โพธิกนิษฐ. (2563). ทฤษฎีนโยบายสังคมและการวิพากษ์นโยบาย. พิษณุโลก: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยนเรศวร.
พื้นที่ประชาสัมพันธ์
ขอเชิญรับฟัง Podcast จากสำนักพิมพ์ Crackers Books
และรับฟังทุกรายการได้ที่ crackersbooks.com/podcasts
ติดต่อโฆษณา โทร 0953394114