Published by Crackers Books,

14 July 202​4

https://crackersbooks.com/blog​s


ทำความรู้จักกับแนวความคิดที่ว่าด้วยการจัดวางความคิดทางการเมือง

ตอนที่ 1 : การก่อตัวและสาระสำคัญของแนวคิด “การจัดวางความคิดทางการเมือง”


วีรชน เกษสกุล

อาจารย์ประจำสาขาวิชาการปกครอง

คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

Weerachon.g@ubu.ac.th








เกริ่นนำ


หากกล่าวถึงแนวความคิดที่ว่าด้วย “การจัดวางความคิดทางการเมือง” หรือ “Political Installation” เชื่อว่าหลายคนอาจจะยังไม่รู้จักหรือมีความเข้าใจ​ต่อแนวความคิดดังกล่าว ทั้งนี้อาจกล่าวได้ว่าแนวความคิดดังกล่าวเป็นนวัตกรรมทางความคิดที่พึ่งจะมีการนำเสนอในวงวิชาการไทยเมื่อไม่นานมานี้เอง แต่​อย่างไรก็ดีในโลกวิชาการไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติทางด้านรัฐศาสตร์ เริ่มที่จะมีการนำเอาแนวความคิดดังกล่าวไปใช้เป็นกรอบในการวิเคราะห์​ปรากฏการณ์ทางการเมืองในมิติต่าง ๆ บ้างแล้ว ดังนั้นในโอกาสนี้ ผู้เขียนจึงอยากจะช่วนท่านผู้อ่านหรือผู้ที่กำลังสนใจประเด็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทาง​สังคมมาทำความรู้จักกับแนวความคิดที่ว่าด้วย “การจัดวางความคิดทางการเมือง” ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น


สำหรับแนวความคิดที่ว่าด้วย “การจัดวางความคิดทางการเมือง” เป็นมโนทัศน์ทางการเมืองที่ถูกนำเสนอผ่านหนังสือที่ชื่อ “อันโตนิโอกรัมชี่ กับการจัดวาง​ความคิดทางการเมือง: ปรัชญาปฏิบัติ การเปลี่ยนเปลงทางสังคม และการปลดปล่อยมนุษย์” ในปี พ.ศ.2561 เขียนโดยวัชรพล พุทธรักษา นักวิชาการผู้​สนใจและเชี่ยวชาญเกี่ยวกับแนวความคิดทฤษฎีของนักคิดที่ชื่อ “อันโตนิโอ กรัมชี่”[1] ผลงานชิ้นดังกล่าวเป็นความพยายามของผู้เขียน (วัชรพล) ในการที่จะ​บูรณาการระหว่างศาสตร์ทางด้านรัฐศาสตร์กับศาสตร์ทางด้านศิลปเข้าด้วยกัน ทั้งนี้เนื่องมาจากการที่ผู้เขียนได้เล็งเห็นถึงข้อจำกัดบางประการในทางทฤษฎี​ของอันโตนิโอ กรัมชี่ ที่ไม่ได้เสนอแนวทางเกี่ยวการกับศึกษาและแนวทางในการนำไปปฏิบัติเอาไว้อย่างชัดเจน ด้วยเหตุผลดังกล่าวเขาจึงเห็นว่าเป็นโอกาสอัน​ดีที่ผู้ศึกษาจะสามารถตีความและนำเอาแนวคิดของอันโตนิโอ กรัมชี่ ไปใช้อย่างเสรีแต่คงเงื่อนไขสำคัญเอาไว้คือจะต้องอยู่บนฐานของสิ่งที่เรียกว่า “การปฏิวัติ​ที่ยั่งยืน” กล่าวคือจะต้องมีกระบวนการต่อสู้เชิงความคิด/อุดมการณ์ เพื่อที่จะเปลี่ยนโลกทัศน์ของผู้คนในสังคมต่าง ๆ และต้องอาศัยความร่วมมือของชนชั้น​และกลุ่มพลังต่าง ๆ เข้าด้วยกัน แม้ว่าการพยายามเปลี่ยนแปลงสังคมดังกล่าวอาจจะต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนานก็ตาม


จากปัจจัยดังกล่าว วัชรพล พุทธรักษา จึงได้สร้างแนวทางขึ้นมาโดยการนำเอาจุดเด่นหรือหลักการสำคัญบางประการของศิลปะแบบจัดวาง (Installation ​Art) มาผสมผสานกับทฤษฎีการเมืองของอันโตนิโอ กรัมชี่ เพื่อที่ให้เกิดเป็นแนวทางให้ผู้ที่สนใจสามารถมองเห็นกระบวนการหรือกลไกทางการเมืองรูปแบบ​ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมได้ด้วยตัวเอง


สำหรับจุดเด่นบางประการของศิลปะแบบจัดวางที่วัชรพลเห็นว่าน่าจะสามารถนำมาเป็นเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนให้ผู้คนสามารถทำความเข้าใจและนำ​แนวคิด/ทฤษฎีของอันโตนิโอกรัมชี่ไปใช้ได้ง่ายขึ้นนั้นคือ (โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน วัชรพล พุทธรักษา, 2561: 18)


1.การที่เชื่อว่าการประกอบสร้างของสิ่งหนึ่งสิ่งใดแม้วัตถุอาจจะไม่มีความเชื่อมโยงหรือเกี่ยวข้องกันเลยก็ตาม แต่ด้วยหลักคิดแบบการจัดวางจะสามารถทำให้​ผู้คนมองเห็นถึงความเชื่อมโยงของสิ่งต่าง ๆ ภายใต้บริบทนั้น ๆ ได้


2. การที่ศิลปะแบบจัดวางให้ความสำคัญกับคุณลักษณะเฉพาะหรือความเจาะจงเชิงพื้นที่ กล่าวคือการจะจัดวางและนำเสนองานศิลปะนั้น ๆ จำเป็นต้องคำนึง​ถึงพื้นที่ทางวัฒนธรรมและพื้นที่ทางความคิดด้วย


3. ศิลปะแบบจัดวางมีความคาดหวังว่าจะเป็นการกระตุกอารมณ์และการรับรูปของผู้คนเพื่อให้เกิดการตีความและหาความหมายที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังของงาน​ศิลปะเหล่านั้น


4. ในแง่ของความคิดเกี่ยวกับศิลปะแบบจัดวาง งานศิลปะประเภทนี้ให้ความสนใจการใส่ความหมายลงไปในงาน มากกว่าที่จะเน้นในเรื่องของเทคนิค ราคา​ของวัสดุ และคุณภาพของงาน


ในส่วนของแนวความคิดและทฤษฎีของอันโตนิโอ กรัมชี่ ที่สำคัญประกอบด้วย แนวความคิดที่ว่าการครองอำนาจนำ (Hegemony) แนวความคิดที่ว่าด้วยการ​ช่วงชิงพื้นที่ทางวัฒนธรรมและการเมือง (War of Position) แนวความคิดว่าด้วยกลุ่มประวัติศาสตร์ (Historical Bloc) แนวความคิดที่ว่าด้วยแนวคิดปัญญา​ชนของกรัมชี่ (Gramsci’s conception of the intellectuals) และแนวความคิดที่ว่าด้วยวิกฤติการณ์ของอำนาจนำ (Crisis Hegemony) เป็นต้น


ตามที่ได้กล่าวไปในข้างต้นแล้วว่าแนวคิดทฤษฎีต่าง ๆ เหล่านี้ของอันโตนิโอ กรัมชี่ ไม่ได้มีการอธิบายหรือมีการกำหนดเป็นสูตรตายตัวว่าจะต้องนำแนวคิด​ทฤษฎีต่าง ๆ เขาของไปใช้เมื่อไหร่และใช้อย่างไร จากข้อจำกัดดังกล่าวนี้เองวัชรพลจึงได้ประยุกต์แนวความคิดและทฤษฎีของกรัมชี่เข้ากับหลักการสำคัญบาง​ประการของศิลปะแบบจัดวาง เพื่อที่จะทำให้ผู้คนทั่วไปเข้าใจและสามารถที่จะนำเอาแนวความคิดและทฤษฎีทางการเมืองของกรัมชี่ไปใช้ในทางปฏิบัติได้ง่าย​ขึ้น โดยเขาสร้างหลักการสำคัญขึ้นมา 3 ประการ อันประกอบด้วย 1.การกลับไปทบทวนความคิดที่ถูกจัดวางไว้แล้ว (Installed) 2.การเข้าไปรื้อถอนความคิดที่​ถูกจัดวาง (Uninstallation) และ3. การจัดวางความคิดใหม่ (Reinstallation) (โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน วัชรพล พุทธรักษา, 2561: 21–26, 199-202)


อนึ่ง สำหรับการสร้างหลักการดังกล่าว วัชรพล พยายามอธิบายว่ามีพื้นฐานสำคัญมาจากการที่เขาต้องให้ผู้คนได้มองสรรพสิ่งอย่างเป็นองค์รวม โดยให้ความ​สำคัญกับความเชื่อมโยงที่มีพลวัตกับสิ่งต่าง ๆ ซึ่งหมายความรวมถึงความเป็นองค์รวมของสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในบริบทใด​บริบทหนึ่ง พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเท่านั้น ทั้งนี้โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการพยายามสร้างสำนึกร่วมให้เกิดแก่ผู้คน เพื่อนำไปสู่การสร้างการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ​และสาระสำคัญอีกประการคือพยายามที่จะให้ผู้ “มองโลกในเชิงวิพากษ์” กล่าวคือการพิจารณาให้เห็นถึงรากเหง้าของปัญหาซึ่งอาจจะมีความซับซ้อนและมี​ความเกี่ยวโยงทางการเมืองกันอยู่หลายชั้น และต้องการที่จะทำให้มันดีขึ้น (วัชรพล พุทธรักษา, 2561: 21 – 24)


สำหรับการจะนำเอาแนวความคิดดังกล่าวไปใช้ วัชรพลเองก็ไม่ได้กำหนดรูปแบบที่ชัดเจนว่าจะต้องนำเอาแนวความคิดดังกล่าวไปใช้อย่างไร มีเพียงคำ​แนะนำในขั้นต้นว่าการจะนำแนวความคิดดังกล่าวไปใช้มีหลักการสำคัญอยู่ 3 ขั้นตอนคือ 1. นำไปใช้สำหรับการตรวจสอบหรือทบทวนความคิดที่ถูกจัดวางไว้​แล้ว 2. นำไปพิจารณาและรื้อถอนชุดความคิดที่ถูกจัดวางไว้ก่อนหน้า และ3. คือการพยายามจัดวางชุดความคิดใหม่ใส่กลับเข้าไปแทนที่ชุดอุดมการณ์ก่อน​หน้า (วีรชน เกษสกุล และวัชรพล พุทธรักษา, 2565: 8) ซึ่งรายละเอียดของแต่ละหลักการที่ได้กล่าวไปนั้นผู้เขียนจะนำเสนอในโอกาสต่อไปในสัปดาห์หน้า ​โปรดติดตามตอนต่อไป


เชิงอรรถ

[1] อันโตนิโอ กรัมชี่ (Antonio Gramsci: 1891 – 1937) นักทฤษฎีชาวอิตาเลี่ยนที่ถือได้ว่าเป็นนักคิดคนสำคัญคนหนึ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแวงวงการศึกษา​เกี่ยวกับแนวความคิดทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรม สิ่งที่น่าสนใจประการหนึ่งที่มีความสัมพันธ์กับแนวคิดของเขา คือ กรัมชี่เป็นผู้ก่อตั้งและเคยเป็น​เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งอิตาลี นอกจากนี้กรัมชี่เองเห็นด้วยและสนับสนุนทฤษฎีการปฏิวัติของเลนิน ที่ได้เน้นและให้ความสำคัญกับปัจจัยทางการ​เมืองมากกว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นพลังสำคัญต่อการเคลื่อนไหวเพื่อปฏิวัติ แต่สิ่งที่กรัมชี่เห็นว่ามีความจำเป็นที่ควรจะตระหนักให้มากที่สุดคือ การ​พิจารณาวิเคราะห์สังคมแต่ละสังคมโดยคำนึงถึงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี ค่านิยม และความคิดของคนในแต่ละสังคม กล่าวคือกรัมชี่​เน้นความสำคัญของการกระทำอย่างตั้งใจของมนุษย์ภายในขอบเขตที่ประวัติศาสตร์กำหนดมาให้ ซึ่งนั่นสะท้อนให้เห็นว่ากรัมชี่เป็นผู้ที่ให้ความสำคัญกับ​คุณลักษณะทางอัตวิสัยของมนุษย์ (Subjectivity) แต่อย่างไรก็ดีเขาก็ไม่ได้ทิ้งหรือละเลยคุณลักษณะทางวัตถุวิยัย (objectivity) (โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติม​ใน สุรพงษ์ ชัยนาม, 2557: 29 – 35; กาญจนา แก้วเทพ, 2526: 107 - 108; วัชรพล พุทธรักษา, 2557: 49 – 52)



เอกสารอ้างอิง

กาญจนา แก้วเทพ. (2526). ลัทธิมาร์กซ์ของกรัมชี่. วารสารธรรมศาสตร์ ปีที่ 12 ฉบับที่ 2 ประจำเดือนมิถุนายน.


วัชรพล พุทธรักษา. (2561). อันโตนิโอ กรัมชี่ กับการจัดวางความคิดทางการเมือง ปรัชญาปฏิบัติ การเปลี่ยนแปลงทางสังคม และการปลดปล่อยมนุษย์. ​กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์สมมติ.


วีรชน เกษสกุล และวัชรพล พุทธรักษา. (2565). การจัดวางความคิดทางการเมือง: แนวทางการวิเคราะห์การก่อตัวทางสังคมของกลุ่มคณะราษฎร. วารสาร​ชุมชนวิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา. ปีที่ 16 ฉบับที่ 2 (เมษายน – มิถุนายน 2565).


สุรพงษ์ ชัยนาม. (2557). ชุดแนวคิดและทฤษฎีทางสังคม ใครเป็นซ้าย. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ศยาม.













Premium isolated images

พื้นที่ประชาสัมพันธ์

ขอเชิญรับฟัง Podcast จากสำนักพิมพ์ Crackers Books

และรับฟังทุกรายการได้ที่ crackersbooks.com/podcasts

Flat Youtube Icon

ติดต่อโฆษณา โทร 0953394114

Inbox now rectangle button call to action CTA drop shadow
Sleek Clean Monoline Decorative Click