Published by Crackers Books,

11 May 2024

https://crackersbooks.com/blogs

พินิจความรักในบทเพลงบางส่วนของวง Freehand

ผ่านแนวคิดของโซเกรตีส เพลโต และเทวตำนานกรีกโรมัน


ศิลปะ เดชากุล



Freehand วงดนตรีแนว Alternative rock เกิดจากการรวมตัวกันของ เข้ม-ธนช เหลาหา (กีตาร์/ร้องนำ) โจ๊ก-ภิวัฒน์ จิตตมาศ (เบส) การ์ฟิลด์-วรัท รอดเพชรไพร (กลอง) แฮม-ธีรภัทร์ นาคสว่างพร (กีตาร์) อดีตนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่ชื่อวงมาจากเทคนิคการวาดภาพอย่างหนึ่งคือ Freehand ซึ่งเป็นการวาดภาพด้วยมือเปล่าไม่ได้มีเครื่องมือในการวาดภาพที่สลับซับซ้อน แต่ก็สามารถสื่อสารความรู้สึกออกมาได้อย่างดี จนกลายมาเป็นชื่อของวง ที่มีจุดมุ่งหมายจะทำดนตรีที่ไม่ซับซ้อนมาก แต่สื่อสารความรู้สึกไปถึงคนฟังได้ ถือกำเนิดวงจากการปล่อยเพลงครั้งแรกในปี พ.ศ.2557 ทางแอปพลิเคชันยูทูป (Youtube) ผ่านซิงเกิลที่มีชื่อว่า อีกไม่นาน ภายหลังจากนั้นเป็นระยะเวลาไม่นาน “ฟรีแฮนด์” ก็ได้เป็นที่รู้จักมาก ยิ่งขึ้นผ่านการปล่อยเพลง ที่มีชื่อว่า ควันบุหรี่ ในปี พ.ศ.2558 ตลอดจนอัลบั้ม “ท้องฟ้าจำลอง” นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา Freehand ก็ได้ปล่อยซิงเกิลออกมาอย่างมากมาย และเป็นที่คุ้นหูของหนุ่มสาวที่ชื่นชอบการทำเพลงแนวดังกล่าว อาทิบทเพลง คุก (2563) มนุษย์ต่างดาว (2563) รสหวาน (2565) แบก (2565) กอด (2565) กลับมากอด (2565) ขอให้เธอใจดี (2566) คนเดียวกัน (2566) ปล่อยฝัน (2567) เป็นต้น


อย่างไรก็ตามสำหรับงานชิ้นนี้ผู้เขียนไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่จะศึกษาเพลงของวงดังกล่าวทั้งหมด หากแต่ผู้เขียนจะทำการศึกษาบทเพลงของวง Freehand ที่มีชื่อว่า “ควันบุหรี่” (2558) “คุก” (2563) “รสหวาน” (2565) “กลับมากอด” (2565) “ขอให้เธอใจดี” (2566) เพียงเท่านั้น โดยเป็นการวิเคราะห์และการตีความจากตัวบท ประกอบไปด้วย บทเพลง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอมิติด้านความรักที่ปรากฎในบทเพลงดังกล่าว ผ่านกรอบแนวคิดของโซเกรตีส เพลโต และเทวตำนานกรีกโรมัน เรื่อง คิวปิด และไซคี

มากไปกว่านั้นก่อนที่จะเข้าสู่เนื้อหาของบทความนี้ ผู้เขียนจะขออธิบายถึง “ความรัก” โดยสังเขปเสียก่อน เพราะความรักคือปรัชญา ความรักถือเป็นปรัชญาได้อย่างไร หากพิจารณาความหมายของคำว่าปรัชญา (Philosophy) จะพบว่ามีรากศัพท์มาจากภาษากรีกโบราณ ประกอบไปด้วยคำสองคำ คือ Philos แปลว่า ความรู้ กับ Sopia แปลว่า ความรัก อย่างไรก็ดีเมื่อผนวกคำทั้งสองเข้าด้วยกันเป็น Philosophy แปลได้ว่า ความรักในความรู้ จึงอธิบายได้ว่าปรัชญาก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับความรักแล้ว และความรักก็ถือเป็นปรัชญา (อมร โสภณวิเชษฐ์วงศ์, 2530; ปานทิพย์ ศุภนคร, 2540)

ยิ่งไปกว่านั้นโซเกรตีส (Socrates) นักปรัชญาการเมืองผู้โด่งดังก็ได้กล่าวถึงความรักไว้ได้อย่างน่าสนใจ “ความรักนั้น คือ ความกระหายวิญญาณของมนุษย์ที่จะเกิดขึ้นให้ถึงความงามอันเป็นทิพย์ ผู้ที่ตกอยู่ในความรัก ไม่เพียงแต่จะแสวงหาความงดงามเพียงอย่างเดียว แต่จะสร้างสรรค์ความงดงามขึ้นด้วย รักษาให้คงไว้ด้วย และเพาะพืชพันธุ์แห่งอมฤตภาพลงในร่างที่ไม่พ้นมรณะ”(อมร โสภณวิเชษฐ์วงศ์, 2530)

ในทำนองเดียวกันเพลโต (Plato) ได้เขียนถึงความรักในบทสนทนาที่มีชื่อว่า Phaedrus “ความรักคือเทพเจ้าที่เก่าแก่ที่สุด และมีอำนาจที่สุดพระองค์หนึ่ง ความรักคืออำนาจที่ทำให้คนหนุ่มสามัญกลายเป็นวีรบุรุษ กล่าวคือความรักเป็นพลังที่ทำให้มนุษย์มีศักยภาพมากขึ้น และเป็นแรงผลักดันให้การกระทำของมนุษย์เป็นไปได้ ดังที่ Phaedrus ให้เหตุผลรับรองว่าเอากองทัพที่สร้างขึ้นจากคนตกหลุมรักนี้มาให้ข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้าจะปราบโลกให้ได้ สำหรับ Phaedrus แล้ว เขาเชื่อว่าความรักมีพลังอำนาจดุจดังเทพเจ้าที่มีอำนาจอย่างที่สุดองค์หนี่ง” (SAI YEE JAN และคณะ, 2561)

พิจารณาปรัชญาความรักจากเทวตำนานกรีกและโรมัน เทวตำนานดังกล่าวเป็นเริ่องราวที่แต่งขึ้นมาประมาณ 1000 ปีก่อนคริสกาล ส่วนใหญ่ เป็นเรื่องเกี่ยวกับเทพเจ้า และเทพธิดาหลายองค์ซึ่งแต่ละองค์มีลักษณะเป็นตัวละคร ไม่ใช่เทพเจ้าทางศาสนา เรื่องราวต่างๆเหล่านี้มีปรัชญาที่น่าสนใจอยู่มาก รวมไปถึงลักษณะของการแต่งเรื่องซึ่งนำเอานามธรรมต่างๆ มาผูกเป็นเรื่องในลักษณะของรูปธรรม และบุคลาอธิษฐาน ดังเช่นเรื่อง คิวปิด (Cupid) และไซคี (Psyche) ของผู้แต่งชาวกรีกโรมันในคริสตวรรษที่ 2 ชื่อ อพูเลอูส (Apuleius) ประพันธ์ไว้ ซึ่งมีปรัชญาเกี่ยวกับความรักที่น่าสนใจอยู่มากมาย “Cupid” หรือกามเทพมีชื่อในภาษาละตินเอรอส (Eros) หรือตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า เลิฟ (Love) ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า ความรัก ขณะเดียวกันคิวปิด มีสถานะเป็นบุตรของวีนัส เทพธิดาแห่งความงาม และความรัก รวมไปถึงมีสถานะเป็นหลานของของเทพเจ้านามว่าซุส อย่างไรก็ตามแม้ซุสจะเป็นเทพเจ้าสูงสุดแต่ก็ยังค่อนข้างจะยำเกรงคิวปิด ด้วยเหตุที่ว่าเขามีอาวุธที่ทรงอนุภาพมากได้แก่ ธนู 3 ดอก อันมีชื่อว่า ปรารถนา (Desire) อิจฉา (Jealousy) และเศร้า (Sorrow) เรื่องราวความรักระหว่าง คิวปิด (Cupid) และไซคี (Psyche) นั้นพอจะสรุปได้ว่า ความรักแม้จะมองไม่เห็นก็แสนจะสวยงาม และสามารถรับรู้ได้ด้วยใจ ผลพวงจากความรักที่อยู่คู่กับจิตใจ เมื่อรักสมหวังก็คือความรื่นรมณ์ อย่างไรก็ดีผู้ที่ตกอยู่ในห้วงความรักย่อมหนีไม่พ้นอารมณ์สามประการ อันได้แก่ ปรารถนา อิจฉา และเศร้า (ตามชื่อของศร 3 ดอกของคิวปิด) คล้ายกับคำอธิบายของพุทธวจนะที่ว่า “ที่ใดมีรัก ที่นั้นมีทุกข์” ความรักจะไม่อยู่กับผู้ที่ปราศจากความไว้วางใจกัน และไม่มีใครสามารถห้ามความรักไม่ให้เกิดขึ้นได้ (จิราภรณ์ มาตังคะ, ม.ป.ป)


กล่าวโดยสรุปความรักถือเป็นปรัชญา พิจารณาได้จากรากศัพท์ของคำว่าปรัชญาประกอบไปด้วยคำว่าPhilos แปลว่า ความรู้ กับ Sopia แปลว่า ความรัก ผนวกรวมกันได้ว่าความรักในความรู้ ยิ่งไปกว่านั้น นักปรัชญาการเมืองคลาสสิคที่โด่งดังได้นิยามถึงความรักไว้ อาทิ โซเกรตีส (Socrates) ที่ให้คำอธิบายไว้ว่าผู้ที่ตกอยู่ในความรักไม่เพียงแต่จะแสวงหาความงดงามเพียงอย่างเดียว หากแต่จะสร้างสรรค์ความงดงามขึ้นมาด้วย ขณะเดียวกันเพลโต (Plato) นักปรัชญาการเมืองคนสำคัญก็ให้คำนิยามว่า ความรักเป็นพลังที่ทำให้มนุษย์มีศักยภาพมากขึ้น และเป็นแรงผลักดันให้การกระทำของมนุษย์เป็นไปได้ มากไปกว่านั้นเทวตำนานกรีก และโรมัน ที่ประพันธ์โดย อพูเลอูส (Apuleius) เรื่อง คิวปิด (Cupid) และไซคี (Psyche) ก็ให้คำอธิบายความรักผ่านความหมายของ ศรธนูทั้ง 3 ดอก ที่ครอบครองโดยคิวปิด อันประกอบไปด้วย ปรารถนา (Desire) อิจฉา (Jealousy) และเศร้า (Sorrow) หากพิจารณาจาก คำอธิบายข้างต้นแล้ว ความรักที่ผู้เขียนพยายามจะสื่อ จึงเปรียบเสมือนการสร้างสรรค์ความงดงาม และเป็นพลังที่ทำให้มนุษย์มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามความรักก็จะประกอบไปด้วยความปราถนา ความอิจฉา และความเศร้าด้วยเช่นกัน

ในลำดับถัดไปผู้เขียนจะนำแนวคิดในมิติด้านความรักจาก โซเกรตีส เพลโต และเทวตำนานกรีกโรมันเรื่องคิวปิด และไซคี มาพิจารณาเพลงบางส่วนของวง Freehand โดยจะเริ่มต้นจากเพลง “รสหวาน” บทเพลงดังกล่าวได้ปล่อยให้รับฟังทางแอปพลิเคชันยูทูป (Youtube) เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ.2565 สำหรับเนื้อหาภาพรวมของบทเพลงดังกล่าวเป็นการอธิบายถึงความรักของมนุษย์คู่หนึ่ง ที่เปรียบเสมือนของขวัญในช่วงชีวิตหนึ่ง กล่าวคือความรักก็คือรางวัลที่พิเศษ ดังตัวบทที่ว่า


“หากต้องย้อนไปลบทุกสิ่ง อาจไม่เข้าใจความสวยงาม

ในบาดแผล และความรัก ไม่เข้าใจ

ให้มันเป็นรอยแผลเก่า เก็บเรื่องราวเธอไว้

ให้มันคอยบอกฉันว่า ชีวิตที่เคยมีเธอมีค่า”

นอกเหนือจากนี้หากพิจารณา “ความรัก” ตามมุมมองของโซเกรตีส จะเห็นได้ว่าความรักที่ปรากฎใน ตัวบทดังกล่าวคือการแสวงหาความรัก ความรักที่วนเวียนอยู่ในช่วงชีวิต ถึงแม้ว่าจะดีหรือร้าย อย่างไรก็ตาม ความรักเปรียบเสมือนความสวยงามอันเป็นทิพย์ ยิ่งไปกว่านั้นตัวบทข้างต้นยังแสดงให้เห็นถึงการสร้างสรรค์ ความงาม ดังที่จะเห็นได้ว่าความรักมีทั้งบาดแผล และกลายเป็นรอยแผลในลำดับต่อมา ในทางตรงกันข้ามก็เลือกที่ไม่ย้อนกลับไปลบจินตภาพดังกล่าว ด้วยเหตุว่า ความรักที่เคยมีกันและกันคือชีวิตที่มีค่า เหตุนี้จึงชี้ให้เห็นว่ามีความพยายามจะสร้างสรรค์ความงามของความรัก ดั่งในบทเพลง “คุก” ที่เผยแพร่เมื่อวันที่12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 บทเพลงที่พยายามกล่าวถึงความรักที่ถูกขังไว้ในจินตนาการ เปรียบเสมือนพันธนาการที่ไม่สามารถละทิ้งได้ ดังที่ปรากฏในตัวบทว่า

“ให้อยู่อย่างนั้น ให้อยู่กับฉัน วนเวียนในฝัน ตลอดไป

อยู่กับรอยยิ้ม ยังเก็บเธอไว้ อยู่ในกล่อง ที่ไม่มีใครมองเห็น”


อย่างไรก็ดีไม่ว่าความรักจะพยายามสร้างสรรค์ความงามไว้อย่างไร แต่ความรักก็ได้ผลักดันให้มนุษย์มีแรงบันดาลใจในชีวิต ดั่งคำอธิบายของเพลโตที่ว่าความรักเป็นพลังที่ทำให้มนุษย์มีศักยภาพมากขึ้น และเป็นแรงผลักดันให้การกระทำของมนุษย์เป็นไปได้ ดังจะเห็นได้ในบทเพลง “ขอให้เธอใจดี” เผยแพร่เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ.2566 ที่มีเนื้อความว่า


“ในเมืองที่ไม่มีแสงดาว และมองไม่เห็นทาง

ในเมืองที่มีเพียงแสงไฟ ล่อให้เราดิ้นรน

กับฝันที่มันลวงหลอก ให้ฉันต้องเดินทางไกล

มีเพียงแค่เธอเพียงผู้เดียว ที่เป็นเหมือนทุกสิ่ง

พ่ายแพ้เจ็บปวดมาเท่าไร ขอแค่มีเธออยู่ ฉันก็พร้อมจะอยู่และไม่กลัวสิ่งใด”

เนื้อความดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าในเมืองที่ผู้คนเบียดเสียดกัน และเต็มไปด้วยสภาวะแวดล้อมต่างๆ “ความรัก” จาก “คนรัก” เปรียบเสมือนแรงผลักดันให้การกระทำของมนุษย์ยังคงดำเนินไปพร้อมที่จะดำรงชีพ อยู่ต่อ และไม่หวาดกลัวกับสิ่งใด สอดคล้องกับบทเพลง “กลับมากอด” เผยแพร่เมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ.2565 ดังตัวบทที่ว่า


“แต่อยากขอให้เธออยู่ด้วยกันเหมือนก่อน

อยากให้เธอกอดฉันไว้ ให้ใจที่แตกสลายคืนกลับมา

อยากขอให้เธออยู่ตรงนี้เหมือนเก่า

โอบกอดดวงใจที่พังทลาย เก็บจิตวิญญาณที่หายไปให้กลับมา”

ในทำนองเดียวกันตัวบทดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าชีวิตมนุษย์ที่แตกสลาย และดวงใจที่พังทลายได้พยายาม แสวงหาความรักจากคนรัก เพื่อที่จะฟื้นฟูชีวิตให้กลับมาเช่นเดิม จึงพิจารณาได้ว่าความรักจากบทเพลงข้างต้นเปรียบเสมือนแรงผลักดันของมนุษย์ให้ดำรงต่อบนร่างกายที่มีทั้งเรือนร่าง และวิญญาณไปพร้อมๆกัน


อย่างไรก็ตามหากพินิจผ่าน เทวตำนานกรีก และโรมัน ที่ประพันธ์โดย อพูเลอูส (Apuleius) เรื่อง คิวปิด (Cupid) และไซคี (Psyche) ที่กล่าวถึงความรักอันประกอบไปด้วย ความปรารถนา (Desire) ความอิจฉา (Jealousy) และความเศร้า (Sorrow) เมื่อพบเจอกับความรักที่มีความเบิกบานใจ ขณะเดียวกัน ก็จะพบเจอกับความปวดร้าว และความเศร้าใจ ไปพร้อมๆกัน ดั่งในบทเพลง “ควันบุหรี่” เผยแพร่เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2558 ดังที่ปรากฏในตัวบทว่า


“ฉันเรียนรู้ ฉันเรียนรู้ว่ารักคืออะไร

ฉันเข้าใจ ฉันเข้าใจทุกๆอย่างแล้ว

รักคือไฟ ที่แผดเผา แล้วมอดไป

เหลือเอาไว้ แค่เพียงเถ้าถ่าน”

หากพิจารณาจากตัวบทดังกล่าว จะเห็นได้ว่ามนุษย์ได้เรียนรู้ถึงความรักที่พบเจอ ถ้าความรักคือ การสร้างสรรค์ความงาม และเป็นพลังที่ทำให้มนุษย์มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น ในทางตรงกันข้ามความรักก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะพบเจอกับความปวดร้าวเช่นเดียวกัน จนกลายเป็นความโศกเศร้าที่ถูกไฟเผาจนเหลือเพียงแต่เถ้าถ่าน ทั้งทางกาย และทางใจ


โดยสรุปบทความเรื่อง “พินิจความรักในบทเพลงบางส่วนของวง Freehand ผ่านแนวคิดของ โซเกรตีส เพลโต และเทวตำนานกรีกโรมัน” เป็นความพยายามที่จะเสนอถึงมิติด้านความรักจากกรอบแนวคิดข้างต้น โดยเป็นการศึกษาผ่านบทเพลงบางประการของวง Freehand อย่างไรก็ตามบทความดังกล่าวเป็นเพียงการตีความแนวคิดของนักคิดที่ผู้เขียน หยิบยกมา รวมไปถึงเทวตำนานกรีกโรมันดังกล่าว ตลอดจนบทเพลงของ วง Freehand แบบหนึ่งของผู้เขียนเท่านั้น ซึ่งอาจจะแตกต่างไปจากหนังสือหรือบทเพลงที่ผู้อ่านเคยพบ และเคยฟัง อย่างไรก็ดีผู้เขียนหวังว่าบทความชิ้นนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านไม่มากก็น้อย



เอกสารอ้างอิง


จิราภรณ์ มาตังคะ. (ม.ป.ป.). ปรัชญาความรักจากเทวตำนานกรีก. เอกสารอัดสำเนา.


ปานทิพย์ ศุภนคร. (2542). ปรัชญาเบื้องต้น. กรุงเทพมหานคร. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.


อมร โสภณวิเชษฐ์วงศ์. (2529). ปรัชญาว่าด้วยความรัก. วารสารมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์. ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 ตุลาคม 2529-มกราคม 2530.


Sai Yee Jan. (2561). การศึกษาวิเคราะห์ความรักในทัศนะ อัลแบรต์ กามูส์. วารสารพุทธศาสตร์ศึกษา. ปีที่ 9 ฉบับที่ 1 มกราคม - มิถุนายน 2561.


เพลง


Freehand band. (2015, march 15). ควันบุหรี่ : FREEHAND. https://www.youtube.com/watch?v=IQiYZJaKZCc.


Freehand band. (2020, February 12). คุก (my) : FREEHAND. https://www.youtube.com/watch?v=J01HF73yM9U


Freehand band. (2022, June 15). รสหวาน : FREEHAND. https://www.youtube.com/watch?v=q3bWhsg9HH8


Freehand band. (2022, September 14). กลับมากอด : FREEHAND. https://www.youtube.com/watch?v=I3p3ZuARnJU


Freehand band. (2023, march 30). ขอให้เธอใจดี (May she be kind) : FREEHAND. https://www.youtube.com/watch?v=dQ1U2SGgoAg

















































Premium isolated images

พื้นที่ประชาสัมพันธ์

ขอเชิญรับฟัง Podcast จากสำนักพิมพ์ Crackers Books

และรับฟังทุกรายการได้ที่ crackersbooks.com/podcasts

Flat Youtube Icon

ติดต่อโฆษณา โทร 0953394114