Published by Crackers Books,

26 May 2024

https://crackersbooks.com/blogs

ถอดบทเรียนจากหลักสูตรอบรม

“เทคนิควิธีเชิงกลยุทธ์ในการพัฒนาการจัดเก็บรายได้ท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตภาคเหนือตอนล่าง”

รุ่นที่ 1


สันทราย วงษ์สุวรรณ


ถอดบทเรียนจากหลักสูตรอบรม “เทคนิควิธีเชิงกลยุทธ์ในการพัฒนาการจัดเก็บรายได้ท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตภาคเหนือตอนล่าง” รุ่นที่ 1


หลักสูตรอบรมเชิงปฏิบัติการ “เทคนิควิธีเชิงกลยุทธ์ในการพัฒนาการจัดเก็บรายได้ท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตภาคเหนือตอนล่าง” รุ่นที่ 1

เป็นโครงการวิจัยและให้คำปรึกษาการจัดการฝึกอบรมเทคนิควิธีเชิงกลยุทธ์ในการพัฒนาการจัดเก็บรายได้ท้องถิ่นให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตภาคเหนือตอนล่าง มหาวิทยาลัยนเรศวร หัวหน้าโครงการวิจัย ดร.ศิวาภรณ์ ไชยเจริญ อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้รับสนับสนุนทุนวิจัยโดย วิทยสถาน "ธัชภูมิ" เพื่อการพัฒนาระดับพื้นที่ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงาน สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)


ที่มาและวัตถุประสงค์ของการดำเนินการจัดโครงการอบรมในครั้งนี้


การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนารายได้ท้องถิ่นที่ผ่านมาพบว่า การพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับกลไกและเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสำหรับการบริหารจัดเก็บรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งชุดความรู้ดังกล่าวจะสามารถนำไปพัฒนาศักยภาพของบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการประยุกต์ใช้เครื่องมือเทคนิคและวิธีการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดเก็บรายได้ท้องถิ่นได้มากขึ้น ผลการศึกษาวิจัยดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการพัฒนาหลักสูตร “เทคนิควิธีเชิงกลยุทธ์ในการพัฒนาการจัดเก็บรายได้ท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตภาคเหนือตอนล่าง” โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ 4 ประการ ดังนี้

1) เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ ต่อยอด และปรับปรุงหลักสูตรฝึกอบรมเทคนิควิธีเชิงกลยุทธ์ในการพัฒนา การจัดเก็บรายได้ท้องถิ่นให้มีเนื้อหาที่สอดคล้องต่อความต้องการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มากยิ่งขึ้น

2) เพื่อการเผยแพร่และกระจายองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคนิควิธีเชิงกลยุทธ์ในการพัฒนาการจัดเก็บรายได้ท้องถิ่นแก่บุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอันนำไปสู่การทำแผนพัฒนาการจัดเก็บรายได้ที่สามารถนำไปใช้ได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม

3) เพื่อส่งเสริมการสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพทำให้เกิดเครือข่ายบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้าร่วมการฝึกอบรม และเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และประยุกต์ใช้เครื่องมือต่าง ๆ ในการพัฒนา การจัดเก็บรายได้ท้องถิ่น

4) เพื่อสร้างเครือข่ายระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสถาบันการศึกษา และเครือข่ายขอวิทยากรของหลักสูตรอบรมในการร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านการจัดเก็บรายได้ท้องถิ่นให้มีความต่อเนื่องและยั่งยืน


หลักสูตร REST ACADEMY NU67 จะดำเนินการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่บุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตภาคเหนือตอนล่าง รวมถึงภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคตะวันตก จำนวน 2 รุ่น รุ่นละ 3 วันได้แก่ รุ่นที่ 1 ในครั้งนี้ในระหว่างวันที่ 15-17 พฤษภาคม 2567 และ รุ่นที่ 2 ในระหว่างวันที่ 24-26กรกฎาคม 2567 ณ โรงแรมเดอะแกรนด์ริเวอร์ไซด์ จังหวัดพิษณุโลก โดยในรุ่นที่ 1 ในครั้งนี้มีบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 30 คน จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 8 แห่ง

กำหนดการวันที่ 1: เรียนรู้จากหลักการ แนวทาง และประสบการณ์ในการพัฒนารายได้ท้องถิ่น

กำหนดการวันที่ 2: แลกเปลี่ยนเรียนรู้เครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดเก็บรายได้ท้องถิ่น

กำหนดการวันที่ 3: ต่อยอดการพัฒนารายได้ทองถิ่นและเพิ่มขีดความสามารถในการจัดบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น


การจัดอบรมได้มีการจัดบรรยายพิเศษและเสวนาประกอบไปด้วย 6 ประเด็นหลักดังนี้


1.บรรยายพิเศษเรื่อง “สถานการณ์ความจำเป็นและเทคนิคการพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดเก็บรายได้ท้องถิ่น (REST Academy)”

โดย รศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและยกระดับขีดความสามารถในการจัดการภาครัฐและท้องถิ่น บพท.


2.เสวนาเรื่อง “การขยายฐานภาษีเพื่อพัฒนารายได้ท้องถิ่นจากการส่งเสริมเศรษฐกิจ และการสร้างรายได้จากทุนทรัพยากรและวัฒนธรรมของชุมชน”

โดย นายสมศักดิ์ อรุณสุรัตน์ ประธานสภาเทศบาลนครนครสวรรค์ และ นายวสันต์ มุนินทร นายกเทศมนตรีตำบลนครชุม จังหวัดกำแพงเพชร


3.การบรรยายหัวข้อ “การพัฒนารายได้จากการการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาเมือง: กรณีศึกษา กิจการประปาของเทศบาลนครพิษณุโลก”

โดย นายสมเกียรติ แสงสุวรรณ รองนายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก


4.การบรรยายหัวข้อ “เทคนิคการพัฒนาระบบข้อมูลและการบริหารจัดเก็บภาษีท้องถิ่นโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ” โดย อ.จตุรงค์ ศรีสุธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี ศูนย์การศึกษาบึงกาฬ


5.เสวนาเรื่อง “เทคนิคสะกิด (Nudge strategies) เพื่อเพิ่มความเต็มใจในการจ่ายภาษี”

โดย ดร.ภัคจิรา นักบรรเลง คณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร และ ดร.เฉลิมภัทร พงศ์อาจารย์ คณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร


6.เทคนิคการเขียนและนำเสนอโครงการเพื่อพัฒนารายได้และขีดความสามารถในการจัดบริการสาธารณะของท้องถิ่น

โดย ผศ. ชาญณวุฒ ไชยรักษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร


นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมอบรมจะได้ทำ Workshop โดยคณะผู้วิจัยได้แบ่งออกเป็น 5 ประเด็นดังนี้


Workshop 1: สำรวจและเรียนรู้กิจการประปาของเทศบาลนครพิษณุโลก โดย วิทยากรเทศบาลนครพิษณุโลก

- กิจการประปาของเทศบาลนครพิษณุโลก มีเทคนิควิธีการในการพัฒนารายได้ท้องถิ่นอย่างไร

- ปัจจุบัน อปท. ของท่านมีการริเริ่มลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานใดหรือไม่ และมีแนวทางการพัฒนารายได้ของท้องถิ่นอย่างไร

- ท่านจะนำองค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาดูงานในครั้งนี้ ไปพัฒนาต่อยอดใน อปท. ของท่านอย่างไร


Workshop 2: สำรวจและค้นหาโอกาส การขยายฐานภาษีและพัฒนาบริการสาธารณะของท้องถิ่น (โดยรถรางชมเมือง) โดย ทีมวิทยากร

- ปัจจุบัน อปท. ของท่านมีรูปแบบการจัดเก็บรายได้เพื่อการพัฒนาบริการสาธารณะของท้องถิ่นอย่างไร

- แนวทางการยกระดับศักยภาพด้านการขยายฐานภาษีและทิศทางการจัดเก็บรายได้ท้องถิ่นของ อปท. ท่านจะเป็นอย่างไรในอนาคต

- จากการวิเคราะห์ศักยภาพ อปท. ของท่านมีแนวทางพัฒนาการจัดเก็บรายได้ท้องถิ่นอย่างยั่งยืนประเภทใด โดยเรียงลำดับจากมาก->น้อย 3 ลำดับ


WORKSHOP 3 สร้างแพลตฟอร์มข้อมูล อปท.: Build your own platform

- ระบบอำนวยความสะดวกในการบริหารจัดเก็บภาษีที่ อปท. ดำเนินการในปัจจุบันเป็นอย่างไร?

- ในอนาคต ท่านอยากออกแบบระบบออนไลน์เพื่ออำนวยความสะดวกในการบริหารจัดเก็บรายได้ท้องถิ่นที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างไร?

- การออกแบบและสร้าง Application อย่างง่ายเพื่อการบริหารการจัดเก็บรายได้ท้องถิ่นโดยการประยุกต์ใช้ App Sheet


WORKSHOP 4 ออกแบบเครื่องมือสะกิดความเต็มใจจ่ายภาษี: Design your own nudging tool

- ความเต็มใจจ่ายภาษีของประชาชนในท้องถิ่นของท่านเป็นอย่างไร?

- ท่านจะออกแบบเครื่องมือกระตุ้นความเต็มใจจ่ายภาษีของประชาชนโดยการประยุกต์ใช้ทฤษฎีสะกิดเตือนด้วยมาตรการแบบใด?


Workshop 5 Develop your own proposal


คณะผู้วิจัยที่รับผิดชอบดำเนินการจัดโครงการดังกล่าวนี้ ได้มุ่งมั่นที่จัดการอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการพัฒนาแนวคิด เทคนิคและวิธีการใหม่ๆ ที่จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาการจัดเก็บรายได้ท้องถิ่น รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการจัดบริการสาธารณะให้แก่ประชาชนในแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้ โครงการอบรมนี้ยังได้ส่งเสริมการสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ โดยการพัฒนาเครือข่ายบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้าร่วมอบรมในหลักสูตร และยังเป็นการสร้างเครือข่ายระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา และเครือข่ายวิทยากรของหลักสูตรในการร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านการจัดเก็บรายได้ท้องถิ่นให้มีความต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไป กล่าวโดยสรุป ผลที่คาดว่าจะได้รับ หลังจากผ่านการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ผู้เข้ารับ การอบรมจะนำความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ที่ได้จากการฝึกอบรมไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนต่อการตอบสนองความต้องการในการจัดบริการสาธารณะของประชาชนในท้องถิ่นของท่านได้อย่างเต็มที่ ซึ่งคณะผู้วิจัยหวังว่าผลสำเร็จในการฝึกอบรมส่งทำให้ผู้อบรม 1.จำนวนรายได้ภาษีเพิ่มขึ้น 2.สามารถนำโครงการที่เกิดขึ้นจากการฝึกอบรมไปประยุกต์ใช้ได้จริง 3.สัดส่วนรายได้ภาษีที่เก็บได้จริงเทียบกับเป้าหมายประมาณการ 4.อัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้ภาษีเทียบต่อสภาวะเศรษฐกิจ


เบื้องต้นหลังจากการทำ WORKSHOP แต่ละกลุ่มตัวแทนจะมีผลงานกลุ่มละ 1 ผลงาน สำหรับการนำเสนอข้อเสนอโครงการเพื่อการพัฒนารายได้ท้องถิ่นและเพิ่มขีดความสามารถในการจัดบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กลุ่มละ 7-8 นาที) ประเมินผลและให้ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหัวหน้าโครงการวิจัยและให้คำปรึกษาการจัดการฝึกอบรมเทคนิควิธีเชิงกลยุทธในการพัฒนาการจัดเก็บรายได้ท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ 1) นายรักษ์สิทธิ์ เจริญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักคลัง เทศบาลนครพิษณุโลก 2) นายพิพัฒน์ วรสิทธิดำรง นายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย 3) ดร.ศิวาภรณ์ ไชยเจริญ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ ซึ่งการตัดสินจากคณะกรรมการหากโครงการใดที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กรและประชาชนจะได้รับคัดเลือก 3 อันดับ 1.รางวัลข้อเสนอโครงการยอดเยี่ยม ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลคลองคะเชนทร์ พร้อมเงินรางวัล 5,000บาท จังหวัดพิจิตร 2.รางวัลข้อเสนอโครงการดีเด่น ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี พร้อมเงินรางวัล 2,500 บาท 3.รางวัลข้อเสนอโครงการดีเด่น ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลย่านยาว จังหวัดสุโขทัย พร้อมเงินรางวัล 500 บาท ทั้งนี้ หลังจากรับรางวัลแต่ละกลุ่มจะได้รับการติดตามโครงการจากคณะผู้วิจัยซึ่งจะลงพื้นที่เพื่อสอบถามและให้คำแนะนำต่อโครงการที่ทำเป็นระยะ ๆ


ดังนั้น จะเห็นได้ว่า “ภาษี” เป็นแหล่งรายได้สำคัญของภาครัฐเพื่อใช้สำหรับการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ซึ่งรายได้ที่จัดเก็บได้จะช่วยให้รัฐบาลสามารถจัดทำบริการสาธารณะแก่ประเทศและประชาชน ตัวอย่างเช่น ระบบการศึกษา ระบบสาธารณสุข การจัดสวัสดิการขั้นพื้นฐาน รวมถึงการลงทุนในด้านต่าง ๆ และการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลมีรายได้ภาษีสูง ย่อมส่งผลถึงความสามารถของภาครัฐในการดำเนินนโยบายที่มีประสิทธิภาพมาก แต่หากรัฐบาลมีรายได้จากภาษีน้อย นั่นหมายถึงความลำบากที่รัฐบาลจะจัดหาแม้แต่บริการสาธารณะขั้นพื้นฐาน และเมื่อภาครัฐขาดรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่ายที่จะต้องดำเนินการในแต่ละกิจกรรม จนเกิดการกู้ยืมจะส่งผลต่อสถานะทางการคลังของรัฐบาลตลอดจนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย ฉนั้น ภาษีจึงสำคัญและทุกคนต้องจ่ายภาษี


สำหรับ “เทคนิควิธีเชิงกลยุทธ์ในการพัฒนาการจัดเก็บรายได้ท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตภาคเหนือตอนล่าง” รุ่นที่ 2 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-26 กรกฎาคม 2567 ณ โรงแรมเดอะแกรนด์ริเวอร์ไซด์ จังหวัดพิษณุโลก ทั้งนี้ อปท. ใดที่สนใจสามารสมัครมาได้ที่แบบลงทะเบียน


https://docs.google.com/forms/d/1xIrLabOyyGfN1oA9DtHUDlNNhbyqjVwb3VZ7HG1UN9w/viewform?ts=65efd86f&edit_requested=true&pli=1

รูปภาพบางส่วนจากงาน

Premium isolated images

พื้นที่ประชาสัมพันธ์

ขอเชิญรับฟัง Podcast จากสำนักพิมพ์ Crackers Books

และรับฟังทุกรายการได้ที่ crackersbooks.com/podcasts

Flat Youtube Icon

ติดต่อโฆษณา โทร 0953394114

Inbox now rectangle button call to action CTA drop shadow
Sleek Clean Monoline Decorative Click