Published by Crackers Books,

11 August 20​24

https://crackersbooks.com/blo​gs


Cracking Politics: 7 Terms Shaping Democracy

ถอดรหัสการเมือง: 7 คำชี้ชะตาประชาธิปไตย

ศิริโสภา สันติทฤษฎีกร

หลักสูตรรัฐศาสตร์ วิทยาลัยบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้






บทความนี้นำเสนอศัพท์ 7 คำสำคัญที่มีอิทธิพลต่อ“คุณภาพของประชาธิปไตย” การทำความเข้าใจคำเหล่านี้จะช่วยให้เข้าใจถึงความท้าทายที่พวกเราและ​การเมืองของพวกเรากำลังเผชิญอยู่ มาเริ่มที่คำแรกกันเลย


1. การสร้างความเข้มแข็งของระบอบอำนาจนิยม (Authoritarian consolidation) 🏰

  • ลองนึกภาพว่าคุณกำลังเล่นเกมบอร์ดเกมส์แล้วเพื่อนคุณพยายามเปลี่ยนกฎทุกครั้งที่เขาเสียเปรียบ นั่นแหละคือ “การสร้างความเข้มแข็งของระบอบ​อำนาจนิยม” มันเป็นวิธีที่ผู้นำอำนาจนิยมพยายามทำให้อำนาจของตัวเองมั่นคงขึ้น โดยใช้วิธีต่างๆ เช่น ควบคุมสื่อ กดดันฝ่ายตรงข้าม หรือแม้แต่แก้​กฎหมายให้เอื้อต่อตัวเอง
  • ในโลกการเมืองจริง เราอาจเห็นรัฐบาลออกกฎหมายจำกัดเสรีภาพสื่อหลังจากยุบพรรคฝ่ายค้าน หรือแต่งตั้งพรรคพวกมานั่งในตำแหน่งสำคัญๆ เช่น ​กรรมการการเลือกตั้งหรือศาลรัฐธรรมนูญ บางทีอาจถึงขั้นใช้กฎหมายความมั่นคงจับกุมนักเคลื่อนไหวที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล
  • เมื่อเห็นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน นั่นแหละ เขาอาจกำลังพยายามสร้างความเข้มแข็งให้ระบอบอำนาจนิยมเหมือนกับที่เพื่อนคุณพยายามทำทุกวิถี​ทางเพื่อให้ตัวเองได้เปรียบและอยู่รอดในบอร์ดเกมนั้น


2. การถดถอยของประชาธิปไตย (Democratic backsliding) 🌱

  • คิดถึง “ประชาธิปไตย” ว่าเหมือนต้นไม้ที่ต้องดูแลรดน้ำพรวนดิน ถ้าเราละเลย ต้นไม้มันก็จะค่อยๆ เหี่ยวแห้ง การถดถอยของประชาธิปไตยก็คล้ายๆ กัน ​มันเป็นกระบวนการที่ประเทศค่อยๆ สูญเสียความเป็นประชาธิปไตยไปทีละนิด จนบางทีเราอาจไม่ทันสังเกตด้วยซ้ำ
  • “การถดถอย” ที่ว่านี้ สังเกตได้จากการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การปิดกั้นสื่อสังคมออนไลน์ หรือการแทรกแซงสื่อโดยรัฐบาลควบคุม​เนื้อหาข่าวที่นำเสนอ นอกจากนี้ ยังอาจเห็นการบั่นทอนความเป็นอิสระขององค์กรตรวจสอบ เช่น ลดอำนาจของ ป.ป.ช. หรือการลดทอนความเป็นธรรม​ในกระบวนการเลือกตั้ง เช่น การแก้กฎหมายเลือกตั้งให้เอื้อประโยชน์ต่อพรรคใหญ่
  • ลองนึกภาพว่าวันนี้มีการจำกัดการชุมนุม อีกเดือนมีการแก้กฎหมายเลือกตั้งแปลกๆ แล้วองค์กรอิสระก็ถูกตัดงบ ระวังไว้เลย ประชาธิปไตยของเราอาจ​กำลังค่อยๆถดถอยก็ได้นะ


3. การลิดรอนสิทธิทางการเมือง (Disenfranchisement) 🚫

  • ลองนึกภาพว่าคุณอยู่ในห้องเรียนที่กำลังจะโหวตเลือกสถานที่ไปทัศนศึกษา แต่กลับมีกฎแปลกๆ ออกมา เช่น ครูประกาศว่านักเรียนที่เคยถูกทำโทษ​ต้องยืนรอนอกห้อง ไม่มีสิทธิ์โหวต นักเรียนที่ย้ายมาใหม่ต้องมีเอกสารพิเศษที่ขอยากและใช้เวลานานกว่าจะได้ถึงจะมีสิทธิออหความเห็นได้ เด็กจาก​ห้องเรียนอื่นที่มีความเห็นต่างถูกย้ายไปโหวตที่อาคารอีกฝั่งของโรงเรียน ทำให้ไปลำบาก และครูยังบอกว่าคนที่ได้คะแนนเฉลี่ยไม่ถึง 3.00 ไม่มีสิทธิ​โหวตเพราะ “ไม่เข้าใจเรื่องพวกนี้ดีพอ”
  • ในโลกการเมืองจริง การลิดรอนสิทธิทางการเมืองก็คล้ายๆ กัน แต่มีผลกระทบรุนแรงกว่ามาก อาจเกิดขึ้นในรูปแบบของการออกกฎหมายที่ทำให้คน​บางกลุ่ม เช่น คนยากจนหรือชนกลุ่มน้อย ลงทะเบียนเลือกตั้งได้ยากขึ้น บางครั้งอาจมีการย้ายหน่วยเลือกตั้งไปไกลจากชุมชนที่มักไม่สนับสนุนรัฐบาล ​ทำให้การไปใช้สิทธิเลือกตั้งยากลำบาก หรือแม้แต่การยุบพรรคการเมืองที่มีแนวคิดต่างจากรัฐบาล ทำให้ผู้สนับสนุนพรรคนั้นไม่มีตัวแทนในสภา
  • เมื่อคุณรู้สึกว่าเสียงของคุณไม่ได้รับการรับฟังหรือไม่มีใครเป็นตัวแทนความคิดของคุณในระบบการเมือง นั่นอาจเป็นสัญญาณว่าคุณกำลังโดนลิดรอน​สิทธิทางการเมืองแล้วล่ะ


4. ระบอบอำนาจนิยมที่มีการเลือกตั้ง (Electoral authoritarianism) ⚽️

  • นึกถึงการแข่งฟุตบอลที่กรรมการเข้าข้างทีมใดทีมหนึ่งอย่างโจ่งแจ้ง แต่ก็ยังจัดการแข่งขันอยู่ นี่แหละคือระบอบอำนาจนิยมที่มีการเลือกตั้ง คือมันมี​การจัดเลือกตั้งจริง แต่ทุกอย่างถูกควบคุมให้ฝ่ายที่มีอำนาจอยู่แล้วได้เปรียบ เหมือนกับการแข่งฟุตบอลที่กรรมการให้ใบแดงนักเตะทีมคู่แข่งบ่อยๆ โดย​ไม่มีเหตุผลชัดเจนหรืออนุญาตให้ทีมที่กรรมการเชียร์เตะจุดโทษบ่อยกว่าปกติ
  • ในทางการเมือง เราอาจเห็นรัฐบาลใช้เงินหลวงแจกชาวบ้านก่อนเลือกตั้งเพื่อซื้อคะแนนเสียง การที่สื่อถูกควบคุมให้นำเสนอข่าวแต่ด้านบวกของรัฐบาล​และโจมตีฝ่ายค้านอย่างหนัก การใช้กฎหมายความมั่นคงจับกุมแกนนำพรรคฝ่ายค้านก่อนการเลือกตั้ง หรือคณะกรรมการการเลือกตั้งถูกแทรกแซงให้​ตัดสิทธิผู้สมัครฝ่ายค้านด้วยข้อหาที่ไม่ชัดเจน
  • ถ้าคุณเห็นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นแม้จะมีการเลือกตั้ง นั่นอาจไม่ใช่การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมแล้วล่ะ


5. ประชาธิปไตยที่ไม่เสรีนิยม (Illiberal democracy) 🗳️

  • คิดถึงห้องเรียนที่ครูให้นักเรียนโหวตว่าจะทำอะไร พอเสียงส่วนใหญ่เลือกแล้ว ครูก็บังคับให้ทุกคนต้องทำตามโดยไม่สนใจความเห็นของคนกลุ่มน้อย​เลย นี่แหละคือประชาธิปไตยที่ไม่เสรีนิยม คือมันมีการเลือกตั้งจริง รัฐบาลมาจากเสียงข้างมากจริง แต่สิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยเฉพาะคนกลุ่ม​น้อยหรือฝ่ายค้านกลับถูกจำกัด โดยมักอ้างเสียงส่วนใหญ่เป็นความชอบธรรมสูงสุด
  • ตัวอย่างเช่น รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งใช้อำนาจยุบพรรคฝ่ายค้านที่วิจารณ์ตัวเอง ออกกฎหมายจำกัดการแสดงออกของกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วย บางที​อาจใช้นโยบายที่เอื้อประโยชน์แก่คนกลุ่มใหญ่แต่ละเลยสิทธิของชนกลุ่มน้อย หรือจำกัดเสรีภาพสื่อโดยอ้างว่าเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยตามความ​ต้องการของคนส่วนใหญ่
  • ลองจินตนาการว่าในการเลือกตั้ง พรรค A ชนะด้วยคะแนนเสียง 60% และได้เป็นรัฐบาล หลังจากนั้น พรรค A ออกกฎหมายห้ามการวิพากษ์วิจารณ์​นโยบายรัฐบาลในที่สาธารณะ โดยอ้างว่าเป็นความต้องการของคนส่วนใหญ่ที่เลือกพวกเขามา นี่คือตัวอย่างของประชาธิปไตยที่ไม่เสรีนิยม เพราะแม้​รัฐบาลจะมาจากการเลือกตั้ง แต่กลับละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน


6. การทำให้การเมืองเป็นเรื่องของศาล (Judicialization of politics) ⚖️

  • ลองนึกภาพว่าทุกครั้งที่มีข้อขัดแย้งในหมู่เพื่อน แทนที่จะคุยกันเอง แต่กลับต้องให้ครูมาตัดสินทุกเรื่อง อันนี้ก็คล้ายๆ กับการทำให้การเมืองเป็นเรื่องของ​ศาลนั้นแหละ มันเป็นสถานการณ์ที่ศาลเข้ามามีบทบาทตัดสินประเด็นทางการเมืองบ่อยขึ้นและมากขึ้น ปัญหาทางการเมืองที่ควรแก้ไขผ่าน​กระบวนการทางการเมืองหรือนโยบายสาธารณะกลับถูกนำไปสู่การพิจารณาของศาล ก็เลยทำให้ศาลกลายเป็นผู้กำหนดทิศทางทางการเมืองและ​สังคมไปเลยซะงั้น
  • ยกตัวอย่าง ศาลตัดสินว่าพรรคการเมืองไหนควรถูกยุบ ศาลเป็นคนตีความว่านโยบายของรัฐบาลขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือศาลเข้ามาตัดสินว่าการ​ชุมนุมทางการเมืองแบบไหนถูกกฎหมาย
  • ลองจินตนาการว่ามีการเสนอกฎหมายเพื่อปฏิรูประบบการศึกษา แต่เกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายค้าน ซึ่งแทนที่จะมีการอภิปรายและ​หาทางออกในรัฐสภา (ด้วยกระบวนการรัฐสภา) กลับมีการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่ากฎหมายนี้ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ แบบนี้ก็เลยทำให้ศาล​กลายเป็นผู้ตัดสินอนาคตของระบบการศึกษาแทนที่จะเป็นผู้แทนประชาชน นี่แหละคือการทำให้การเมืองเป็นเรื่องของศาล


7. การทำให้ศาลเป็นเรื่องการเมือง (Politicization of judiciary) 🏛️

  • ในทางกลับกันนะ ถ้าคุณเห็นนักการเมืองพยายามแทรกแซงการทำงานของศาล นั่นคือการทำให้ศาลเป็นเรื่องการเมือง เหมือนกับการที่นักฟุตบอล​พยายามเข้าไปมีอิทธิพลต่อการตัดสินของกรรมการ แต่ในกรณีนี้คือฝ่ายการเมืองพยายามแทรกแซงหรือมีอิทธิพลต่อการทำงานของศาลและมีความ​พยายามใช้ศาลเป็นเครื่องมือทางการเมือง แน่นอนว่ามันส่งผลให้ความเป็นอิสระและความน่าเชื่อถือของระบบยุติธรรมลดลง
  • ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ รัฐบาลพยายามแต่งตั้งผู้พิพากษาที่เห็นด้วยกับแนวคิดทางการเมืองของตนให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญ นักการเมืองวิพากษ์​วิจารณ์คำตัดสินของศาลอย่างรุนแรงเมื่อไม่เป็นประโยชน์กับฝ่ายตน มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจมากขึ้นในการแต่งตั้งหรือถอดถอน​ผู้พิพากษา หรือใช้สื่อที่สนับสนุนรัฐบาลโจมตีผู้พิพากษาที่ตัดสินคดีไม่เป็นประโยชน์กับฝ่ายรัฐบาล
  • สมมติว่ามีคดีทุจริตใหญ่เกี่ยวกับนักการเมืองระดับสูง ก่อนศาลจะตัดสิน รัฐบาลรีบออกกฎหมายให้ตนเองมีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนผู้พิพากษาได้​ง่ายขึ้น พร้อมส่งสัญญาณว่าถ้าตัดสินไม่ดี อาจมีผลต่อตำแหน่งของผู้พิพากษา การกระทำเหล่านี้ทำให้ความเป็นอิสระของศาลลดลง และทำให้ศาล​กลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง แทนที่จะเป็นสถาบันยุติธรรมที่เป็นกลาง นี่แหละคือ "การทำให้ศาลเป็นเรื่องการเมือง"


หวังว่าทั้ง 7 คำนี้จะช่วยให้เราเข้าใจการเมืองไทยได้มากขึ้น 💡

อย่าลืมนะ การเมืองไม่ใช่เรื่องของนักการเมืองหรือผู้ใหญ่เท่านั้น การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน 👨‍👩‍👧‍👦🤝

การเมืองคือวิถีชีวิต 🌟🗳️


อ่านเพิ่มเติม

Bermeo, N. (2016). On democratic backsliding. Journal of democracy, 27(1), 5-19.


Blauberger, M., & Martinsen, D. S. (2020). The Court of Justice in times of politicisation:‘law as a mask and shield’revisited. Journal of

European Public Policy, 27(3), 382-399.


Bogaards, M. (2009). How to classify hybrid regimes? Defective democracy and electoral authoritarianism. Democratization, 16(2), 399-​423.


Ferejohn, J. (2002). Judicializing politics, politicizing law. Law and contemporary problems, 65(3), 41-68.


Göbel, C. (2011). Authoritarian consolidation. European political science, 10, 176-190.


Uggen, C., & Manza, J. (2002). Democratic contraction? Political consequences of felon disenfranchisement in the United States.


American sociological review, 67(6), 777-803.


Zakaria, F. (1997). The rise of illiberal democracy. Foreign Aff., 76, 22.















Premium isolated images

พื้นที่ประชาสัมพันธ์

ขอเชิญรับฟัง Podcast จากสำนักพิมพ์ Crackers Books

และรับฟังทุกรายการได้ที่ crackersbooks.com/podcasts

Flat Youtube Icon

ติดต่อโฆษณา โทร 0953394114

Inbox now rectangle button call to action CTA drop shadow
Sleek Clean Monoline Decorative Click