Published by Crackers Books,

7 July 2024

https://crackersbooks.com/blogs


บทวิจารณ์หนังสือ (Book Review)


นี่แหล่ะฟาสซิสม์

How Fascism Works

เขียนโดย : ธนเชษฐ วิสัยจร

สำนักพิมพ์: บุ๊คสเคป

ปีที่พิมพ์ : 2566

จำนวนหน้า : 239 หน้า


วีรชน เกษสกุล

Weerachon Gedsagul

อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ สาขาวิชาการปกครอง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

E-mail : weerachon.g@ubu.ac.th







เกริ่นนำ


หนังสือ “นี่แหล่ะฟาสซิสม์” เป็นหนังสือที่ ธนเชษฐ วิสัยจร หัวหน้าสาขาวิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี แปลมาจากหนังสือที่ชื่อ ​“How Fascism Works” ของ Jason Stanley ศาสตราจารย์ด้านปรัชญาการเมือง จากมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยเยล (Yale University) ประเทศ​สหรัฐอเมริกา ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้คือการที่ผู้เขียน (Jason Stanley) ได้ตั้งข้อสังเกตว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีผู้นำทางการเมืองในหลายประเทศ ​ไม่ว่าจะเป็นรัสเซีย ฮังการี โปแลนด์ อินเดีย ตุรกี หรือแม้กระทั่ง สหรัฐอเมริกา เลือกที่จะใช้วิธีการบางประการของลัทธิฟาสซิสต์เป็นเครื่องมือหรือกลไกเพื่อที่จะ​ช่วยให้พวกเขาได้ก้าวขึ้นสู่การครองอำนาจและรวมไปถึงใช้เพื่อรักษาอำนาจนั้นไว้ด้วย


นอกจากนี้ Jason Stanley ยังอธิบายต่ออีกว่าหลังจากที่ผู้นำประเทศต่าง ๆ เหล่านั้นได้ก้าวขึ้นสู่อำนาจสำเร็จด้วยกลไกดังกล่าวแล้ว แม้พวกเขาจะไม่ได้​แสดงออกอย่างชัดเจนว่าพวกเขามีความพยายามจะนำรัฐไปสู่การปกครองแบบฟาสซิสม์ แต่อย่างไรก็ดีนั่นก็ยังคงเป็นสิ่งที่อันตราย

ดังนั้นเองในหนังสือเล่มนี้ Jason Stanley จึงพยายามที่จะนำพาท่านผู้อ่านไปรู้จักกับวิธีการหรือกลไกต่าง ๆ ของการเมืองแบบฟาสซิสต์ ซึ่งมียุทธศาสตร์​เฉพาะตัวหลายประการ อย่างเช่น อดีตที่สร้างจากตำนาน การโฆษณาชวนเชื่อ การต่อต้านความเป็นปัญญาชน ความจริงลวงตา ลำดับช่วงชั้น ภาวะตกเป็นผู้​ถูกกระทำ กฎหมายและความสงบเรียบร้อย ความหวาดวิตกในเรื่องเพศ การเรียกร้องให้กลับไปสู่ดินแดนใจกลาง และการล้มเลิกสวัสดิการสังคมและความเป็น​อันหนึ่งอันเดียว


อนึ่ง ก่อนที่กล่าวถึงสาระสำคัญของเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ เพื่อเป็นการทำความเข้าใจให้กับท่านผู้อ่านในเบื้องต้น ผู้รีวิวจึงอยากจะนำเสนอให้ผู้อ่านได้เข้าใจ​ถึงที่มาของวิธีคิดแบบฟาสซิสม์โดยสังเขป ดังต่อไปนี้


เริ่มต้นจากคำว่า "ฟาสซิสต์" (Fascism) ซึ่งคำดังกล่าวนี้เป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษาลาติน หมายถึง "มัดหวาย" ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจและความ​สามัคคี ในยุคโรมัน ขุนนางจะมีผู้ถือหวายนำหน้า และในยุโรปตะวันตก การเฆี่ยนด้วยหวายเป็นการลงโทษที่แสดงถึงการใช้อำนาจ มัดหวายจึงถูกนำมาใช้เป็น​สัญลักษณ์ของลัทธิฟาสซิสม์ ส่วนในฐานะที่เป็นอุดมการณ์ทางการเมือง “ฟาสซิสต์” (Fascism) ได้ก่อตัวในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ต่อกับต้นศตวรรษที่ 20 ​ภายใต้บริบทที่เศรษฐกิจทุนนิยมขยายตัวอย่างรวดเร็วพร้อมกับการเติบโตของลัทธิชาตินิยมและจักรวรรดินิยม ขณะเดียวกันแนวคิดแบบสังคมนิยมก็เพิ่มขึ้น​มากทั้งนี้ก็เพื่อที่จะตอบโต้กับแนวคิดแบบทุนนิยม ซึ่งบริบททางการเมืองของยุโรปในเวลานั้นเต็มไปด้วยสงครามของแนวคิดที่พยายามช่วงชิงพื้นที่ทางการ​เมือง การประท้วงและความขัดแย้ง ลัทธิฟาสซิสม์จึงเกิดขึ้นมาเพื่อที่จะแทนที่ชุดอุดมการณ์ทางการเมืองแบบเดิม หรือเพื่อเป็นอุดมการณ์ทางเลือกท่ามกลาง​ความแตกต่างหลากหลายของอุดมการณ์ทางการเมืองของยุโรปในเวลานั้น (2)


ด้วยเหตุดังกล่าว ลักษณะพิเศษของลัทธิฟาสซิสม์จึงเป็นการต่อต้านอุดมการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ ศาสนา และการศึกษาที่มีอิทธิพลในโลกตะวันตก​ทั้งหมด กล่าวคือไม่ว่าจะเป็นแนวคิดอนุรักษ์นิยม เสรีนิยม คอมมิวนิสต์ นานาชาตินิยม ประชาธิปไตย และระบบทุนนิยม รวมถึงรากฐานทางปรัชญาของยุค​สมัยใหม่อย่างเหตุผลนิยมและปฏิฐานนิยม นอกจากนี้ ยังต่อต้านชนชั้นต่าง ๆ ในสังคม เช่น นักวิชาการ ชนชั้นกลาง กรรมาชีพ และแนวคิดปัจเจกชนนิยม โดย​สาเหตุหลักที่ฟาสซิสต์ต่อต้านแนวคิดเดิมเหล่านี้ก็เพื่อที่จะสร้างแนวคิดใหม่ที่จะหล่อหลอมชาติให้เป็นหนึ่งเดียวและสร้างสังคมใหม่ขึ้น (3)


ทั้งนี้ หากกล่าวถึงผู้นำของลัทธิฟาสซิสม์ในอดีตหลายคนอาจจะนึกถึง “อดอล์ฟ ฮิตเลอร์” ผู้นำสูงสุดของพรรคนาซีในเยอรมนีเป็นอันดับแรกๆ แต่น้อยคนที่จะรู้​ว่าฮิตเลอร์นั้นมี “มุสโสลินี” ผู้นำกลุ่มฟาสซิสม์ในอิตาลีเป็นแบบอย่าง โดยการกระทำของมุสโสลินีก็กลายเป็นที่เฝ้าสังเกตของผู้นำจากหลายประเทศ ภายหลัง​จากที่เขาได้ยกระดับกลุ่มฟาสซิสต์จากเดิมที่มีสมาชิกเพียง 200 คน ขึ้นเป็นพรรคการเมืองในปี ค.ศ.1921 ซึ่งภายใต้บริบทดังกล่าวต่อมาฮิตเลอร์ได้นำเอา​แนวคิดหลายอย่างมุสโสลินีไปใช้ที่เยอรมนี และที่เห็นเด่นชัดคือ “ท่าทักทายแบบนาซี” ที่ฮิตเลอร์เอามาจากท่าทักทายของฟาชิสต์ในอิตาลีนั่นเอง (4)


อย่างไรก็ดี แม้ว่าต่อมาระบอบฟาสซิสม์ในอิตาลีและระบบนาซีในเยอรมันนีจะได้รับความพ่ายแพ้ภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่อิทธิพลที่ลัทธิ

ฟาสซิสม์ได้ทิ้งไว้แก่โลกก็ยังไม่สูญหายไปอย่างสิ้นเชิง ในบางครั้งบางโอกาสเราก็ยังคงจะเห็นการหวนกลับมาของกระแสความคิดที่เรียกว่า

“ฟาสซิสต์ใหม่” (5) (Neo - Fascism) ซึ่งหากเราอยากจะรู้เท่านั้นว่ารูปร่างหน้าตาของแนวความคิดดังกล่าวนั้นมีลักษณะเป็นอย่างไร หนังสือ “นี่แหล่ะฟาสซิ​สม์” จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะช่วยให้เราสามารถทำความเข้าใจรูปแบบหรือกลไกสำคัญของความคิดแบบฟาสซิสม์ที่หวนกลับมาอีกครั้งได้เป็นอย่างดี


สาระสำคัญของหนังสือนี่แหล่ะฟาสซิสม์


บทนำ : เนื้อหาในส่วนนี้นอกจากจะเป็นการเกริ่นนำให้ผู้อ่านได้เห็นถึงการปลุกชีพหรือการพยายามนำเอากลไกหลาย ๆ อย่างจากวิธีคิดแบบฟาสซิสม์กลับมาใช้​ในหลายประเทศ ความน่าสนใจอีกประการหนึ่งของเนื้อหาในส่วนนี้คือ การที่ผู้เขียน (Jason Stanley) ได้เล่าถึงภูมิหลังเกี่ยวกับครอบครัวของเขาที่อพยบหลบ​หนีออกมาจากเยอรมนีภายใต้บริบทของการปกครองโดยพรรคนาซี เพื่อที่จะมาลี้ภัยในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งในบริบทดังกล่าว (ทศวรรษที่ 1920 และ 1930) ​สหรัฐอเมริกากำลังอยู่ในช่วงของการกวดขันการจำกัดคนเข้าเมือง โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ไม่ใช่คนผิวขาวและที่เป็นชาวยิว แต่ครอบครัวของ Jason Stanley ใน​ฐานะที่เป็นหนึ่งในครอบครัวชาวยิวที่ได้รับโอกาสให้ผ่านเข้ามาได้ราวกับปาฏิหาริย์ จากภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของครอบครัวของเขาที่ได้กล่าวนั้นไปนั้น น่า​จะเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้ Jason Stanley ได้ผลิตหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา

อดีตที่สร้างจากตำนาน : เนื้อหาในส่วนนี้ผู้เขียนพยายามที่จะชี้ให้เห็นว่ากลไกสำคัญอย่างหนึ่งของการเมืองแบบฟาสซิสม์คือการสร้างอดีตที่สร้างขึ้นจาก​ตำนาน ซึ่งเมื่อพิจารณาในส่วนของโครงสร้างของตำนานปรัมปราก็จะเห็นได้ว่าในตำนานต่าง ๆ เหล่านั้นล้วนแล้วแต่มีโครงสร้างที่เหมือนกัน คือ เป็นตำนานที่​ว่าด้วยเรื่องราวของครอบครัวแบบชายเป็นใหญ่อย่างสุดโต่ง ยิ่งกว่านั้นตำนานเหล่านั้นยังมีความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกับมิติของความบริสุทธิ์เชิงศาสนา ความ​บริสุทธิ์เชิงเชื้อชาติ และความบริสุทธิ์เชิงวัฒนธรม ซึ่งเมื่อย้อนกลับมาพิจารณาในสังคมการเมืองแบบฟาสซิสม์ จะเห็นได้ว่าผู้นำของชาตินั้นเปรียบเสมือนกับผู้​เป็นพ่อในครอบครัวแบบผู้ชายเป็นใหญ่ตามจารีตประเพณี ซึ่งวิธีคิดดังกล่าวนี้มีความสัมพันธ์ที่ยึดโยงอยู่กับค่านิยมแบบอำนาจนิยม

สำหรับตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของการใช้กลไกดังกล่าว ผู้เขียนได้ยกกรณีของมุสโสลินีที่ได้แถลงในการชุมนุมฟาสซิสม์ในนครเนเปิลส์ ความว่า


“เราได้สร้างตำนานของเราขึ้นมา ตำนานนี้คือความศรัทธา คือแรงใฝ่ทะยาน และไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องจริง ...

ตำนานของเราคือชาติ ตำนานของเราคือความยิ่งใหญ่ของชาติ

และเรายอมพลีทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อตำนานนี้ ความยิ่งใหญ่นี้ ซึ่งเราต้องการแปลงให้เป็นความจริงโดยสมบูรณ์”


จากคำแถลงการณ์ดังกล่าวจะเห็นได้ว่าวิธีการสร้างหรือบิดเบือนข้อมูลโดยเฉพาะข้อมูลที่ยึดโยงกับตำนานหรือเรื่องเล่าเกี่ยวกับชาติ เป็นหนึ่งในกลไกที่การ​เมืองแบบฟาสซิสม์ใช้ในการจัดวางชุดความคิดให้กับผู้คนในสังคม ส่วนสถานการณ์ที่ผู้เขียนพยายามจะชี้ให้เห็นว่าร่องรอยของแนวความคิดดังกล่าวได้หวน​กลับมาอีกครั้งนั้น ได้ปรากฏในหลายประเทศเช่น ในโปแลนด์ภายหลังจากที่พรรคกฎหมายและความยุติธรรม (พรรคฝ่ายขวา) ชนะการเลือกตั้ง พวกเขาได้มี​ความพยายามในการเรียกร้องให้หวนกลับไปหาจารีตทางสังคมตามหลักของกลุ่มสมาชิกส่วนใหญ่ของพรรคที่มีความเกลียดชังการรักร่วมเพศ นอกจากนี้พวก​เขายังพยายามที่จะออกกฎหมายให้รัฐมนตรีมีอำนาจเต็มในการควบคุมสื่อ เป็นต้น


อนึ่ง นอกจากตัวอย่างดังกล่าว เนื้อหาในบทนี้ผู้เขียนยังพยายามที่จะเผยให้เห็นว่าร่องรอยของแนวความคิดทางการเมืองแบบฟาสซิสม์ที่หวนกลับมาอีกครั้งยัง​ปรากฏในอีกหลายประเทศ อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา ฮังการี อินเดีย ฝรั่งเศส เยอรมนี เป็นต้น


โฆษณาชวนเชื่อ : เนื้อหาในส่วนนี้ ผู้เขียนพยายามที่จะเผยให้เห็นว่าสื่อเป็นกลไกสำคัญที่นักการเมืองฟาสซิสต์ใช้ทำการโฆษณาชวนเชื่อเป็นเครื่องมือในการ​ควบคุมและบิดเบือนความเข้าใจของประชาชน นักการเมืองฟาสซิสต์ได้พยายามสร้างภาพลักษณ์ของศัตรูเพื่อปลุกปั่นความหวาดกลัวและความเกลียดชัง โดย​การใช้สื่อมวลชนในการเผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือน และสร้างอุดมการณ์ที่เข้มแข็งและครอบงำ ซึ่งวิธีการดังกล่าวเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้พวกเขารักษาอำนาจ​และลดทอนความสามารถของประชาชนในการแยกแยะความจริงจากข้อเท็จจริงที่บิดเบือน จากประเด็นดังกล่าวนี้ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการ​วิพากษ์สื่อและการเสริมสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในสังคมเพื่อต่อต้านการครอบงำทางอุดมการณ์ทางการเมืองแบบฟาสซิสต์


การต่อต้านปัญญาชน : สำหรับเนื้อหาในส่วนนี้ผู้เขียนได้พยายามที่จะอธิบายว่านักการเมืองฟาสซิสต์ได้ใช้การต่อต้านปัญญาชนเป็นเครื่องมือในการควบคุม​ความรู้และการรับรู้ของประชาชน โดยการโจมตีและบิดเบือนความรู้ที่ได้รับการยอมรับจากสถาบันการศึกษา ทำลายความน่าเชื่อถือของนักวิชาการ และ​สนับสนุนข้อมูลที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้เพื่อทำให้ประชาชนสับสนและไม่สามารถแยกแยะข้อเท็จจริงจากข้อมูลบิดเบือนได้ จากการสร้างวาทกรรมดังกล่าว​ทำให้ปัญญาชนดูห่างไกลจากประชาชน ซึ่งกลไกดังกล่าวนี้กลับไปช่วยส่งเสริมให้การแบ่งแยกและทำให้การควบคุมอุดมการณ์ของฟาสซิสต์มีประสิทธิภาพยิ่ง​ขึ้น


ความจริงลวงตา : เนื้อหาในส่วนนี้ผู้เขียนพยายามที่จะเสนอว่ากลไกสำคัญอย่างหนึ่งที่นักการเมืองฟาสซิสต์พยายามที่จะจัดวางชุดความคิดของพวกเขาคือ​การพยายามสร้างโลกที่ไร้ความจริงโดยพวกเขาจะทำการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนและทฤษฎีสมคบคิด ทำให้ประชาชนไม่สามารถแยกแยะความจริงจากเท็จได้ ​การบิดเบือนข้อเท็จจริงนี้มักทำลายความเชื่อถือในสื่อมวลชนและสถาบันที่น่าเชื่อถือ พร้อมกับสร้างความสับสนและความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน นักการ​เมืองฟาสซิสต์จะพยายามควบคุมการรับรู้ของประชาชนผ่านการเผยแพร่ข้อมูลที่สนับสนุนอุดมการณ์ของตนและอำพรางข้อมูลที่ไม่เป็นประโยชน์ คำอธิบายดัง​กล่าวผู้เขียนพยายามที่จะเน้นให้เห็นถึงความสำคัญของการรักษาความโปร่งใสและความจริงในสังคมเพื่อต่อต้านการครอบงำทางอุดมการณ์ของฟาสซิสต์


ลำดับช่วงชั้น : เนื้อหาในส่วนนี้ผู้เขียนพยายามที่จะเผยให้เห็นถึงการสร้างลำดับช่วงชั้นทางสังคมที่เข้มงวด และการใช้ประโยชน์จากความแตกต่างทาง​ชาติพันธุ์ ศาสนา และวัฒนธรรมเพื่อแบ่งแยกผู้คนในสังคม ซึ่งแนวความคิดทางการเมืองแบบฟาสซิสต์ได้สนับสนุนความเชื่อในเรื่องความเหนือกว่าของกลุ่มคน​บางกลุ่ม และใช้ความเชื่อเหล่านี้ในการสร้างความชอบธรรมให้กับการกดขี่และการข่มเหงกลุ่มคนที่ถูกมองว่าต่ำต้อยกว่า ซึ่งวิธีการดังกล่าวนี้ถือเป็นอีกหนึ่ง​กลไกสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับโครงสร้างอำนาจของนักการเมืองแบบฟาสซิสต์


ภาวะตกเป็นผู้ถูกกระทำ : สำหรับเนื้อหาในส่วนนี้ผู้เขียนได้ชี้เห็นถึงการที่ลัทธิฟาสซิสต์มักจะสร้างภาพให้ตนเองและกลุ่มของตนเป็นเหยื่อของการสมคบคิด​และการคุกคามจากภายนอก ซึ่งเป็นวิธีการที่ลัทธิฟาสซิสต์พยายามที่จะสร้างความรู้สึกถึงความเป็นเหยื่อเพื่อสร้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงและ​การละเมิดสิทธิมนุษยชน การสร้างภาพเหยื่อช่วยให้ลัทธิฟาสซิสต์สามารถระดมความสนับสนุนจากประชาชน และสร้างความรู้สึกถึงความเป็นอันหนึ่งอัน​เดียวกันในกลุ่มของตน


กฎหมายและความสงบเรียบร้อย : สำหรับเนื้อหาในส่วนนี้ผู้เขียนได้กล่าวถึงการใช้อำนาจทางกฎหมายเพื่อควบคุมและกดขี่ประชาชน โดยที่ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็น​ว่าลัทธิฟาสซิสต์มักจะใช้นโยบายที่อ้างว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย แต่แท้จริงแล้วเป็นการสร้างความหวาดกลัวและการควบคุมที่เข้มงวด ​การใช้อำนาจในทางที่ผิดและการบ่อนทำลายหลักนิติธรรมช่วยให้ลัทธิฟาสซิสต์สามารถรักษาอำนาจของตนได้อย่างมั่นคงและยาวนาน


ความหวั่นวิตกเรื่องเพศ : เนื้อหาในส่วนในนี้ผู้เขียนพยายามที่จะชี้ให้เราได้เห็นว่าลัทธิฟาสซิสต์มักจะใช้ความวิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องเพศเพื่อสร้างความ​แตกแยกและควบคุมสังคม ซึ่งการใช้เรื่องเพศและเพศวิถีเป็นเครื่องมือในการสร้างความเกลียดชังและความหวาดกลัว เป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่ลัทธิฟาสซิสใช้ ​โดยวิธีการดังกล่าวนั้นจะเห็นได้ในรูปแบบของการสนับสนุนบทบาททางเพศที่เข้มงวดและการกดขี่กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศเพื่อรักษาความ​สมบูรณ์ของสังคมที่พวกเขาต้องการ


นครโซดอมและกอมเมอร์ร่าห์ : เนื้อหาในส่วนนี้เป็นการกล่าวถึงการวาดภาพเมืองใหญ่และพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมว่าเป็นแหล่งเสื่อมโทรม​และไร้คุณธรรม โดยอุดมการณ์ทางการเมืองแบบฟาสซิสต์มักจะใช้การแบ่งแยกทางภูมิศาสตร์เพื่อสร้างความแตกแยกในสังคม และสนับสนุนแนวคิดที่ว่าพื้นที่​ชนบทและชุมชนที่เป็นเนื้อเดียวกันทางวัฒนธรรมมีความบริสุทธิ์และควรเป็นต้นแบบของสังคม การใช้ภาพลักษณ์เช่นนี้จะช่วยให้ลัทธิฟาสซิสต์สามารถสร้าง​ความชอบธรรมในการกีดกันและกดขี่กลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่ที่ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคาม


Arbeit Macht Frei: การงานสอบเสรีภาพ : เนื้อหาในส่วนสุดท้ายนี้เป็นการกล่าวถึงการใช้งานและแรงงานเป็นเครื่องมือในการควบคุมและกดขี่ประชาชน ​โดยชุดอุดมการณ์ทางการเมืองแบบฟาสซิสต์มักจะสร้างภาพลักษณ์ว่าการทำงานหนักเป็นคุณค่าที่สำคัญและใช้การทำงานเป็นเครื่องมือในการลงโทษและ​ควบคุมกลุ่มคนที่ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคาม ซึ่งบทนี้ผู้เขียนได้พยายามชี้ให้เห็นถึงการใช้แรงงานในลักษณะที่เป็นการบังคับและการสร้างความชอบธรรมให้กับ​การกดขี่ ซึ่งวิธีการดังกล่าวเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างอำนาจและการควบคุมของชุดอุดมการณ์ทางการเมืองแบบฟาสซิสต์


สรุป

สำหรับเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้เป็นการพยายามที่จะอธิบายและชี้ให้เห็นถึงถึงกลไกสำคัญและวิธีการที่ลัทธิฟาสซิสต์ใช้ในการเข้าถึงและรักษาอำนาจ โดยเน้น​การที่พวกเขาพยายามที่จะแบ่งแยกสังคมเป็น "พวกเรา" กับ "พวกเขา" ซึ่งผู้เขียน (Stanley) ได้หยิบยกประเด็นสำคัญ ๆ 10 ประการ ซึ่งประกอบด้วย อดีตที่​สร้างจากตำนาน โฆษณาชวนเชื้อ การต่อต้านปัญญาชน ความจริงลวงตา ลำดับช่วงชั้น ภาวะตกเป็นผู้ถูกกระทำ กฎหมายและความสงบเรียบร้อย ความหวั่น​วิตกเรื่องเพศ นครโซดอมและกอมเมอร์ราห์ Arbeit Macht Frei: การงานมอบเสรีภาพ โดยประเด็นทั้งหมดนี้ผู้เขียนได้เน้นให้เห็นถึงวิธีการที่นักการเมืองแบบ​ฟาสซิสต์ใช้ในการบ่อนทำลายสถาบันประชาธิปไตยสมัยใหม่และสิทธิมนุษยชนเพื่อควบคุมสังคมและเสริมสร้างอำนาจของพวกเขาเอง


เชิงอรรถ

[2] สมเกียรติ วันทะนะ. (2551). อุดมการณ์ทางการเมืองร่วมสมัย. กรุงเทพฯ: อักษรข้าวสวย. หน้า 138-142.

[3] กานต์ บุณนะกาญจนะ. (2564). รัฐศาสตร์ทั่วไป. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง. หน้า 90.

[4] สรรควัฒน์ ประดิษฐพงษ์. (2565). อิตาลี กับ 20 ปีในมือมุสโสลินี. The cloud : ออนไลน์. https://readthecloud.co/benito-mussolini/

[5] สมเกียรติ วันทะนะ. (2551). อุดมการณ์ทางการเมืองร่วมสมัย. กรุงเทพฯ: อักษรข้าวสวย. หน้า 137.


เอกสารอ้างอิง

กานต์ บุณยะกาญจน. (2564). รัฐศาสตร์ทั่วไป. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

ธนเชษฐ วิสัยจร. (2566). หนังสือ นี่แหละฟาสซิสม์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ Bookscape.

สมเกียรติ วันทะนะ. (2551). อุดมการณ์ทางการเมืองร่วมสมัย. กรุงเทพฯ: อักษรข้าวสวย.

สรรควัฒน์ ประดิษฐพงษ์. (2565). อิตาลี กับ 20 ปีในมือมุสโสลินี. The cloud : ออนไลน์.

สืบค้นเมื่อ 24 มิถุนายน 2567. จาก https://readthecloud.co/benito-mussolini/












Premium isolated images

พื้นที่ประชาสัมพันธ์

ขอเชิญรับฟัง Podcast จากสำนักพิมพ์ Crackers Books

และรับฟังทุกรายการได้ที่ crackersbooks.com/podcasts

Flat Youtube Icon

ติดต่อโฆษณา โทร 0953394114

Inbox now rectangle button call to action CTA drop shadow
Sleek Clean Monoline Decorative Click