ทำความรู้จักกับแนวความคิดที่ว่าด้วยการจัดวางความคิดทางการเมือง
ตอนที่ 2 : ทำความเข้าใจหลักการ “การกลับไปทบทวนความคิดที่ถูกจัดวางไว้แล้ว” (Installed)
วีรชน เกษสกุล
อาจารย์ประจำสาขาวิชาการปกครอง
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Weerachon.g@ubu.ac.th
เกริ่นนำ
ตามที่ผู้เขียนได้นำเสนอในสัปดาห์ที่ผ่านมาเกี่ยวกับการก่อตัวของแนวความคิดเรื่อง “การจัดวางความคิดทางการเมือง” แนวความคิดดังกล่าวถือเป็นนวัตกรรมทางความคิดที่วัชรพล พุทธรักษา ได้พยายามบูรณาการศาสตร์ทางรัฐศาสตร์กับศาสตร์ทางศิลปเข้าด้วยกัน โดยได้นำแนวความคิดและทฤษฎีของอันโตนิโอ กรัมชี่ มาผสมผสานกับหลักการบางประการของศิลปะแบบจัดวาง เพื่อสร้างเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้คนเข้าใจและสามารถนำแนวคิด/ทฤษฎีของอันโตนิโอ กรัมชี่ ไปใช้ได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังเป็นการทำให้แนวคิดและทฤษฎีของกรัมชี่มีความเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ผ่านการสร้างหลักการสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1. การกลับไปทบทวนความคิดที่ถูกจัดวางไว้แล้ว (Installed) 2. การรื้อถอนความคิดที่ถูกจัดวาง (Uninstallation) และ 3. การจัดวางความคิดใหม่ (Reinstallation) สำหรับบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนมีจุดมุ่งหมายที่จะนำเสนอให้เห็นถึงกระบวนการทำงานของหลักการ “Installed” หรือ “การกลับไปทบทวนความคิดที่ถูกจัดวางไว้แล้ว”
การกลับไปทบทวนความคิดที่ถูกจัดวางไว้แล้ว (Installed)
สำหรับหลักการเรื่อง “Installed”หรือ “การกลับไปทบทวนความคิดที่ถูกจัดวางไว้แล้ว” วัชรพล พุทธรักษา ต้องการที่จะชวนให้ผู้สนใจหรือผู้เชื่อว่าสังคมของเรามีการจัดวางความคิดอยู่จริง ได้ขบคิดหรือตั้งคำถามเพื่อให้เห็นร่องรอยว่าที่ผ่านมามีใครเป็นผู้จัดวางความคิดในสังคม มีการจัดวางชุดความคิดหรืออุดมการณ์ใดบ้าง ชุดความคิดหรืออุดมการณ์ทางการเมืองเหล่านั้นดำรงอยู่เพื่อผลประโยชน์ของใคร และการจัดวางนั้นมีกลไกหรือกระบวนการในการทำงานอย่างไร
อย่างไรก็ดี วัชรพลไม่ได้กำหนดหรือเสนอว่าการทบทวนความคิดที่ถูกจัดวางไว้แล้วควรพิจารณาอย่างไร ซึ่งเป็นความจงใจที่วัชรพลต้องการให้ผู้นำแนวความคิดดังกล่าวไปใช้อย่างอิสระ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละบริบท
สำหรับผู้เขียนเอง มักจะพิจารณาการกลับไปทบทวนความคิดที่ถูกจัดวางไว้แล้วผ่านกรอบแนวความคิดเรื่องกลุ่มประวัติศาสตร์ (Historical Bloc) และแน่นอนว่าการจะนำแนวความคิดนี้มาใช้ในการทบทวนความคิดที่ถูกจัดวางไว้แล้ว สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งคือการทำความเข้าใจแนวคิดเรื่อง “กลุ่มประวัติศาสตร์” ว่ามีหลักการสำคัญอย่างไรบ้าง ซึ่งในโอกาสนี้ผู้เขียนจะชวนท่านผู้อ่านมาทำความเข้าใจแนวความคิดดังกล่าวว่ามีความเป็นมาและสาระสำคัญอย่างไร
แนวความคิดที่ว่าด้วยกลุ่มประวัติศาสตร์ (Historical Bloc)
แนวคิดเรื่องกลุ่มประวัติศาสตร์ปรากฏครั้งแรกในงานเขียน "The Modern Prince" ของอันโตนิโอ กรัมชี่ โดยเขาได้พยายามแสดงให้เห็นถึงสภาวะที่ชนชั้นและกลุ่มต่าง ๆ ในสังคมมีความสัมพันธ์กันอย่างซับซ้อนในมิติด้านเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม และอุดมการณ์ ในขณะที่ลัทธิมาร์กซ์ใช้เกณฑ์การแบ่งแยกกลุ่มบุคคลในสังคมโดยใช้ผลประโยชน์เป็นตัวบ่งชี้ฐานะทางชนชั้น และมองว่าชนชั้นเป็นต้นตอของปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งเกณฑ์การแบ่งในลักษณะดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ของโครงสร้างส่วนล่าง กรัมชี่กลับเห็นว่าการอธิบายโดยใช้เกณฑ์ทางชนชั้นดังกล่าวมีลักษณะเป็นนามธรรมเกินไป กรัมชี่จึงเสนอการแบ่งกลุ่มที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยชี้ว่าในแต่ละช่วงเวลาของประวัติศาสตร์อาจเกิดกลุ่มก้อนทางประวัติศาสตร์ที่เกิดจากการร่วมมือกันของกลุ่มและชนชั้นต่าง ๆ เพื่อที่จะต่อสู้กับกลุ่มอื่น ๆ ลักษณะของกลุ่มประวัติศาสตร์จึงเป็นผลรวมของโครงสร้างต่าง ๆ ที่มาประกอบกันและเกิดเป็นเอกภาพเชิงซับซ้อนและขัดกันภายใน (complex and contradictory unity) ซึ่งมีการเกาะเกี่ยวทั้งในระดับแนวตั้ง (vertical) คือการข้ามระหว่างชนชั้น และระดับแนวราบ (horizontal) ที่เป็นกลุ่มย่อยทางชนชั้นภายในชนชั้นเดียวกัน อย่างไรก็ดี ไม่ว่ากลุ่มประวัติศาสตร์ในสังคมหนึ่ง ๆ ในชั่วขณะหนึ่งจะมีความสัมพันธ์กับผู้คนในกลุ่มพลังในสังคมอย่างไร แต่กลุ่มประวัติศาสตร์นั้น ๆ จะต้องเชื่อมโยงอยู่กับศักยภาพของกลุ่มพลังใหม่ และเป็นกลุ่มพลังที่ก้าวหน้า ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างกลุ่มประวัติศาสตร์ทางเลือกใหม่อยู่เสมอ (Gramsci, A., 1971, p. 137; กาญจนา แก้วเทพ, 2541, p. 88; วัชรพล พุทธรักษา, 2557, pp. 168–170; เก่งกิจ กิติเรียงลาภ, 2551, pp. 44–54)
กล่าวอีกนัยหนึ่ง “กลุ่มประวัติศาสตร์” มีลักษณะเป็นโครงสร้างขนาดใหญ่ที่เกิดจากการผนึกประสานกันของทุกชนชั้นอย่างมีเอกภาพระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ที่มีความขัดแย้งกัน แม้ว่าการรวมตัวนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบย่อย ๆ หรือแม้กระทั่งการเปลี่ยนแปลงอำนาจของกลุ่มก้อนทางอำนาจ (power bloc) จากกลุ่มหนึ่งไปสู่อีกกลุ่มหนึ่ง แต่กลุ่มก้อนทางประวัติศาสตร์ที่มีฐานะเป็นองค์รวมเชิงโครงสร้างภายใต้โครงสร้างขนาดใหญ่ก็ยังคงดำรงอยู่ (Adamson, W., อ้างถึงใน เก่งกิจ กิติเรียงลาภ, 2551: 48)
อนึ่ง ปัจจัยสำคัญของการเกิดขึ้นของกลุ่มประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ เป็นผลผลิตของการต่อสู้โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นภายในสังคม โดยเฉพาะในสภาวะที่เกิดการแบ่งขั้วทางชนชั้นอย่างชัดเจน ซึ่งสถาบันภายใต้โครงการทางการเมืองของรัฐไม่สามารถแก้ไขปัญหาหรือความขัดแย้งเหล่านั้นได้ (Jessop, B., 1985: 90–93)
ตัวอย่างของการนำแนวคิดว่าด้วยกลุ่มประวัติศาสตร์ (Historical Bloc) ไปใช้จริง
จากหลักการและแนวคิดทฤษฎีที่ได้อธิบายไปข้างต้น เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ผู้เขียนจะยกตัวอย่างการนำแนวความคิดดังกล่าวมาพิจารณาปรากฏการณ์ทางการเมืองภายใต้บริบทของการเปลี่ยนแปลงการปกครองสยามในปี พ.ศ. 2475
ทั้งนี้ หากเราพิจารณาจากคำอธิบายของนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และรัฐศาสตร์หลายคนที่พยายามสรุปจำนวนผู้เข้าร่วมก่อการครั้งนั้น เราจะพบว่าคำอธิบายต่อประเด็นดังกล่าวนั้นมีความหลากหลาย เช่น ชัยอนันต์ สมุทวณิช และพีรศักย์ จันทวรินทร์ บันทึกว่าสมาชิกคณะราษฎรมีทั้งหมด 99 คน (ชัยอนันต์ สมุทวณิช และพีรศักย์ จันทวรินทร์, 2525: 8-11) ขณะที่ชาญวิทย์ เกษตรศิริ บันทึกว่ามีสมาชิกทั้งหมด 102 คน ข้อมูลจาก พล.ท. ประยูร ภมรมนตรี บันทึกว่ามี 98 คน ธวัช มกรพงศ์ ระบุว่ามี 114 คน เอกสารจากหอจดหมายเหตุเลขที่ กจช.สร.0201.16/48 บันทึกว่ามี 101 คน (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, 2543: 218-239) และนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เสนอว่ามี 115 คน (นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, 2553: 469-473)
จะเห็นได้ว่าข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำนวนสมาชิกของคณะราษฎรนั้นมีหลายชุดข้อมูล ซึ่งแต่ละชุดข้อมูลได้นำเสนอข้อเท็จจริงที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่ทุกชุดข้อมูลพยายามนำเสนอมีลักษณะเหมือนกัน คือ การพยายามจำแนกและอธิบายว่าคณะราษฎรออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ สมาชิกคณะราษฎรสายทหารบก สมาชิกคณะราษฎรสายทหารเรือ และสมาชิกคณะราษฎรฝ่ายพลเรือน
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่าการจำแนกดังกล่าวยังคงอยู่บนฐานของผู้เข้าร่วมกระบวนการตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนกระทั่งถึงการเข้ายึดอำนาจในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 แต่หากพิจารณาจากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จะเห็นว่าสมาชิกที่เข้าร่วมกระบวนการมีช่วงเวลาในการเข้าร่วมก็มีความหลากหลาย อีกทั้งยังมีความแตกต่างในด้านแนวคิดและอุดมการณ์ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่นำไปสู่ความขัดแย้งภายในในเวลาต่อมา ต่อประเด็นดังกล่าวผู้เขียนมีข้อคิดเห็นว่าคำอธิบายว่าคณะราษฎรคือกลุ่มคนที่มาจาก 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ซึ่งประกอบด้วย สมาชิกคณะราษฎรสายทหารบก สมาชิกคณะราษฎรสายทหารเรือ และสมาชิกคณะราษฎรฝ่ายพลเรือน คือจุดเริ่มต้นของความคลุมเครือในคำอธิบายถึงความสัมพันธ์ต่าง ๆ ที่เกิดจากกลุ่มคณะผู้ก่อการที่มักจะถูกแทนที่ด้วยคำว่า “คณะราษฎร”
จากปัญหาในคำอธิบายเกี่ยวกับความเป็นคณะราษฎรภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ผู้เขียนได้นำเอาแนวความคิดของกรัมชี่เกี่ยวกับกลุ่มประวัติศาสตร์มาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างคำอธิบายต่อสถานะของคณะผู้ก่อการภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยหลักการสำคัญของแนวคิดดังกล่าวคือ การชี้ให้เห็นว่ากลุ่มประวัติศาสตร์มีลักษณะเป็นโครงสร้างขนาดใหญ่ที่เกิดจากการผนึกประสานกันของทุกชนชั้นอย่างมีเอกภาพระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ที่แตกต่างและขัดแย้งกัน แม้ว่าการรวมตัวนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบย่อย ๆ หรือการเปลี่ยนอำนาจของกลุ่มก้อนทางอำนาจ (power bloc) จากกลุ่มหนึ่งไปสู่อีกกลุ่มหนึ่ง แต่กลุ่มก้อนทางประวัติศาสตร์ที่มีฐานะเป็นองค์รวมเชิงโครงสร้างภายใต้โครงสร้างขนาดใหญ่ยังคงดำรงอยู่
เมื่อนำแนวความคิดดังกล่าวมาพิจารณากลุ่มของคณะราษฎร จะเห็นได้ชัดเจนว่าการรวมกลุ่มของคณะราษฎรก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น มาจากการประสานกันของกลุ่มพลังทางสังคมกลุ่มต่าง ๆ ที่มีความแตกต่างกันทางด้านอุดมการณ์ แต่กลุ่มต่าง ๆ เหล่านั้นถูกยึดโยงให้เป็นเอกภาพภายใต้เจตจำนงร่วมบางประการ แต่ภายหลังจากที่สามารถยึดอำนาจได้แล้วนั้น ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มพลังทางอำนาจ แต่องค์รวมเชิงโครงสร้างยังคงดำรงอยู่ แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มย่อย ๆ ภายในก็ตาม
กรอบในการพิจารณาคณะราษฎรผ่านแนวคิดกลุ่มประวัติศาสตร์ (Historical Bloc)
ดังนั้น ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง การจัดประเภทของสมาชิกคณะราษฎรตามที่นักประวัติศาสตร์และนักรัฐศาสตร์ได้เคยจัดเป็นกลุ่มหลัก ๆ สามกลุ่มจึงน่าจะมีวัตถุประสงค์เพื่อจำแนกให้เห็นอย่างชัดเจนว่าแต่ละคนมีสังกัดมาจากหน่วยหรือกลุ่มพลังทางสังคมที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาผ่านกรอบแนวคิดกลุ่มประวัติศาสตร์จะเห็นได้ชัดยิ่งขึ้นว่ากลุ่มพลังทางสังคมต่าง ๆ ภายในคณะราษฎรรวมตัวกันเพียงเพื่อเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อให้บรรลุจุดประสงค์บางประการ ซึ่งแต่ละกลุ่มมีแนวความคิดและอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน ดังนั้น เมื่อพิจารณาภายในกลุ่มคณะราษฎรจะเห็นได้ว่าประกอบด้วยอนุภาคย่อย ๆ หลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มมีการเลื่อนไหลไปมาอยู่เสมอ กล่าวได้ว่าภายในโครงสร้างของคณะราษฎรไม่มีลักษณะแข็งทื่อ แต่มีความเลื่อนไหลไปมาตั้งแต่การก่อตั้งจนกระทั่งการสิ้นสุดลงของขบวนการดังกล่าว
อนึ่ง หากพิจารณาจากการปรากฏครั้งแรกของแนวคิดกลุ่มทางประวัติศาสตร์ในงานเขียนเรื่อง The Modern Prince ของกรัมชี่ จะเห็นได้ว่ากรัมชีพยายามชี้ให้เห็นว่ากลุ่มก้อนทางประวัติศาสตร์คือเอกภาพระหว่างธรรมชาติและจิตวิญญาณ เป็นเอกภาพของสิ่งที่แตกต่างกัน หากนำมโนทัศน์ดังกล่าวมาพิจารณาต่อสถานะของสมาชิกคณะราษฎร สามารถอุปมาได้ว่าเหมือนกับการที่สมาชิกคณะราษฎรแต่ละคน แต่ละกลุ่ม ได้ร่วมเดินทางไปในขบวนรถไฟเดียวกัน แต่บางคน บางกลุ่ม ต่างก็มีสถานีปลายทางของตนที่ต่างกันออกไป (โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน วีรชน เกษสกุล, 2566)
เอกสารอ้างอิง
Gramsci, A. (1971). Selections from the Prison Notebooks (Q. Hoare & G. Nowell-Smith, Eds. and Trans.). New York: International Publishers.
Jessop, B. (1985). Nicos Poulantzas: Marxist Theory and Political Strategy. London: Macmillan.
เก่งกิจ กิติเรียงลาภ. (2557). การเมืองว่าด้วยการต่อสู้ทางชนชั้นในประเทศไทยจาก พ.ศ.2535 ถึง พ.ศ.2549.วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชารัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ชัยอนันต์ สมุทรวณิช และ พีรศักย จันทวรินทร์.(2525). ข้อมูลพื้นฐาน กึ่งศตวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองไทย. กรุงเทพมหานคร: เจ้าพระยาการพิมพ์.
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. (2543). 2475 : การปฏิวัติสยาม. มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.
นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. (2553). การปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน.
วัชรพล พุทธรักษา. (2561). อันโตนิโอ กรัมชี่ กับการจัดวางความคิดทางการเมือง ปรัชญาปฏิบัติ การเปลี่ยนแปลงทางสังคม และการปลดปล่อยมนุษย์. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์สมมติ
วีรชน เกษสกุล. (2566). การจัดวางความคิดทางการเมืองของกลุ่มคณะราษฎร พ.ศ. 2475 – 2490. วิทยานิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร.
พื้นที่ประชาสัมพันธ์
ขอเชิญรับฟัง Podcast จากสำนักพิมพ์ Crackers Books
และรับฟังทุกรายการได้ที่ crackersbooks.com/podcasts
ติดต่อโฆษณา โทร 0953394114