Published by Crackers Books,

9 June 2024

https://crackersbooks.com/blogs

ปัญหาการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของพม่าหลังการรัฐประหาร ปี ค.ศ. 2021

นลินภา จอมมงคล / ปัณณพัชร สายสงค์ / รัชฎาพร ปุดเหียง/ วณิชญา นุชวงษ์/ กอปรพร พานจำปี/ ธัญวรัตม์ สัมฤทธิ์ผ่อง

นิสิตหลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา


บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทความวิชาการ เรื่อง “ทิศทางการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย หลังการรัฐประหารพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย” นำเสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ ศาสตร์ด้านรัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ และนิติศาสตร์ สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน (PAL 2024) วันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 ณ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่

http://psl.polsci-law.buu.ac.th/pal2024/


เหตุการณ์ทางการเมืองในประเทศพม่าในปัจจุบันยังคงคุกกรุ่น ทั้งการหยุดชะงักของการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยในพม่าตั้งแต่ภายหลังการเลือกตั้งปี ค.ศ. 2020 การทำรัฐประหารของทหาร ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ และการปะทะกันระหว่างกลุ่มต่างๆ นำมาซึ่งเหตุการณ์ที่สร้างบาดแผลให้กับประชาชนพม่า และแม้ว่าประเทศพม่าเองจะยังไม่เคยเกิดสิ่งที่เรียกว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยเลยก็ตาม แต่ความหวังของการต่อสู้ก็ไม่เคยมอดดับไป ประชาชนยังคงต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย อิสรภาพ สิทธิมนุษยชน รวมทั้งสิทธิทางวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ที่ดำรงอยู่อย่างเป็นพหุสังคมในประเทศพม่ามาตลอดหลายปี บทความนี้มุ่งศึกษาปัญหาในการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยที่ยากจะเกิดขึ้นของพม่าภายหลังการรัฐประหารพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ในปี ค.ศ. 2021 โดยศึกษาจากปัจจัยภายใน ได้แก่ ปัญหาความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในประเทศพม่า และการแทรกแซงของทหารในการเมือง รวมทั้งปัจจัยจากตัวแสดงภายนอกประเทศต่างๆ ดังจะได้กล่าวต่อไปนี้


ปัจจัยภายในที่ส่งผลต่อความเป็นประชาธิปไตยในพม่า ได้แก่ ประการแรก ปัญหาความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ในประเทศพม่าอันเนื่องมาจากภูมิหลังของความหลากหลายทางชาติพันธุ์และศาสนา เช่น ความล้มเหลวในการได้รับสิทธิและอธิปไตยในการปกครองตนเองของชาติพันธุ์ต่างๆ ภายหลังการเจรจาและสร้างข้อตกลงปางหลวงปี ค.ศ. 1946 ที่นำโดยนายพลออง ซาน นำมาซึ่งการปราบปรามชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ที่เรียกร้องอิสรภาพของรัฐบาลอูนุ ต่อเนื่องจนถึงเหตุการณ์สงครามกลางเมือง ในปี ค.ศ. 1962 ซึ่งเปิดช่องให้กองทัพอ้างความชอบธรรมในการเข้ามาทำรัฐประหารเพื่อระงับเหตุสงครามกลางเมืองในเวลาต่อมา การประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญรวมถึงข้อตกลงปางหลวง รวมทั้งประกาศใช้นโยบายวิถีพม่าสู่การนำแนวคิดชาตินิยม สังคมนิยม และพุทธศาสนาผนวกเข้าไว้ด้วยกันของนายพลเนวิน นอกจากนี้ ยังรวมถึงข้อจำกัดของผู้ปกครองตามกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ. 2008 การบ่มเพาะความเป็นอื่นแก่ชาติพันธุ์ที่ต่างไปจากพม่า ความพยายามในการดำเนินกระบวนการทำให้เป็นพม่า ดังจะเห็นได้จากประเด็นความขัดแย้งกับชาวโรฮิงญา ที่รัฐพม่าเชื่อว่าไม่ใช่กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศ แต่เป็นกลุ่มคนจากเมืองจิตตะของบังคลาเทศและจากอินเดียที่อพยพเข้ามาในรัฐอาระกัน ตั้งแต่เจ้าอาณานิคมอังกฤษเข้ายึดครองพม่าเมื่อปี ค.ศ. 1824 (เอนกชัย เรืองรัตนากร, 2558)


ประการที่สอง ปัญหาความไม่ต่อเนื่องทางการเมืองและการแทรกแซงของทหารในทางการเมือง ประเทศพม่าได้อยู่ภายใต้ความเผด็จการทหารมานาน ตั้งแต่ นายพลเนวิน ขึ้นมาบริหารประเทศโดยใช้สภาปฏิวัติ (Revolutionary Council) ในช่วงปี ค.ศ. 1962-1988 เป็นกลไกในการบริหารประเทศชั่วคราว และได้จัดตั้งพรรคการเมืองชื่อ “พรรคโครงการสังคมนิยมวิถีพม่า” (Burmese Socialist Programme Party: BSPP) ดำเนินการปกครองภายใต้การรวมศูนย์อำนาจ ในแนวคิด “ทหารนิยม” “ชาตินิยม” “สังคมนิยม” และ “โดดเดี่ยวนิยม” ในช่วงการปกครองของนายพลเนวิน ได้กำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจเพื่อผลักดันให้ประเทศเป็นอุตสาหกรรมแบบสังคมนิยม มีการยกเลิกค่าเงินธนบัตร ส่งผลให้เกิดปัญหาเงินทุนหมุนเวียนในตลาดและเกิดปัญหาทางด้านค่าครองชีพ ปัญหาการจ้างงานและตกงาน ทำให้เกิดการจลาจล การประท้วงของนักศึกษา ชนกลุ่มน้อยและคณะสงฆ์ เป็นเหตุการณ์ที่นายพลเนวิน รับความกดดันไม่ไหวจึงประกาศลาออก ในวันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ. 1988 และมอบให้ นายพลเส่ง ลวิน ทำหน้าที่แทน ต่อมาในวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1988 หรือเรียกเหตุการณ์นี้ว่า ‘เหตุการณ์ 8-8-88’ โดยประชาชนนัดหมายกันหยุดงานปิดถนนเดินประท้วง เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย จนท้ายที่สุด วันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ. 1988 นายพลเส่ง ลวิน ลาออกจากการเป็นผู้นำ และถือว่าเป็นการสิ้นสุดการปกครองของยุคนายพลเนวิน ในปี ค.ศ. 1988 (มนตรี กรรพุมมาลย์, 2023)


อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศพม่าจะมีการจัดการเลือกตั้งมาโดยตลอด แต่ก็อยู่ภายใต้การดุลอำนาจระหว่างกองทัพและการเมือง เช่น การเขียนรัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ. 2008 ภายใต้การชี้นำของสภาทหาร โดยในรัฐธรรมนูญมีข้อกำหนดไว้ว่า สภาผู้แทนราษฎรและสภาชาติพันธุ์ต้องมาจากการเลือกตั้ง 75% และโควตาอีก 25% ต้องเป็นที่นั่งของคนในกองทัพ ต่อมาในปี ค.ศ. 2016 ประเทศพม่ามีความเจริญทางเศรษฐกิจมากขึ้นภายใต้การบริหารประเทศของนายเต็ง เส่ง โดยมีนางออง ซานซูจี เป็นที่ปรึกษา มีการเปิดประเทศรับการลงทุนจากนายทุนหลายประเทศให้เข้ามาทำการค้า ต่อมาในปี ค.ศ. 2020 ได้มีการจัดการเลือกตั้งขึ้น พรรคที่ชนะการเลือกตั้งคือ พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย: NLD นำโดยนางออง ซานซูจี เป็นผู้นำพรรค ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงแบบแลนสไลด์


สถานการณ์ของประเทศพม่าที่ดูเหมือนกำลังจะเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตย แต่ในเวลาไม่นานประเทศพม่าก็หวนคืนกลับมาสู่การปกครองภายใต้การบริหารประเทศโดยทหารอีกครั้ง ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2021 ได้เกิดการรัฐประหารขึ้นจากกองทัพพม่า นำโดยนายพล มิน อ่อง หล่าย เหตุผลในการทำรัฐประหารในครั้งนี้ ทางกองทัพได้อ้างว่าพรรค NLD ได้มีการโกงคะแนนเสียงเลือกตั้ง แต่จากการศึกษาพบว่าสาเหตุของการเข้ามาของกองทัพ อาจเป็นไปด้วยปัจจัยภายในที่ว่าด้วยการกลัวเสียผลประโยชน์ของทางกองทัพ เนื่องด้วยนางออง ซาน ซูจี มีอุดมการณ์ในการปฏิรูปกองทัพเพื่อให้ประเทศได้ออกจากความเผด็จการ อีกทั้งความหวาดกลัวในการรวมกันของชาติพันธุ์ในประเทศพม่าที่ นางออง ซาน ซูจี ได้เข้าร่วมการประชุมหารือในสัญญาปางหลวงอีกครั้ง


ในปี ค.ศ. 2016 นายพลมิน อ่อง หล่าย ได้ทำการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจในส่วนกลาง โดยการจัดตั้งสภาทหาร (junta) ในชื่อสภาบริหารแห่งรัฐ (State Administration Council) ทำหน้าที่ในการควบคุมกำกับ และชี้นำการบริหารประเทศ ซึ่งในปัจจุบันประเทศพม่าได้อยู่ภายใต้เผด็จการทหารที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงและยังเกิดการต่อสู้ระหว่างกองทัพพม่ากับเหล่าชาติพันธุ์ติดอาวุธ เช่น กองกำลังพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติพม่า กองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติตะอั้ง กองกำลังอารากัน กองกำลังพิทักษ์ประชาชน (The People’s Defense Froce : PDF) อยู่เป็นนิจ กล่าวโดยสรุป ทหารมีบทบาทสำคัญในการแทรกแซงทางการเมืองของพม่ามาโดยตลอด โดยเฉพาะผ่านการกำหนดในรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ให้มีที่นั่งของกองทัพในการบริหารประเทศ ทำให้ยากที่พม่าจะออกจากวังวนของความเป็นเผด็จการดังกล่าว


สำหรับปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อการเป็นประชาธิปไตยของพม่า เราจะพบว่าสถานการณ์ภายในประเทศพม่าทั้งการรัฐประหาร รวมถึงการลิดรอนสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เช่น การกักขังกลุ่มนักเคลื่อนไหวทางการเมือง และการจำกัดสิทธิในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ล้วนแล้วแต่เป็นที่รู้กันดีในชุมชนนานาชาติว่ามีความรุนแรงและมิอาจยอมรับได้ ส่งผลให้มีมาตรการคว่ำบาตรพม่าจากทั่วโลกอยู่เป็นระยะๆ (เกียรติชัย พงษ์พาณิชย์, 2536) ท่าทีต่างๆ ของนานาชาติที่ต้องการกดดันรัฐบาลทหารพม่า เช่น ในปี ค.ศ. 2021 หลังจากมีการรัฐประหารล่าสุด กลุ่มประเทศ G7 ได้ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลและเรียกร้องให้พม่ากลับสู่การเป็นประชาธิปไตยโดยเร็ว สหรัฐอเมริกาได้ออกมาตรการคว่ำบาตรรัฐบาลทหารพม่า โดย โจ ไบเดน ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาเรียกร้องให้พม่ายุติการใช้ความเป็นเผด็จการทั้งหมดกับประชาชน สหรัฐอเมริกาประกาศคว่ำบาตรทางการเงินของผู้นำทางการทหารในคณะรัฐประหารที่เรียกกันว่า สภาบริหารแห่งรัฐเมียนมา SAC (Sate Administration Council) จำนวน 10 ราย หนึ่งในนั้นมี นายพลมิน อ่อง หล่าย รวมอยู่ด้วย องค์กรด้านการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐ (United States Agency for International Development : USAID) ออกมาแถลงว่าจะตัดงบประมาณที่ช่วยเหลือประเทศพม่าเกี่ยวกับรัฐบาลเผด็จการประมาณ 1,200 ล้านบาท ทางด้านของสหราชอาณาจักร นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ได้กล่าวประณามรัฐประหารและการคุมขัง อองซาน ซูจี อย่างผิดกฎหมาย (USAID from the American people, 2021)


อย่างไรก็ดี แรงกดดันจากนานาประเทศดังกล่าว ก็ยังไม่เพียงพอที่จะผลักดันให้พม่าเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นประชาธิปไตยเท่าใดนัก รัฐบาลทหารพม่ายังคงออกแถลงการณ์ถึงกลุ่มผุ้ชุมนุมต่อต้านรัฐประหารพม่า และเรียกร้องประชาธิปไตยว่าเห็นแก่ตัว ไม่คำนึงถึงความสงบสุขของประเทศ รวมทั้งได้มีการดำเนินนโยบายปล่อยนักโทษ 20,300 คน ซึ่งไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าปล่อยเพื่ออะไร เพียงแต่อ้างว่าปล่อยเพื่อสร้างความเป็นประชาธิปไตย เหตุผลการปล่อยนักโทษนี้มีข้อขัดแย้งอย่างมาก เพราะมีการจับกุมประชาชนในคดีทางการเมืองไปแล้วกว่า 400 คนในเวลานั้น การปล่อยนักโทษดังกล่าวถูกมองว่า มิน อ่อง หล่าย ต้องการให้นักโทษมาเป็นกองกำลังนอกรูปแบบในการไล่ล่า หรือรุมทำร้ายกลุ่มผู้เรียกร้องประชาธิปไตย เช่นเดียวกับนโยบายที่เคยเกิดขึ้นใน ปี ค.ศ.1988 ในเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงของนักศึกษาและภาคประชาชนที่ไม่พอใจระบอบเผด็จการทหาร ทำให้นักวิชาการหลายท่านมองว่าปัจจัยภายนอกไม่ได้มีผลต่อการเปลี่ยนผ่านการปกครองของพม่าในครั้งนี้มากนัก (VOICE TV, 2021)


เมื่อพิจารณาถึงบทบาทของอาเซียน แม้ว่าการเจรจาทางการทูตเพื่อประนีประนอมและหาทางออกร่วมกันในหมู่ชาติสมาชิกอาเซียน จะเป็นอีกหนึ่งวิธีการที่เหมาะสมในการพัฒนาประชาธิปไตยและยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่าได้ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว แรงกดดันของอาเซียนต่อความขัดแย้งในพม่ากลับไม่ได้ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก ที่สำคัญ อาเซียนมีจุดยืนมาตลอดในการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก จึงทำให้ถูกวิจารณ์ถึงความสามารถในการเจรจายุติปัญหาพม่าอยู่บ่อยครั้ง (Thai PBS, 2024)


สำหรับบทบาทของจีนในพม่า เราจะพบความสัมพันธ์ในทางเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยเมื่อย้อนกลับไปใน ปี ค.ศ. 2018 จีนได้สร้างข้อตกลงเรื่องระเบียงเศรษฐกิจ (China-Myanmar Economic Corridor) ภายใต้โครงการนี้จีนได้รวมเอาเส้นทางคมนาคม ระบบท่อขนส่งแก๊สและน้ำมันจากเจ้าผิวก์ ในรัฐยะไข่ ผ่านมัณฑะเลย์ไปยังเมืองคุนหมิง อีกทั้ง จีนยังมีแผนในการขยายโครงสร้างพื้นฐานอีกหลายอย่าง เช่น ถนน ทางรถไฟ ท่าเรือ การเชื่อมโยงกับย่างกุ้งอดีตเมืองหลวงที่เป็นเมืองเศรษฐกิจ ซึ่งได้ลงนามไว้ในระหว่างที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เยือนพม่า ในปี ค.ศ. 2020 ทั้งหมด 33 ฉบับ โครงการดังกล่าวนี้อาจจะมีความสำคัญต่อจีนมากกว่าพม่า เพราะเป็นเหมือนการย่นระยะเวลาลดปัจจัยต่างๆ ที่สิ้นเปลืองของจีนในการขนส่งพลังงานและสินค้าจากยุโรป แอฟริกา และตะวันออกกลางผ่านมหาสมุทรอินเดียเข้าสู่มณฑลทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน


แม้ว่าในกรณีของการสร้างประชาธิปไตยในพม่าหลังเหตุการณ์รัฐประหารในปี ค.ศ.2021 จีนแสดงจุดยืนว่าไม่ควรเข้าไปแทรกแซงการเมืองภายในของพม่า แต่ในขณะเดียวกัน กลับมีรายงานเกี่ยวกับการสนับสนุนกองกำลังในด้านอาวุธ (Human Rights Council, 2023) ว่าจีนก็ยังส่งอาวุธซึ่งประกอบไปด้วย เครื่องบินรบ ขีปนาวุธ กระสุนปืนต่างๆ ให้รัฐบาลกองทัพพม่าผ่านช่องทางต่างๆ คิดเป็นมูลค่า 267 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไม่สนข้อเรียกร้องจากชุมชนนานาชาติที่ให้จีนหยุดขายอาวุธให้กับพม่า รวมทั้ง ในปี ค.ศ. 2023 จีนและรัฐบาล มิน อ่อง หล่าย ได้ร่วมพูดคุยถึงเรื่องความร่วมมือเพื่อสานต่อความร่วมมือที่เคยตกลงกันไว้ จีนกล่าวว่าทั้งหมดเป็นการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของระบอบการปกครองที่เกิดขึ้นของพม่า รวมถึงการสนับสนุนความปรองดองและสันติภาพ ซึ่งจีนกับพม่ามีความร่วมมือเกี่ยวกับการปราบปราม อาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ต หรือที่เรียกว่าทุนจีนสีเทาซึ่งเป็นปัญหาที่กระทบต่อคนจีนอยู่ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ รายงานเกี่ยวกับจีนในเรื่องของความสัมพันธ์ที่มีต่อกองกำลังทหารพม่า และกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ (Irrawaddy, 2023) ยังพบว่า จีนได้เชิญผู้แทนของกองกำลังทหารพม่าเข้าไปพบปะพูดคุยกับกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์สามกลุ่มที่ติดกับชายแดนจีนและพม่า ได้แก่ กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติพม่า กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอั้ง และกองทัพอารากัน โดยจีนมีความต้องการให้กองทัพทหารพม่า และกองทัพชาติพันธุ์เจรจาสงบศึกกัน เพื่อสร้างความปรองดองรวมทั้งปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของจีน


ข้อสนับสนุนว่าปัจจัยภายนอกทางด้านเศรษฐกิจของจีน มีบทบาทต่อการเปลี่ยนผ่านของประชาธิปไตยในพม่านั้น หม่อมหลวงพินิตพันธุ์ บริพัตร ได้แสดงทรรศนะเกี่ยวกับบทบาทของตัวแสดงภายนอกไว้ว่า แม้จะมีข้อโต้แย้งกล่าวถึงตัวแสดงภายนอกว่าไม่ได้มีผลอะไรกับการเปลี่ยนผ่านการเป็นประชาธิปไตยมากนัก สังเกตได้จากการตอบโต้เหตุการณ์ต่างๆ ของรัฐบาลทหารพม่า และการจำกัดสิทธิของสื่อในการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองของรัฐบาลในประเทศที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ แต่ปัจจัยภายนอกก็ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของพม่า การเข้ามาลงทุนของต่างชาติเพื่อสร้างความมั่นคง ความสามารถในการส่งเสริมสถาบันทางการเมืองที่ตอบสนองความหลายหลายของประชาชนได้ นำไปสู่การส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นเกิดการพัฒนาสันติภาพ ความปรองดองในระยะยาว ซึ่งล้วนแล้วแต่มีผลต่อความเข้มแข็งเรื่องประชาธิปไตยของพม่าได้ และเป็นกรอบทางความคิดว่า ประชาธิปไตยที่เข้มแข็งจะมีการเมืองและเศรษฐกิจที่มั่นคงคู่ขนานกัน (หม่อมหลวงพินิตพันธุ์ บริพัตร, 2021) ดังจะเห็นได้จากการพัฒนาเศรษฐกิจผ่านข้อตกลงต่างๆ กับจีน และชาติอื่นๆ ที่เข้ามาลงทุนในพม่าช่วงยุคสมัยที่มีการเปิดประเทศของอองซาน ซูจี อย่างไรก็ดี โครงการที่พม่าเปิดรับการลงทุนจากจีน กลับก่อให้เกิดความขัดแย้งทางกลุ่มชาติพันธุ์ เหตุการณ์ที่เห็นได้ชัดคือ โครงการท่อขนส่งก๊าซและน้ำมันที่เป็นความร่วมมือของรัฐบาลพม่ากับจีน ซึ่งมีแผนที่จะวางแนวท่อก๊าซจากรัฐยะไข่ไปยังมณฑลยูนนานของจีน การก่อสร้างคาสิโนในรัฐกะเหรี่ยง การลงทุนตามแนวพรมแดนจีนอีกหลายโครงการ ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในพื้นที่ รายได้นั้นถูกส่งให้แค่รัฐบาลกลางเพียงอย่างเดียว ทำให้เกิดรอยร้าวในการเจรจาสันติภาพกับกลุ่มชาติพันธุ์ นอกจากนี้ เมื่อเกิดการรัฐประหาร ความไม่เสถียรภาพทางการเมือง ทำให้โครงการต่างๆ อาจจะล่าช้าหรือถูกระงับ มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ เงินช่วยเหลือจากประเทศมหาอำนาจต่างๆ ที่ถูกระงับ ส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจโครงสร้างทางการเมืองโครงสร้างพื้นฐานของประชาชนเป็นอย่างมาก


ข้อสรุปเบื้องต้นจากการศึกษาในครั้งนี้ เน้นย้ำให้เห็นว่าประชาธิปไตยในพม่าจะยังคงไม่เกิดขึ้น หากพม่ายังคงมีการทำรัฐประหาร และทหารยังคงมีบทบาทในระบบการเมือง รวมถึงความล้มเหลวในการแก้ไขความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ และการจัดการหรือร่วมพูดคุยปัญหานี้อย่างจริงจังในมิติชุมชนนานาชาติ กอรปกับการที่พม่าเองก็ไม่ต้องการให้ตัวแสดงภายนอกใดๆ เข้ามามีบทบาทแทรกแซงกิจการภายในประเทศ การศึกษาวิเคราะห์ศึกษาดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า การเปลี่ยนสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่ยั่งยืนต้องอาศัยปัจจัยทั้งภายในและภายนอกในหลากหลายมิติ ทั้งมิติทางการเมือง มิติสังคม และมิติเศรษฐกิจ ร่วมกัน


การอ้างอิง


เกียรติชัย พงษ์พาณิชย์. (2536). แรงกดดันจากชุมชนนานาชาติ. ใน เกียรติชัย พงษ์พาณิชย์, พม่าผ่าเมือง (หน้า 588). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน.


มนตรี กรรพุมมาลย์. (2023). การเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นประชาธิปไตยของประชาชนหลังอาณานิคม : ศึกษาเปรียบเทียบประเทศเมียนมา อินโดนีเซีย และ


ฟิลิปปินส์. วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ปีที่ 19 ฉบับที่ 2, 59-84.


หม่อมหลวงพินิตพันธุ์ บริพัตร. (2021). ข้อจำกัดของตัวแสดงภายนอกในกระบวนประชาธิปไตยของเมียนมา. ใน หม่อมหลวงพินิตพันธุ์ บริพัตร, เมียนมากับ


ประชาธิปไตยคู่ขนาน มิติระหว่างประเทศของปฏิรูปทางการเมืองและเศรษฐกิจ (หน้า 197-199). กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัดเรือนแก้วการพิมพ์.


เอนกชัย เรืองรัตนากร. (2558). บทบาทของอุดมการณ์ "พุทธศาสนา-ชาตินิยมสุดโต่ง"กับความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธยะไข่กับชาวมุสลิมโรฮิงญา. วารสารสังคมศาสตร์, 73-98.


Human Rights Council. (2023). The billion Dollar Death Trade : The International Arms Networks that Enable Human Rights Violations in Myanmar, https://www.ohchr.org/sites/default/files/documents/countries/myanmar/crp-sr-myanmar-2023-05-17.pdf


Irrawaddy. (2023). Three Ethnic Armies Pledge to Protect Chinese Investment in Myanmar, https://www.irrawaddy.com/news/burma/three-ethnic-armies-pledge-to-protect-chinese-investment-in-myanmar.html


USAID from the American people. (1 February 2021). USAID Immediately Redirects 42$ Million in response to the Military. เข้าถึงได้จาก https://www.usaid.gov/burma: https://www.usaid.gov/burma/press-release/usaid-immediately-redirects-42-million-response-military-coup-burma


VOICE TV. (2 กุมภาพันธ์ 2021). Overview ทหารพม่าซีด สหรัฐยุคไบเดนขู่คว่ำบาตร สมาชิกรัฐสภาอาเซียนถกขับไล่ ประยุทธ์ซวยแน่เข้าข้างผิด.


Thai PBS. (28 มกราคม 2024). 3 ปี รัฐประหารเมียนมา เปิดบทบาท ไทย-อาเซียน.







Premium isolated images

พื้นที่ประชาสัมพันธ์

ขอเชิญรับฟัง Podcast จากสำนักพิมพ์ Crackers Books

และรับฟังทุกรายการได้ที่ crackersbooks.com/podcasts

Flat Youtube Icon

ติดต่อโฆษณา โทร 0953394114

Inbox now rectangle button call to action CTA drop shadow
Sleek Clean Monoline Decorative Click