ในวันที่โอกาสมาถึง: ประสบการณ์ของนักศึกษาทุน “The SSPS Public Policy Summer School” ตั้งแต่เริ่มต้นจวบจนสิ้นสุด
อะไรคือทุน “The SSPS Public Policy Summer School”
ภานุเดช ลาโซ
“The SSPS Public Policy Summer School” คือ ทุนการศึกษาแลกเปลี่ยนระยะสั้นที่ได้รับการสนับสนุนโดย Department of Social Sciences and Policy Studies ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสถานประชาคมอาเซียนศึกษา (Center of ASEAN Community Studies) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และ The Education University of Hong Kong โดยเดินทางไปศึกษาดูงานและร่วมเข้าคลาสเรียนกับมหาวิทยาลัยชั้นนำหลากหลายแห่งในประเทศจีน ระหว่างวันที่ 14 - 19 กรกฎาคม 2567 โดยเปิดรับสมัครชิงทุนการศึกษาตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 – 27 กุมภาพันธ์ 2567 ผ่านทาง Facebook คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยทาง The Education University of Hong Kong ได้สนับสนุนและรับผิดชอบค่าเล่าเรียน ที่พัก และการเดินทางระหว่างมหาวิทยาลัย The Education University of Hong Kong กับสถานที่ศึกษาดูงาน ในส่วนของ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้สนับสนุนค่าเดินทางระหว่างประเทศ รวมทั้งค่าเบี้ยเลี้ยงรายวันทั้งในไทย (ระหว่างการเดินทางไปสนามบิน) และในเขตการปกครองพิเศษฮ่องกง
จะออกไปแตะขอบฟ้า: โอกาสและความท้าทายในการคัดเลือก
ทุนการศึกษา “The SSPS Public Policy Summer School” เป็นทุนที่ต้องเดินทางไปศึกษาและดูงาน ณ เขตการปกครองพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน และต้องพบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยนกับตัวแทนจากหลากหลายสถาบันการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย จึงเป็นผลให้ในเกณฑ์การคัดเลือกของทางคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ต้องอาศัยการสัมภาษณ์ด้วยภาษาอังกฤษ เพื่อวัดทักษะด้านภาษา และการสื่อสารของผู้สมัคร และได้กำหนดวันสัมภาษณ์ผู้สมัครเข้าร่วมในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 16:00 น. เป็นต้นไป รวมทั้งประกาศผลภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 12:00 น. นอกเหนือจากการสัมภาษณ์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้กำหนดเกณฑ์อื่น ๆ นอกเหนือจากการสัมภาษณ์ดังนี้
1. ใบรับรองผลคะแนนภาษาอังกฤษ CEPT ในระดับ A2 ตั้งแต่ 28 คะแนนขึ้นไปหรือการสอบวัดความรู้ภาษาอังกฤษอื่น ๆ ที่เทียบเท่า ตามระเบียบมหาวิทยาลัยนเรศวร
2. ภาพถ่ายและประวัติส่วนตัวโดยย่อ (CV/Resume)
3. ใบรายงานผลการศึกษา โดยแสดงผลการศึกษาตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ที่เริ่มเข้ารับการศึกษาจนถึงปีการศึกษาปัจจุบัน (Recent Transcript)
ด้วยเหตุนี้ เมื่อผู้เขียนได้รับทราบข่าวจากการประกาศของคณะสังคมศาสตร์แล้วนั้น ผู้เขียนจึงตัดสินใจในการเขียนใบสมัครเพื่อเข้าร่วมการคัดเลือกในโครงการดังกล่าว ซึ่งหนึ่งในสิ่งที่ท้าทายผู้เขียนมากที่สุด คือ เกณฑ์ในการคัดเลือกโดยการสัมภาษณ์ภาษาอังกฤษในรูปแบบการพูดปากเปล่า สิ่งนี้ทำให้ผู้เขียนเป็นกังวลว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายเป็นอย่างมาก แต่ด้วยโอกาส และการสนับสนุนที่ครอบคลุมเรื่องค่าใช้จ่าย ประกอบกับความฝันในวัยเด็กของผู้เขียนที่ต้องการเดินทางไปต่างประเทศสักครั้งหนึ่ง ได้จุดประกายไฟในตัวผู้เขียนขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งจะได้กล่าวในหัวข้อถัดไป
หัวใจที่เข้มแข็ง: การเตรียมตัวเพื่อเข้าสัมภาษณ์กับทักษะด้านภาษาที่น้อยนิด
หลังจากที่ได้กรอกใบสมัคร และส่งเอกสารอื่น ๆ ประกอบการสมัครเป็นที่เรียบร้อย ผู้เขียนได้ทำการคิดทบทวน และวางแผนในการเตรียมตัวเข้ารับการสัมภาษณ์ แต่ด้วยทักษะภาษาที่ไม่แข็งแรง ประกอบกับความตื่นเต้นในการสื่อสารด้านภาษาอังกฤษกับบุคคลอื่น ๆ ทำให้ผู้เขียนพบกับอุปสรรค ความท้อถอย และเกือบที่จะถอนใจสละสิทธ์การเข้าสัมภาษณ์ แต่แล้วหัวใจที่อ่อนแอได้กลับมาเข้มแข็งอีกครั้งจากการให้กำลังใจ การสนับสนุน ตลอดจนการส่งเสริม จากครอบครัว เพื่อนฝูง คนรู้จัก แม่ค้าขายกับข้าวร้านประจำของผู้เขียน อาจารย์ และความฝันของตัวผู้เขียนเอง ได้ทำให้ผู้เขียนลุกขึ้นมาสู้อีกครั้ง โดยการวางแผนใหม่ เขียนแบบร่างเป็นภาษาอังกฤษ ฝึกพูดคุยหน้ากระจก ฝึกในการส่วมหมวกเป็นผู้สัมภาษณ์ และพยายามหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณะ (Public Policy) ไม่ว่าจะเป็นตัวเนื้อหา ตัวอย่างกรณีศึกษา ทั้งไทยและฮ่องกง และยังรวมไปถึงการทำความคุ้นเคยกับคำศัพท์เฉพาะทางในด้านนโยบายสาธารณะ ซึ่งผู้เขียนได้ฝึกฝนอย่างเต็มกำลังความสามารถ และอาศัยคติพจน์ที่ว่า “Everything is can be possible, if you think it can be possible” ในการให้กำลังใจ และสร้างแรงผลักดันในตัวเอง
กระทั่งเข้าสู่ช่วงเวลาของการสัมภาษณ์ ในระหว่างรอคนอื่น ๆ ที่เข้ารับการสัมภาษณ์ ผู้เขียนได้ฝึกซ้อมบริเวณชั้นสอง คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อรอการเรียกตัวเข้าสัมภาษณ์ และแล้วก็ถึงเวลาของผู้เขียน และได้เกิดสิ่งที่เลวร้ายขึ้น คือ “ความตื่นเต้น” ซึ่งได้เข้ามาจับขั้วหัวใจของผู้เขียนส่งผลให้ลืมเนื้อหาต่าง ๆ ที่ได้ตระเตรียม ฝึกซ้อมมาอย่างยาวนาน และเมื่อใกล้จบการสัมภาษณ์ ผู้เขียนจำได้ว่าได้กล่าวประโยคแก่คณะกรรมการ ว่า “Even I got selected or not I never stop to practice an english” และได้ลุกออกจากห้องด้วยความสบายใจ ภายหลังเสร็จสิ้นจากการสัมภาษณ์ สิ่งแรกที่คิด คือ “ไว้โอกาสหน้าแล้วกันนะ” พร้อมด้วยเสียงหัวเราะของตัวเองอย่างสนุกสนาน ร่วมกับเพื่อน ๆ ที่คอยเชียร์ ทั้งก่อนและระหว่างการสัมภาษณ์ ซึ่งจากการตัดสินใจเข้ารับการสัมภาษณ์ในครั้งนี้ได้สร้างบทเรียนแก่ผู้เขียนอย่างมากมาย ทำให้ผู้เขียนรู้ว่า ภาษาต้องอาศัยเวลา และการฝึกฝนในการใช้อย่างต่อเนื่อง ความกล้า ความพยายามในการสื่อสาร คำศัพท์ การจัดการกับความตื่นเต้น รวมทั้งการตอบคำถามที่ต้องอาศัยการคิดวิเคราะห์อย่างเข้มข้น และการฝึกฝนให้มากยิ่งขึ้น และแล้ววันประกาศผลก็ใกล้เข้ามา
ฟ้าหลังฝน: การประกาศผลการคัดเลือกและฝันที่ไม่คาดฝัน
เมื่อวันประกาศผลมาถึงผู้เขียนมิได้ตื่นเต้นหรือมีท่าทีลุ้นผลการประกาศแต่อย่างใด เนื่องด้วยจากการสัมภาษณ์ผู้เขียนได้ประเมินตัวเองแล้วว่ายังไม่สามารถคว้าโอกาสนี้มาได้ และนั่นก็มิได้ผิดเพี้ยนจากการคาดเดาของตัวเองแต่อย่างใด เพราะเมื่อผลการสัมภาษณ์ปรากฏ พบว่า ผู้เขียนได้รับเลือกให้เป็นตัวสำรอง ซึ่งมีผู้ผ่านการคัดเลือกทั้งหมดจำนวน 3 คน และผู้เขียนเป็นตัวสำรองเพียงคนเดียวจากผู้เข้าสัมภาษณ์ทั้งหมด 6 คน นั่นไม่ได้ทำให้ผู้เขียนเสียใจแต่อย่างใด แต่ผู้เขียนกลับมองว่าการสัมภาษณ์ภาษาอังกฤษครั้งนี้เป็นเพียงการสัมภาษณ์ครั้งที่ 2 และครั้งแรกในรูปแบบการสัมภาษณ์ปากเปล่าหรือการสัมภาษณ์ต่อหน้าคณะกรรมการ แต่ครั้งแรกผู้เขียนได้ทำการสัมภาษณ์ทางออนไลน์ เพราะฉะนั้น ยังมีโอกาสที่ผู้เขียนจะได้ฝึกฝนอีกมากมายในหลาย ๆ เวที และพยายามคิดในแง่ดีที่ว่า การสัมภาษณ์ครั้งนี้ คือ ประสบการณ์ชั้นยอดเยี่ยมของการก้าวสู้ความสำเร็จตามฝัน
หลังจากประกาศผลได้ไม่นานนักผู้เขียนได้รับข่าวสารจากอาจารย์หนึ่งในคณะกรรมการสัมภาษณ์ว่า “ตัวสำรองอาจจะมีข่าวดีให้รอติดตาม” ซึ่งนั่นทำให้ผู้เขียนสงสัยเป็นอย่างมากว่า อาจารย์ท่านหมายถึงอะไร แต่ผู้เขียนก็มิได้ให้ความสนใจมากนักเพียงแต่ก็รอติดตามการบอกกล่าว และเมื่อเวลาผ่านไป ประมาณ 2-3 วัน ซึ่งเป็นวันที่ผู้เขียนได้เข้าร่วมการอบรมทั่วไป และได้พบกับอาจารย์หนึ่งในคณะกรรมการสัมภาษณ์ และได้พูดคุยกันตามปกติ แต่ในไม่ช้าอาจารย์กลับแจ้งข่าวดีให้แก่ผู้เขียน ซึ่งนั่นทำให้ใจของผู้เขียนเต้นแรงอีกครั้ง เนื่องด้วย การได้รับที่นั่งในโครงการดังกล่าวเพิ่มเติมสำหรับนิสิต 1 ที่นั่ง และ เจ้าหน้าที่ 1 ที่นั่ง เพียงข้อความไม่กี่คำทำให้ผู้เขียนยิ้มได้ และไม่คาดคิดว่าตนเองจะได้รับโอกาสจากการเพิ่มที่นั่ง จากทางผู้จัดโครงการหรือ The Education University of Hong Kong สิ่งเหล่านี้เสมือนกับฝันที่ไม่คาดคิด เพราะสำหรับผู้เขียนแล้วนั้นสิ่งนี้ คือ “โอกาสที่ล้ำค่า” และใบเบิกทางของชีวิตและความก้าวหน้าในอนาคต
โปรดติดตามประสบการณ์การเดินทางของผู้เขียนในตอนต่อไป
พื้นที่ประชาสัมพันธ์
ขอเชิญรับฟัง Podcast จากสำนักพิมพ์ Crackers Books
และรับฟังทุกรายการได้ที่ crackersbooks.com/podcasts
ติดต่อโฆษณา โทร 0953394114