Published by Crackers Books,

7 April 2024

https://crackersbooks.com/blogs

การเปลี่ยนแปลงบทบาทของสตรีในระบบเศรษฐกิจทุนนิยม

:การวิเคราะห์ความไม่เท่าเทียมทางเพศผ่านภาพยนตร์เรื่อง SUFFRAGETTE


ฑิฆัมพร นามวา

นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะรัฐศาสตร์ สาขาวิชาการปกครอง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

งานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชาระบอบการปกครองและความคิดด้านเศรษฐกิจการเมือง

หลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการปกครอง



"Suffragette" เป็นภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ที่นำเสนอเรื่องราวของการต่อสู้ของผู้หญิงกลุ่มหนึ่งในสหราชอาณาจักรที่ออกมาเรียกร้องสิทธิสำหรับการเลือกตั้งในปี ค.ศ.1912 ภาพยนตร์เรื่องนี้เน้นการเล่าเรื่องผ่านตัวละครหญิงหลายคนที่มีชีวิตจริง ซึ่งพวกเธอได้แสดงให้เห็นถึงพลังอันยิ่งใหญ่ในการต่อสู้ซึ่งต่อมาการออกมาเรียกร้องครั้งดังกล่าวได้กลายเป็นแรงผลักดันสำคัญในการเปลี่ยนแปลงทางสังคม นอกจากนี้ในแง่ของระบอบการปกครองภาพยนตร์นี้ช่วยเน้นให้เห็นถึงความสำคัญของการเสรีภาพและสิทธิของสตรีในการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมือง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างทางสังคมที่ก่อให้เกิดการสร้างเสรีภาพแก่สตรีในการเข้าร่วมในการเมือง


อนึ่ง ในมิติทางเศรษฐกิจการเมืองภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ช่วยสร้างความตื่นตัวให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้นเมื่อมีการเสรีภาพทางการเมืองสำหรับสตรี การเข้าร่วมในการทำงานและการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ทางธุรกิจเป็นสิ่งที่สตรีสามารถทำได้มากขึ้น ซึ่งหากพิจารณาจากเนื้อหาของภาพยนตร์จะเห็นได้ว่าตัวละคร ในภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ช่วยเปิดเผยให้เห็นถึงความลำบากสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งในระดับท้องถิ่นและ ในระดับสากลที่สตรีเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง


จากความสำคัญดังกล่าวนี้เอง ผู้เขียนจึงเลือกที่จะนำภาพยนตร์เรื่อง "Suffragette" มาทำการศึกษา ทั้งนี้ผู้เขียน คาดหวังว่าการศึกษาครั้งนี้จะช่วยให้เข้าใจถึงมิติที่สำคัญของการทำงานของระบอบการปกครองและความคิดทางเศรษฐกิจการเมืองในการสนับสนุนสิทธิของสตรีในอดีตและในปัจจุบัน


ซัฟฟราเจ็ตต์จุดเริ่มต้นของขบวนการเรียกร้องเพื่อสิทธิสตรี

จากการดูภาพยนตร์เรื่อง “SUFFRAGETTE” เห็นได้ว่ากลุ่มสตรีที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองพวกเธอต้องการ เรียกร้องให้ผู้หญิงได้มีสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เพราะในช่วงนั้นสถานภาพของผู้หญิงคือไม่มีสิทธิในการ เลือกตั้ง ในทางตรงข้ามผู้หญิงในยุคนั้นต้องทำงานในโรงซักรีดและเผชิญอยู่กับการถูกนายจ้างกดขี่ รวมถึงการถูกคุกคามทางเพศอีกด้วย นอกจากนี้ผู้หญิงยังต้องทำงานหนักกว่าผู้ชาย แต่ในทางกลับกันผู้ชายกลับได้ค่าตอบแทนที่สูงกว่าผู้หญิง


ครั้นเมื่อมีการกดขี่มากขึ้นเรื่อย ๆ จึงมีการเริ่มที่จะมีการรวมตัวประท้วงพร้อม ๆ กับการเรียกร้องสิทธิ์ในการเลือกตั้ง ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวนี้เองถือเป็น “คลื่นลูกแรก” ของขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เรียกว่า “เฟมินิสม์” (Feminism) ซึ่งการเรียกร้องในยุคแรกของกลุ่มเฟมินิสม์มีจุดมุ่งหมายไปที่การเรียกร้องสิทธิในการเลือกตั้งและสิทธิตามกฎหมายของผู้หญิง ซึ่งในภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ได้สะท้อนให้เห็นถึงการออกมารณรงค์เรียกร้องให้ผู้หญิง มีสิทธิออกเสียงในการเลือกตั้งและต้องการส่งสารถึงรัฐให้รัฐแสดงออกให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงโดยการกระทำมิใช่เพียงแค่คำพูด หากแต่กลุ่มสตรีได้จุดประกายแนวคิดการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีในสังคมเพื่อให้ได้ถึงสิทธิ


จากสภาวการณ์ดังกล่าวทางรัฐบาลก็ได้ออกมาจับกุมกลุ่มสตรีเหล่านี้ และมีการลงโทษประหนึ่งว่าเป็นนักโทษทั่ว ๆ ไป ครั้นเมื่อเหล่าสตรีที่ถูกจับกุมได้ถูกปล่อยตัวออกมา กลับต้องเจอกับเรื่องที่ย่ำแย่กว่าเดิม กล่าวคือบางคนถูกสามีมองว่าภรรยาของเขาได้ไปก่อเรื่องที่อาย ส่งผลให้เขาขายหน้าจึงขับไล่ออกจากบ้านพร้อมทั้งพยายามกีดกันไม่ให้พบกับลูก ซึ่งในยุคนั้นผู้หญิงก็เรียกร้องอะไรไม่ได้ เพราะตามกฎหมายลูกเป็นสิทธิของผู้เป็นพ่อโดยสมบูรณ์ ประเด็นดังกล่าวนี้ก็เป็นอีกแรงจูงใจที่เป็นเหตุให้ผู้หญิงต้องฮึดขึ้นสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรม และการที่จะได้มาซึ่งสิทธินั้นสิ่งสำคัญอันดับแรกที่พวกเธอมองว่าควรที่จะได้รับนั่นคือ “สิทธิในการเลือกตั้ง” ซึ่งสิทธิในการเลือกตั้งมันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง และนำไปสู่การได้มาซึ่งสิทธิในค่าจ้างที่เท่าเทียม และสิทธิในการเลี้ยงในการเลี้ยงดูบุตร


แต่อย่างไรก็ดี แม้ว่าพวกเธอจะพยายามเรียกร้องด้วยวิธีการต่าง ๆ แต่ก็ไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐบาล พวกเธอจึงเพิ่มระดับของการประท้วงให้รุนแรงขึ้น เริ่มที่จะมีการทำลายข้าวของรวมทั้งสิ่งของสาธารณะไปจนถึงการก่อวินาศกรรม แม้จุดประสงค์ของพวกเธอไม่ต้องการให้มีคนได้รับบาดเจ็บแต่ก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากที่จะไม่ให้มีการเกิดอุบัติเหตุเลย แต่โดยทั้งหมดทั้งมวลของการกระทำต่าง ๆ ของพวกเธอก็เพื่อที่จะดึงความสนใจจากสื่อ เพราะพวกเธอเชื่อว่าเมื่อการนำเสนอเรื่องราวที่พวกเธอกำลังเรียกร้องผ่านสื่อต่าง ๆ ก็จะสามารถปลุกประเด็นในผู้คนในสังคมเกิดความสนใจ แต่ในขณะเดียวกันทางรัฐบาลเองก็พยายามที่จะควบคุมสื่อโดยไม่ให้มีการนำเสนอประเด็นการเคลื่อนไหวทางสังคมของกลุ่มซัฟฟราเจ็ตต์


จากเหตุการณ์ดังกล่าวนั่นเองเป็นเหตุที่ให้พวกเธอต้องหาวิธีการใหม่ ๆ เพื่อเรียกร้องและจุดเปลี่ยนสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการที่กลุ่มซัฟฟราเจ็ตต์ได้ไปร่วมงานวัน “ดาร์บีเดย์” หรืองานแข่งขันม้าเอปซอมดาร์บี ซึ่งเป็นงานสำคัญประจำปีที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงจากชาวอังกฤษจำนวนมาก โดยเฉพาะพระเจ้าจอร์จที่ 5 และสมเด็จพระราชินีแมรี่ และในงานครั้งดังกล่าวกษัตริย์ทั้งสองพระองค์ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการแข่งขันครั้งนี้ด้วย แต่แล้วสิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นเมื่อนางสาวเดวิสัน ได้แอบฝ่าฝูงชนและทีมแข่งม้าเข้าไปประชิดลู่วิ่งก่อนจะโน้มตัวเข้ากระโดดขว้างม้าแข่งของพระเจ้าจอร์จที่ 5 ที่กำลังมาด้วยความเร็วสูงจนถูกชนล้มคว่ำหมดสติ เธอไม่ฟื้นขึ้นมาอีกเลยและได้เสียชีวิตที่โรงพยาบาลในหลายวันต่อมา เหตุการณ์ดังกล่าวบางคนอาจจะมองว่าการกระทำของนางสาวเดวิสันเป็นการฆ่าตัวตาย

แต่แท้แล้วการเอาชีวิตเข้าแลกของเธอก็เพื่อที่จะเรียกร้องและสร้างความสนใจจากคนทุกชนชั้นในสังคมให้หันมาใส่ใจกับปัญหาที่ไม่เท่าเทียมทางเพศอย่างจริงจังมากขึ้น แต่ถึงอย่างไรก็ดีแม้ว่าเดวิสันจะยอมสละชีวิตในการเรียกร้องครั้งนี้แต่ก็มีนักการเมืองชายจำนวนหนึ่งเห็นว่าการเสียชีวิตของเธอเป็นเรื่องที่โง่เขลา


อย่างไรก็ตามท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่ทำให้ขบวนการสตรีบรรลุถึงจุดหมายที่ปรารถนามานานไม่ใช่ทั้งการชุมนุมโดยสงบหรือการใช้ความรุนแรง แต่เป็นการยุติกิจกรรมการเคลื่อนไหวเรียกร้องชั่วคราวเพื่อเข้าช่วยเหลือประเทศชาติในยามศึกสงคราม ในสงครามโลกครั้งที่ 1 บทบาทของผู้หญิงในการเป็นแรงงานประจำภาคส่วนต่าง ๆ ทดแทนประชากรชายที่ต้องถูกเกณฑ์ไปรบทำให้รัฐบาลเริ่มที่จะเล็งเห็นถึงความสำคัญของผู้หญิงและยอมออกกฎหมายให้สิทธิ์เลือกตั้งแก่สตรีที่ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ และมีอายุ 30 ปีขึ้นไปในปี ค.ศ. 1918 กฎหมายดังกล่าวส่งผลให้ นางแนนซี่ แอสเตอร์ ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หญิงคนแรกของอังกฤษในปีถัดมา และหลังจากนั้นอีก 10 ปีรัฐบาลจึงแก้ไขกฎหมายอีกครั้งหนึ่ง โดยให้พลเมืองหญิงทั้งหมดมีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งได้เช่นเดียวกับพลเมืองชายในปี ค.ศ. 1928 ซึ่งหากพิจารณาพัฒนาการของการเรียกสิทธิเพื่อสตรีภายใต้บริบทดังกล่าวถือเป็นคลื่นลูกที่สองของขบวนการเฟมินิสต์ และต่อมากลุ่มเรียกร้องสิทธิเพื่อสตรีก็เริ่มที่จะไม่ได้เรียกร้องแค่สิทธิของผู้หญิงเท่านั้น หากแต่ยังมีการสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศไม่ว่าจะเป็นเพศไหน ๆ ทุกคนมีโอกาสและสิทธิเท่าเทียมกัน ความหลากหลายมิใช่เรื่องที่ผิดแต่มันคือการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคมให้เกิดความเท่าเทียม ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้เองถือเป็นคลื่นลูกที่สามของขบวนการเฟมินิสต์


ผู้หญิงกับระบบเศรษฐกิจการเมือง


หากพิจารณาจากตัวบทของภาพยนตร์เรื่อง “Suffragette” ผ่านมุมมองการระบบเศรษฐกิจการเมืองแบบมาร์กซิสต์ จะพบว่าภาพยนตร์เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงประเด็นที่น่าสนใจอย่างน้อย ๆ 3 ประเด็น คือ

1. ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นสังคม กล่าวคือภาพยนตร์นี้ได้เน้นให้เห็นถึงการต่อสู้ของสตรีที่ต้องทำงานหนักแต่ได้รับค่าตอบแทนที่ไม่เท่าเทียมกับผู้ชาย ซึ่งเป็นตัวอย่างของการขัดแย้งในชนชั้นสังคมที่เกิดขึ้นในยุคนั้น อีกทั้งภาพยนตร์ยังสะท้อนให้เห็นถึงการที่สตรีได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและการต่อสู้เพื่อสิทธิของตนเอง แต่พวกเขาต้องเผชิญกับการละเมิดจากบรรดานักการเมืองชายที่มีอำนาจในสังคม การปฏิบัติของพวกเขาแสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งระหว่างสตรีและชายในการมีส่วนร่วมและความเป็นเจ้าของแรงงานในสังคม นอกจากนี้สตรีในภาพยนตร์ยังต้องเผชิญกับการกีดกันในการเข้าถึงสิทธิและโอกาสในสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากโครงสร้างชนชั้นที่ไม่เท่าเทียมในการศึกษา การทำงาน และการเข้าถึงอำนาจ

2. ความเสียหายที่เกิดจากระบบทุนนิยม ซึ่งหากวิเคราะห์ด้วยมุมมองของมาร์กซิสต์ เราเห็นถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อสตรีและแรงงานสังคมทั้งหมดจากการใช้แรงงานเป็นสินค้าในระบบทุนนิยมซึ่งนั่นเต็มไปด้วยการกดขี่แรงงาน และนั่นเองเป็นผลมาจากระบบทุนนิยมที่ส่งผลให้แรงงานสตรีต้องเผชิญกับการกดขี่ในด้านค่าจ้างและสิทธิการทำงาน พวกเธอมักถูกจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าผู้ชายในตำแหน่งที่เหมือนกัน อีกทั้งสตรีต้องเผชิญกับความยากลำบากในการมีสิทธิ์และโอกาสในด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากพวกเธอมักถูกยึดเหนี่ยวและถูกจำกัดในการเข้าถึงทรัพย์สินและทรัพย์สมบัติ

3. การเปลี่ยนแปลงของระบบทางเศรษฐกิจ กล่าวคือภาพยนตร์นี้ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจจากการเน้นการผลิตสู่การเน้นระบบบริโภค ซึ่งมีผลกระทบต่อสถานภาพของสตรีในสังคม ดังจะเห็นได้จากภาพยนต์ที่สะท้อนให้เห็นถึงสภาวะของระบบในยุคทุนนิยมแรกว่าการผลิตเป็นจุดสำคัญของระบบเศรษฐกิจ แต่เมื่อเริ่มมีการเข้าใจและการตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น ระบบเศรษฐกิจก็เริ่มเปลี่ยนจากการผลิตเป็นการบริโภค ซึ่งสตรีมักถูกเลือกเป็นกลุ่มเป้าหมายในการตลาด โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคที่มีพลังซื้อสูง ด้วยการที่ระบบทุนนิยมจำเป็นต้องมีแรงงานเพื่อให้มีการผลิตและการบริโภค แต่เมื่อระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนไปเน้นการบริโภคมากขึ้น มีการใช้แรงงานสตรีในฐานะแรงงานสำรอง และเป็นเครื่องมือในการขยายกำลังการผลิตพร้อม ๆ กับการขยายระดับการบริโภคอีกด้วย


รายการอ้างอิง


BBC NEWS. (2018). อังกฤษรำลึกร้อยปีชัยชนะของขบวนการสตรี "ซัฟฟราเจ็ตต์". ออนไลน์ สืบค้นเมื่อ วันที่ 31 มีนาคม 2567. จาก https://www.bbc.com/thai/international-42976461


Raphiphat Phatthana. (2561). การต่อสู้ทางการเมืองในภาพยนตร์เรื่อง The Suffragette (2015). วารสารวิขาการมหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย ฉบับสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ปีที่ 8 ฉบับที่ 2 ประจำเดือน พฤษภาคม - สิงหาคม 2561.


ชเนตตี ทินนาม. (2563). สงครามเฟมินิสต์ จากคลื่นลูกที่ 1 ถึง ยุคดิจิทัล อำนาจและข้อโต้แย้งที่ไม่เคยเปลี่ยน. Workpointtoday (ออนไลน์) สืบค้นเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2567 จาก https://workpointtoday.com/lutte-feminism-chanettee2020/


วัชรพล พุทธรักษา. (2558). เอกสารประกอบการสอนรายวิชาทฤษฎีมาร์กซิสต์เบื้องต้น. ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร








Premium isolated images

พื้นที่ประชาสัมพันธ์

ขอเชิญรับฟัง Podcast จากสำนักพิมพ์ Crackers Books

และรับฟังทุกรายการได้ที่ crackersbooks.com/podcasts

Flat Youtube Icon

ติดต่อโฆษณา โทร 0953394114