ว่าด้วยระบบการพัฒนาและสนับสนุนนักวิจัย: ประสบการณ์จาก York
วัชรพล พุทธรักษา
การเรียนปริญญาเอกในระบบอังกฤษแบบดั้งเดิม (Traditional British PhD) นั้นเป็นอย่างที่หลายคนพอทราบกันก็คือเป็นระบบการเรียนปริญญาเอกโดยเน้นการวิจัย (Research Degree) ที่เน้นการทำงานวิจัยและเขียนงานขนาดใหญ่ภายใต้จำนวนคำที่กำหนด ซึ่งโดยปกติแล้วปริญญาเอกสายสังคมศาสตร์จะมี word limit อยู่ที่ไม่เกิน 100,000 คำ (หรือราวๆ 250-300 หน้า แล้วแต่ขนาดฟอนต์ หรือการเว้นบรรทัด) (อย่างไรก็ดีในระยะหลัง word limit ของงานปริญญาเอกในสายสังคมศาสตร์ได้ลดลงจาก 100,000 คำ เป็น 7 - 80,000 คำ เพื่อให้การเรียนปริญญาเอกสำเร็จได้ในเวลาที่เหมาะสมคือ สามปี)
ในระบบอังกฤานั้นนักเรียนวิจัย (Research Student) จะไม่ได้มีคอร์สเวิร์คจำนวนมากให้ต้องเรียนแบบระบบอเมริกัน แต่จะมีวิชาบังคับนิดหน่อยเท่านั้นในปีแรก อย่างเช่นที่ภาควิชาการเมือง (Department of Politics, University of York) นั้นก็จะบังคับให้นักเรียนวิจัยปีแรกต้องเรียนวิชา Political Research and Analysis และ Personal and Professional Skills นอกเหนือจากนั้นก็แล้วแต่อาจารย์ที่ปรึกษาของแต่ละคนจะสั่งให้นักเรียนวิจัยของตนไป sit in เพื่อศึกษาเพิ่มเติมหากยังเห็นว่าจำเป็นต้องปูพื้นฐานทางทฤษฎีหรือว่าวิชานั้น ๆ มีประเด็นสำคัญต่องานวิจัยของเรา นอกเหนือจากการเรียนวิชาเหล่านี้ชีวิตของเด็กวิจัยก็หนีไม่พ้นห้องสมุดซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญ
ด้วยเหตุที่เป็นระบบการศึกษาที่เน้นการวิจัยด้วยตนเองเป็นหลัก ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจและน่าศึกษาเป็นแบบอย่างสำหรับมหาวิทยาลัยไทยก็คือ “ระบบพัฒนานักวิจัย” ซึ่งที่ยอร์กนั้นจัดให้มีหน่วยงานที่เรียกว่า Researcher Development Team (RDT) ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยมหาวิทยาลัยเพื่อจัดคอร์สอบรมให้กับนักเรียนปริญญาเอกและ academic staff ด้วย ตลอดทั้งปีการศึกษาเพื่อส่งเสริมและพัฒนาทักษะในด้านต่าง ๆ ให้กับนักเรียนวิจัยให้มีความพร้อมสูงสุดในการทำวิจัย ตลอดจนความพร้อมในการก้าวเข้าไปสู่ตลาดแรงงานหลังสำเร็จการศึกษาอีกด้วย
คอร์สอบรมของ RDT นั้นจะจัดการสอนโดยทีมพัฒนานักวิจัยที่ไม่ได้สังกัดภาควิชาใดในมหาวิทยาลัยเป็นการเฉพาะเจาะจงแต่มีหน้าที่ในการสอน/อบรมคอร์สของ RDT เท่านั้น คอร์สอบรมนั้นก็มีลักษณะหลากหลายมีทั้งที่เป็นการอบรมชนิดครึ่งวัน 3 ชั่วโมงจบหรืออบรมเต็มวัน หรือบางครั้งก็มีคอร์สชนิดหลายวันจบก็มี นักเรียนวิจัยจะสามารถเข้าไปเลือกรายวิชาที่สนใจได้ผ่านทางเว็บไซต์ Skillsforge (ระบบข้อมูลส่วนตัวของนักเรียนวิจัยที่หลัก ๆ แล้วใช้บันทึกการประชุมทุกครั้งกับ supervisor)
เราสามารถจองคอร์สที่สนใจเรียนได้ออนไลน์และสามารถยกเลิกได้ก่อน 48 ชั่วโมงก่อนคอร์สจะเริ่ม หากยกเลิกคอร์สไม่ทันจะต้องเสียค่าปรับซึ่งวิธีนี้เป็นการป้องกันการจองที่เรียนแล้วไม่มาเรียนเพราะจะเป็นการกันที่ผู้อื่น คอร์สของ RDT นั้นก็จะมีหลากหลายทั้งคอร์สที่มุ่งพัฒนาทักษะส่วนตัวของเราเช่น การนำเสนอในที่สาธารณะ การจัดการกับปัญหา การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่างๆ การทำงานเป็นทีม คอร์สเกี่ยวกับระบบการเรียนปริญญาเอกเช่น การเริ่มต้นการวิจัย เตรียมความพร้อมสู่การอัพเกรด เตรียมพร้อมเพื่อสอบจบ ทำอย่างไรให้งานได้ตีพิมพ์ เป็นต้น
โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าระบบเช่นนี้มหาวิทยาลัยที่เมืองไทยสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ไม่ยากอะไร อาจตั้งหน่วยงานเล็ก ๆ ขึ้นมาสักหน่วยหนึ่งที่อิสระจากงานสอนหรืองานวิจัยอื่นๆเพื่อทำหน้าที่ส่งเสริม/สนับสนุนให้นักวิจัยทั้งระดับปริญญาโทและเอกในไทยได้มีศักยภาพในการวิจัยและมีความพร้อมเข้าสู่การต่อสู้ในตลาดงานได้อย่างมีคุณภาพ
When you think of Marx,
think Crackers Books..
ติดต่อโฆษณา โทร 0953394114
ราคา 150 บาท
สั่งซื้อได้ที่ Shopee
ติดต่อโฆษณา โทร 0953394114