Published by Crackers Books,

21 April 2024

https://crackersbooks.com/blogs

7 เพลงลูกทุ่งที่สะท้อนถึงความหวังของคนอีสานพลัดถิ่น


วีรชน เกษสกุล

อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ สาขาวิชาการปกครอง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี



การเคลื่อนย้ายของประชากรจากภาคอีสานไปยังเมืองใหญ่เป็นปรากฏการณ์ที่มีผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างมาก ปัจจัยหลายประการได้ถูกพิจารณาว่ามีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นการเคลื่อนย้ายประชากรนี้ ดังจะเห็นได้ในงานวิจัยมีจำนวนมากที่ได้ทำการศึกษาปัจจัยที่ก่อให้เกิดการพลัดถิ่นนี้ของคนอีสาน ซึ่งงานวิจัยเหล่านั้นระบุว่ามันเกิดขึ้นเนื่องจากพัฒนาการทางเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม ปัญหาทางสังคม การระบาดของโรค พัฒนาการเทคโนโลยี และปัญหาในระบบการศึกษา เป็นต้น


สำหรับงานชิ้นนี้ ผู้เขียนมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะสะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกและประสบการณ์ของคนในภาคอีสานที่ต้องพลัดถิ่นไปทำงานเมืองใหญ่ โดยเน้นที่มิติของ “ความหวัง” และในการศึกษาครั้งนี้ผู้เขียนจะทำการศึกษาผ่านเพลงลูกทุ่ง ซึ่งเป็นสื่อที่มีเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของคนในภาคอีสานอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้สำหรับการวิเคราะห์และการตีความเนื้อเพลงลูกทุ่งที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวผู้เขียนคาดหวังว่าจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการทำความเข้าใจกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่ต้องออกจากบ้านไปแสวงหาโอกาสในเมืองใหญ่ ๆ นอกจากนี้ผู้เขียนยังคาดหวังว่าการวิเคราะห์และการตีความเนื้อเพลงลูกทุ่งในบทความนี้ สะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ที่ต้องที่ต้องเผชิญหน้ากับการมองหาโอกาสใหม่ในชีวิตของพวกเขาอีกด้วย


อนึ่ง ก่อนที่จะกล่าวถึงเนื้อหาของบทเพลงลูกทุ่งที่สะท้อนให้เห็นถึง “ความหวัง” ของคนอีสาน ผู้เขียนอยากจะชวนท่านผู้อ่านทำความเข้าใจหลักการพื้นฐานของ "หลักการแห่งความหวัง" (Principle of Hope) ซึ่งหลักการพื้นฐานดังกล่าว CrackersBooks ได้นำเสนอไปแล้วเมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2567 โดยได้สรุปหลักการทั่วไปเอาไว้ 5 ประการ อันประกอบด้วย


1. รากฐานทางปรัชญา: Ernst Bloch ได้อธิบายถึงมโนทัศน์เกี่ยวกับหลักการแห่งความหวังเอาไว้ว่า หลักการดังกล่าวเป็นแนวคิดขั้นพื้นฐานของมนุษยชาติที่เป็นตัวกำหนดหรือชี้นำการรับรู้ของเราเกี่ยวกับอนาคตและเป็นแรงบันดาลใจให้เราดำเนินการใด ๆ เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายที่ต้องการ (Bloch, 1995)

2. ความหวังและการดำรงอยู่ของมนุษย์: ความหวังถูกมองว่าเป็นส่วนสำคัญของการดำรงอยู่ของมนุษย์ ซึ่งมีอิทธิพลต่อแนวทางการใช้ชีวิตและการตัดสินใจของเรา มันไม่ใช่แค่อารมณ์ แต่เป็นพลังที่ขับเคลื่อนบุคคลและสังคมไปสู่ความเป็นไปได้ในอนาคต (Hockley, 1993)

3. บทบาทของความหวังในการเปลี่ยนแปลงทางสังคม: หลักการแห่งความหวังแสดงให้เห็นว่าความหวังสามารถเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่ทรงพลังสำหรับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เป็นการตอกย้ำถึงความสำคัญของแนวความคิดแบบยูโทเปีย และความเชื่อมั่นในความเป็นไปได้ของโลกว่าจะที่ดีขึ้น ซึ่งนั่นจะเป็นแรงผลักดันในการเปลี่ยนแปลงทางสังคม (Krafft & Walker, 2018)


4. มุมมองทางจิตวิทยา: ในทางจิตวิทยาความหวังมีความเชื่อมโยงกับความยืดหยุ่นและความสามารถในการเผชิญกับความท้าทาย ซึ่งถือได้ว่าเป็นปัจจัยสําคัญประการหนึ่งที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี อีกทั้งยังส่งผลต่อวิธีการที่บุคคลสามารถรับมือกับความทุกข์ยากและมองไปข้างหน้าได้ (Snyder, 2002)


5. การวิพากษ์วิจารณ์และการพัฒนาต่อ: หลักการแห่งความหวังได้รับการวิพากษ์วิจารณ์และพัฒนาเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการนำไปประยุกต์ใช้ในบริบททางวัฒนธรรมและสังคมและการเมืองที่แตกต่างกัน การตีความสมัยใหม่โดยมุ่งเน้นไปที่ความจำเป็นในการสร้างสมดุลระหว่างความหวังกับความจริง และเพื่อเข้าใจความซับซ้อนในสถานการณ์ต่าง ๆ ของชีวิต (Chakraborty, 2019)


กล่าวโดยสรุป หลักการแห่งความหวังเป็นหลักแนวคิดทางปรัชญาและจิตวิทยาที่สำคัญที่เน้นบทบาทของความหวังในการขับเคลื่อนชีวิตมนุษย์ที่มีผลต่อความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการดำเนินการที่มุ่งเน้นอนาคต อีกทั้งยังเน้นความสำคัญในการปลูกฝังความหวังโดยตระหนักถึงความซับซ้อนของความหวังและการแสดงออกที่หลากหลายในบริบทที่แตกต่างกัน (CrackersBooks, 2023)


ในลำดับต่อไปผู้เขียนจะนำหลักการดังกล่าวมาพิจารณา 7 เพลงลูกทุ่งที่สะท้อนให้เห็นถึง “ความหวัง” ของคนอีสานพลัดถิ่น โดยจะเริ่มที่ผลงานเพลงแรกคือเพลง “ทิ้งนามาสร้างฝัน” ขับร้องโดยศิลปินมนต์แคน แก่นคูน เผยแพร่เมื่อปีพ.ศ. 2549 สำหรับเนื้อหาภาพรวมของเพลงดังกล่าวเป็นการเล่าถึงสภาพปัญหาที่เกิดจากความแห้งแล้งซึ่งส่งผลกระทบอย่างเป็นวงกว้างต่อวิถีการดำเนินชีวิตของคนในท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ จนกระทั่งต้องตัดสินใจเดินทางออกจากบ้านเพื่อไปแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ให้กับตัวเอง ซึ่งประเด็นปัญหาดังกล่าวปรากฏในตัวบทที่มีความว่า


“ฝนทิ้มฟ้าเมื่อกลางพรรษาน้ำนาเหือดหาย

ปลาข่อนดิ้นตายควายบักตู้เคี้ยวเอื้องเฟืองแห้ง

นกแจ่นแว่นฮ้องงอยง่าก้านของส่งข่าวฝนแล้ง

ตกไกลแล้วน้องานแต่งนากะแล้งเงินแห้งกระเป๋า

มันอุกอั่งเอ้าข้าวอยู่เล้าเหลือน้อยร่อยหรอ

ธกส. เพิ่นมาย่อขอคืนเงินเก่า

อยู่บ้านบ่ได้ไปหาทำงานมาใช้หนี้เขา

ค่าดองคึดต่อขายข้าวเลยบ่สมเว้านำเจ้าจั๊กหน่อย...”


เมื่อพิจารณาตัวบทในข้างต้นจะเห็นได้ว่าผู้ประพันธ์ได้เริ่มต้นเนื้อหาด้วยการเล่าให้เห็นถึงปัญหาความแห้งแล้งในภาคอีสาน ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อวิถีการผลิตและรวมถึงวิถีในการดำรงชีวิตของคนในท้องถิ่น กล่าวคือปัญหาความแห้งแล้งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของชาวบ้านที่มีอาชีพหลักคือการเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ปัญหาดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อด้านอื่น ๆ อีกด้วยไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของความรักและรวมถึงปัญหาในการชำระหนี้สินด้วยเหตุดังกล่าวจึงส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงาน โดยที่ผู้คนเหล่านั้นมีจุดมุ่งหมายที่จะออกจากบ้านไปแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ดังที่ปรากฏในตัวบทที่ว่า


“กระเป๋าเสื้อผ้าพาดขึ้นใส่บ่าอำลานาร้าง

รถแล่นตามทางส่องนอกหน้าต่างนั่งเหมอใจลอย

บ่ฮู้มื้อใด๋สิได้คืนมาหาคนที่คอย

ชีวิตบ่มีสิทธิ์ถอยคือจอกแหนลอยไปตามน้ำไหล”


นอกจากนี้ในเพลงดังกล่าว ยังมีเนื้อหาในส่วนที่สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะบางประการของหลักการแห่งความหวัง ซึ่งความหวังของผู้คนที่ปรากฏอยู่ในตัวบทเป็นความหวังที่มีความยึดโยงหรือมีความสัมพันธ์ที่เชื่อมอยู่กับคติความเชื่อในเรื่องของอำนาจเหนือธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคติความเชื่อในเรื่องของ “โชคชะตา” ซึ่งหากพิจารณาในมิติทางความคิดทางการเมืองจะเห็นได้ว่าคติความเชื่อในท้องถิ่นมีส่วนสำคัญในการประกอบสร้างอัตลักษณ์ของคนในท้องถิ่น รวมถึงการมีอิทธิพลต่อวิถีในการดำเนินชีวิต หรืออย่างน้อยที่สุดคติความเชื่อดังกล่าวก็ทำให้คนในท้องถิ่นรู้สึกกับการมีความหวังในการดำเนินชีวิต ซึ่งเป็นหลักสำคัญที่ทำให้ชีวิตสามารถรับมือกับความทุกข์ยากและมองไปข้างหน้าได้ ดังที่ปรากฏในตัวบทที่ว่า



“ต่อจากนี้ไปความหวังตั้งไว้ฝากโชคชะตา

ดิ้นรนค้นหาทางข้างหน้าจั๊กเป็นจังได๋

แม่นได้คือเว้าสิฟ้าวคืนมาตามสัญญาไว้

หากเทวดาเห็นใจกะคงสิได้ดีดั่งที่ฝัน”


ในส่วนของบทเพลงต่อไปที่จะนำมาสะท้อนให้เห็นถึงความหวังของคนอีสานนั้นคือเพลง “หนาวแสงนีออน” ขับร้องโดยศิลปิน ศิลปิน ตั๊กแตน ชลดา เผยแพร่เมื่อปีพ.ศ. 2549 โดยภาพรวมของเพลงนี้เป็นการเล่าถึงความความรู้สึกของคนที่ออกจากบ้านมาแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ แต่ต้องมาเผชิญกับความยากลำบากในเมืองหลวง ซึ่งภายใต้บริบทดังกล่าวนั้นมันมีทั้งความรู้สึกเหงา คิดถึงและเป็นห่วงทางบ้าน แต่อย่างไรก็ดีถึงแม้ว่าจะต้องเผชิญกับความยากลำบากแต่ใจของพวกเขาก็ยังสู้และยังเชื่อในความหวังว่าจะต้องมีสักวันที่พวกเขาจะประสบความสำเร็จและได้กลับไปใช้ชีวิตที่ดีขึ้นในบ้านเกิด

สำหรับประเด็นที่สะท้อนให้เห็นถึงหลักการแห่งความหวังของบทเพลงนี้จะเห็นได้ในตัวบทที่มีความว่า


“...ในวันที่นกบินแรมทาง โบกปีกคว้างอยู่กลางเมืองหลวง

พกความรู้ต่ำกับดวง ติดตามถามทวงหนทางสร้างฝัน...”


“...อยู่ห้องเช่ากินข้าวริมทาง ทำงานรับจ้างได้ตังค์นิดหน่อย

คือความจริงที่ท้าให้ถอย แต่ใจดวงน้อยไม่ยอมไหวหวั่น

ความฝันและคำสัญญา ก่อนหักใจลาบ้านเราวันนั้น

ความหมายไม่เคยแปรผัน ยังเชื่อสักวันฟ้าคงเข้าข้าง…”


“เฝ้าฝันถึงวันได้ดี มีงานที่ตามวาดหวังไว้

คือวันหนึ่งที่หัวใจ จะหอบรักไปซบอุ่นไอดิน...”


จากตัวบทดังกล่าวก็จะเห็นได้ว่านอกจากสภาพแวดล้อมในสังคมอีสานภายใต้บริบทดังกล่าวจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ผู้คนต้องออมจากบ้านเพื่อไปแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ในดินแดนหรือพื้นที่ที่เชื่อว่าจะมีความอุดมสมบูรณ์มากว่าที่พวกเขาดำรงอยู่ และก็เป็นอีกหนึ่งผลงานเพลงที่สะท้อนให้เห็นว่าคติความเชื่อก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่หล่อหลอม และส่งผลต่อการรับรู้ให้คนในท้องถิ่นนั้น ๆ ให้เกิดความรู้สึกว่าชีวิตนี้ยังคงความหวัง และเชื่อว่าสักวันมันจะต้องดีขึ้น


อนึ่ง ในเนื้อหาของเพลงหนาวแสงนีออนนอกจากจะสะท้อนให้เห็นถึงมิติของความหวังของแรงงานพลัดถิ่นแล้วนั้น เพลงดังกล่าวกยังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาในระดับของโครงสร้างทางสังคมที่รัฐยังขาดประสิทธิภาพในการที่จะจัดการกับปัญหาเรื่องเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับท้องถิ่นหรือชนบท ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ผู้คนจำนวนมากจำต้องออกเดินทางไปแสวงโชคหรือไปเสี่ยงดวงในเมืองขนาดใหญ่


ในมุมกลับกันแม้ว่าผู้คนที่ออกเดินทางมาแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ จะพกเอาความหวังและความเชื่อในเรื่องของโชคชะตาติดตัวมาด้วย แต่นั่นไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่าทุกคนที่ออกมาจะโชคดีหรือประสบความสำเร็จกันทุกคน ดั่งในบทเพลง “ฝนรินในเมืองหลวง” ที่ขับร้องโดยศิลปิน ไผ่ พงศธร เผยแพร่เมื่อปีพ.ศ. 2548 ที่เป็นหนึ่งบทเพลงที่ได้สะท้อนให้เห็นว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะโชคดีแต่ยังมีผู้คนอีกจำนวนหนึ่งที่ต้องเผชิญอยู่กับปัญหาที่หนักกว่าเดิม ดังตัวบทที่ว่า


“...หน่อแนวอีสาน มาหางานในเมืองหลวง

เสี่ยงโชคเดินตามดวง เหมือนแมวระงำถิ่มตามแสงไฟ

บ้างก็โชคดี มีงานทำได้เงินกลับไป

บางคนสู้จนแพ้พ่าย เมื่อบ่ได้อยู่ไม่มีหวัง...”


หากพิจารณาบริบทของบทเพลงที่ผู้เขียนได้นำเสนอไปในข้างต้น จะพบว่าทั้งสามเพลงล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นภายใต้บริบทที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่กับวิกฤการณ์ทางเศรษฐกิจและทางการเมือง แต่ภาพสะท้อนที่เห็นได้จากบทเพลงเหล่านั้นกลับเห็นว่าผู้คนเลือกที่จะแก้ปัญหาด้วยตัวเองมากกว่าที่จะรอการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ จากทางภาครัฐ (ซึ่งไม่รู้ว่าเมื่อไหร่) พวกเขาจึงเลือกที่จะสร้างความหวังและให้กำลังใจซึ่งกันและกันเพื่อให้ชีวิตนั้นขับเคลื่อนต่อไปได้ ดังจะเห็นได้ชัดเจนในบทเพลง “สู้เด้อพี่น้อง” ของศิลปินไผ่ พงศธร เผยแพร่ในปี พ.ศ. 2553 ที่มีเนื้อความว่า


“เปิดทีวีก็มีแต่ข่าวปลุกม็อบ ที่ยังไม่มีคำตอบให้กับสังคม

ชีวิตลูกจ้างอย่างเฮาก็เลยปลิวตามลม พายุเศรษฐกิจพัดจนตกไกล

ค่าน้ำมัน ค่าแก๊สขึ้นไม่ยอมลง นายจ้างก็คอยแต่โกงค่าแรงร่ำไป

ลาบก้อย ส้มตำก๋วยเตี๋ยวขึ้นราคาใจหาย ก็ช่วยๆ กันไปเด้อพี่น้องบ้านเฮา

สู้เด้อ สู้เด้อ สู้เด้อ สู้เด้อ สู้เด้อ สู้เด้อ พี่น้อง…”


ประเด็นที่น่าสนใจประการหนึ่งคือเนื้อหาของเพลงลูกทุ่งในแนวที่สร้างความหวังหรือให้กำลังใจกลุ่มแรงงานพลัดถิ่นภายใต้บริบททางเศรษฐและสังคมการเมืองในช่วงเวลาดังกล่าวเรื่อยมาจนกระทั่งก่อนที่จะเกิดวิกฤติการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 อย่างรุนแรง ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่าเนื้อหาของเพลงลูกทุ่งในแนวนี้มักจะมุ่งเน้นในการให้กำลังใจ การสร้างความหวัง ความอดทน รวมถึงการพยายามสร้างภาพจำว่าสักวันจะต้องประสบความสำเร็จและได้กลับไปใช้ชีวิตที่ดีในบ้านเกิด แต่เมื่อภายหลังการเกิดวิกฤติการณ์โรคโควิด – 19 ระบาดอย่างรุนแรง ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่าเนื้อหาของเพลงลูกทุ่งที่มุ่งสื่อสารไปยังกลุ่มแรงงานพลัดถิ่นเริ่มที่จะมีการเปลี่ยนแปลงมุมมองต่อการเข้ามาเสี่ยงดวงหาทำงานในเมืองขนาดใหญ่ ซึ่งลักษณะดังกล่าวพบได้ในเพลง “แรงก้อนสุดท้าย” ที่ขับร้องโดยศิลปินมนต์แคน แก่นคูน เผยแพร่พลงานเพลงเมื่อปีพ.ศ.2563 ดังตัวบทที่ว่า


“คุยกับเม็ดเหงื่อทุกเมื่อยามล้า ปลอบใจน้ำตาที่มันแอบไหลในบางคราว

สำรวจความจำในทุกพื้นที่ใจเรา เจอแต่รอยเท้าของความผิดหวัง

ตรงนี้เมืองใหญ่ไม่ใช่บ้านเฮา ต้องเสียค่าเช่า

ด้วยเหงื่อ ด้วยเหงา ด้วยกำลัง คำว่าสักวันไม่เคยเห็นเลยสักครั้ง

เราจะกลับหลังย้อนรอยเมื่อวาน หรือดันทุรังสู้ไป

บ่อยากสิเอากระดูกกลับบ้าน แต่อยากสิเอาความฝันกลับนา

กลับบ้านในวันที่มีแรงฟันฝ่า กลับไปหาอ้อมกอดของใจ

ปรับขนาดความฝันให้เล็กลง ให้มันตรงกับที่เราทำได้

เก็บแรงก้อนสุดท้ายกลับไปหา ไปกอดความสุขใจที่บ้านเฮา...”



หากพิจารณาจากตัวบทดังกล่าวจะเห็นได้ว่าแก่นสำคัญของเพลงนี้คือ การชวนให้กลุ่มผู้ใช้แรงงานได้ทบทวนตัวเองว่าจะดันทุรังสู้ต่อไปหรือว่าจะหันหลังกลับบ้าน โดยอาจจะปรับขนาดความฝันหรือความหวังให้มันเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ นอกจากนี้ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่าในบทเพลงดังกล่าวนี้ผู้ประพันธ์ยังพยายามที่จะสื่อสารให้กลุ่มแรงงานพลัดถิ่นตระหนักว่าบ้านคือเซฟโซนหาได้ใช่เมืองขนาดใหญ่อีกต่อไป ซึ่งลักษณะการสื่อสารแบบนี้พบมากขึ้นเรื่อย ๆ ในบทเพลงลูกทุ่งที่เกิดขึ้นภายหลังจากการระบาดของโรคโควิด - 19

เพลง “บ้านเฮากะส่ำบ้านเฮา” ที่ขับร้องโดยศิลปิน ดอกรัก ดวงมาลา เผยแพร่ทางสื่อออนไลน์เมื่อปีพ.ศ. 2564 เป็นอีกหนึ่งผลงานเพลงที่สะท้อนให้เห็นได้อย่างมีนัยสำคัญว่าวิกฤติการณ์โรคระบาดส่งผลต่อวิธิคิดของผู้คนในอีสานโดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติของความหวังในการออกไปแสวงหาโอกาสเพื่อการดำรงชีวิตที่เมืองใหญ่ หรืออาจตีความอีกนัยหนึ่งว่าเพลงบ้านเฮากะส่ำบ้านเฮา คือเสียงของพ่อแม่ คนแก่เฒ่าที่ส่งไปยังกลุ่มลูกหลานแรงงานพลัดถิ่นว่า “กลับบ้านเฮาสาหล่า” ดังที่ปรากฏในตัวบทที่มีความว่า



“ให้คืนเมือ มาบ้านเฮา มาเบิ่งผู้เฒ่า เผิ่นคองถ่าลูกหลาน

มีโอกาสกะวางแหน่เด้อการงาน คิดฮอดผู้คองทาง อยู่บ่อนบ้านนาเฮา

บ้านเฮากะส่ำบ้านเฮานี้ละหนา คุณค่าอยู่ดินอยู่หญ้าเป็นมูลมัง

อีพ่ออีแม่ เผิ่นพาเฮ็ดพาสร้าง เป็นหนทาง ทำมาหากินบ่อดตาย

เผิ่นเว้าสู่ฟัง ว่าความหวังอยู่เมืองกรุง อยากมีอยากรุ่ง ให้เอาแฮงไปขาย

มีอยู่มีกิน แต่มันบ่ม่วนหัวใจ แข่งขันงานใหญ่ ดิ้นรนแทบตายในแต่ละวัน...”


เนื้อหาของเพลงในลักษณะดังกล่าวยังปรากฏในเพลง “อยากซื้อบ้านนอกให้แม่” ขับร้องโดยศิลปิน ไผ่ พงศธร เผยแพร่เมื่อปี พ.ศ.2567 ดังตัวบทที่ว่า


“เฮาเคยใช้แผนพระเจ้าตาก วันตัดใจจากบ้านนามาเมืองใหญ่

แบบว่ายอมทุบหม้อข้าวหม้อแกง ขายมูนข่อน ขายนา ขายไฮ่

เข้ามาสู้ เข้ามาหาเอาใหม่ กะฮู้สึกว่าดีขึ้นกว่ามื้อก่อน

ถึงบ่รวยแต่กะพออยู่ได้ แต่หลายปีไป หัวใจเริ่มสั่นคลอน

ซอมเบิ่งคนที่เข้ามาสู้พร้อมกัน ทยอยกลับ คืนถิ่นถาวร

อิแม่กะเบิ่งทรงเหงากว่าปีก่อน ได้ยินลำกลอน กะน้ำตากะย้อย...ป๊อก”


จากตัวบทในข้างต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวบทที่เกิดขึ้นภายหลังจากวิกฤติการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่าวิกฤติดังกล่าวคือจุดเปลี่ยนต่อสิ่งที่เรียกว่า “ความหวัง” ของกลุ่มแรงงานพลัดถิ่นที่ฝากเอาไว้กับโชคชะตา เมื่อเกิดการล้มหายตายจากของผู้คนจำนวนมากจากโรคระบาดในเมืองใหญ่ ๆ ทำให้ผู้ที่รอคอยความหวังอย่างพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย เริ่มที่จะไม่สบายใจเมื่อลูกหลานของพวกเขาเองต้องออกไปเผชิญกับความเสี่ยง หลายคนเลือกที่จะกลับมาใช้ชีวิตในภูมิลำเนา แต่อีกหลายชีวิตก็ยังคงต้องออกเดินทางไปต่อสู้ดิ้นรนในเมืองใหญ่ ๆ จะอย่างไรก็ดีผู้เขียนขอเป็นกำลังใจให้กับทุกการต่อสู้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่กลับมาต่อสู้ทำมาหากินอยู่ในภูมิลำเนาของตัวเอง หรือกลุ่มแรงงานพลัดถิ่นที่ยังคงต่อสู้ดิ้นรนกันในเมืองก็ตาม ขอให้พลังแห่งความหวังจงสถิตแก่ทุกคนและขอให้ทุกคนสมหวังนะครับ




1. Bloch, E. (1995). The Principle of Hope. Link

2. Chakraborty, S. (2019). The Prospect of 'Hope' in Kant's Philosophy. Politeia.

3. Crackers Books. (2024). Principle of Hope. Online . https://crackersbooks.com/basics-019-principle-of-hope

4. Hockley, J. (1993). The concept of hope and the will to live. Palliative Medicine, 7, 181-186.

5. Krafft, A. M., & Walker, A. M. (2018). Exploring the Concept and Experience of Hope.

6. Snyder, C. R. (2002). Hope Theory: Rainbows in the Mind. Psychological Inquiry, 13, 249-275.

7. ธนาคารแห่งประเทศไทย. (2564). แรงงานอีสานคืนถิ่น... ปรับตัวอย่างไรในวิกฤตโควิด 19. ออนไลน์. https://www.bot.or.th/th/research-and-publications/articles-and-publications/bot-magazine/Phrasiam-64-2/global-trend-64-2-2.html

8. นครินทร์ แก้วเกิด. (2564). ชีวิตและความฝันของแรงงานอีสาน. วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาศิลปบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะจิตกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.

9. พิมพ์ชนก พุกสุข. (2565). ความหวังรสเฝื่อนของแรงงานพลัดถิ่น วงจรแห่งความจนที่ทำให้คนต้องจากบ้าน: สร้อยมาศ รุ่งมณี. ออนไลน์. https://www.the101.world/interview-soimart-rungmanee/


เพลง

ทิ้งนามาสร้างฝัน ศิลปิน: มนต์แคน แก่นคูน อัลบั้ม: ชุด 2 ยามท้อขอโทรหา วางจำหน่าย: พ.ศ. 2549

หนาวแสงนีออน ศิลปิน: ตั๊กแตน ชลดา อัลบั้ม: ชุดที่ 1 หนาวแสงนีออน วางจำหน่าย: พ.ศ. 2549

ฝนรินในเมืองหลวง ศิลปิน: ไผ่ พงศธร อัลบั้ม: ชุดที่ 1 ฝนรินในเมืองหลวง วางจำหน่าย: พ.ศ. 2548

สู้เด้อพี่น้อง ศิลปิน: ไผ่ พงศธร อัลบั้ม: ชุดที่ 4 อยากมีเธอเป็นแฟน วางจำหน่าย: พ.ศ. 2552

แรงก้อนสุดท้าย ศิลปิน: มนต์แคน แก่นคูน อัลบั้ม: ไปรวยเอาดาบหน้า วางจำหน่าย: พ.ศ. 2563

บ้านเฮากะส่ำบ้านเฮา ศิลปิน ดอกรัก ดวงมาลา เผยแพร่ พ.ศ.2564

อยากซื้อบ้านนอกให้แม่ ศิลปิน: ไผ่ พงศธร เผยแพร่ พ.ศ.2566


















Premium isolated images

พื้นที่ประชาสัมพันธ์

ขอเชิญรับฟัง Podcast จากสำนักพิมพ์ Crackers Books

และรับฟังทุกรายการได้ที่ crackersbooks.com/podcasts

Flat Youtube Icon

ติดต่อโฆษณา โทร 0953394114