Published by Crackers Books,

14 April 2024

https://crackersbooks.com/blogs

ความเหมือนที่แตกต่าง : การเลื่อนไหลและการช่วงชิงความหมายของคำว่า “ประชาธิปไตย”


ธนพร สุขสง่า

นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะรัฐศาสตร์ สาขาวิชาการปกครอง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

บทความชิ้นนี้พัฒนามาจากงานในวิชาการเมืองไทยสมัยใหม่ และวิชาระบอบการปกครองและความคิดด้านเศรษฐกิจการเมือง

หลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการปกครอง




“ประชาธิปไตย” (Democracy) ถือเป็นหนึ่งในรูปแบบการปกครองที่มีความเก่าแก่มากที่สุดรูปแบบหนึ่ง และหากพิจารณา “ประชาธิปไตย” ในฐานะที่เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง เราจะพบว่าที่ผ่านมาประชาธิปไตยเป็นหนึ่งในพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่ถูกฝ่ายหรือกลุ่มต่าง ๆ พยายามที่จะช่วงชิงการให้ความหมายมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งภายใต้บริบทดังกล่าวองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ให้ทุนแก่นักวิจัยมากกว่า 100 คนเพื่อทำการศึกษาเกี่ยวกับการใช้คำว่า “ระบอบประชาธิปไตย” และผลจากการศึกษาพบว่าคำว่าประชาธิปไตยได้ถูกนำเอาไปใช้เรียกชื่อหรือนำไปอธิบายแก่ระบบการเมืองทุกระบบ แม้กระทั่งในประเทศที่ใช้ระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ก็เรียกตัวเองว่าเป็นประชาธิปไตย ยิ่งกว่านั้นเมื่อพิจารณารูปแบบย่อย ๆ ของประชาธิปไตยจะพบว่าประชาธิปไตยสามารถจะจำแนกได้มากว่า 550 รูปแบบด้วยกัน จากประเด็นดังกล่าวผู้เขียนมีข้อคิดเห็นว่าหากเราไม่ทำความเข้าใจถึงรากฐานหรือความเป็นมาของคำว่า “ประชาธิปไตย” อาจจะก่อให้เกิดความสับสนอันเนื่องมาจากในปัจจุบันได้มีการนำเอาคำว่าประชาธิปไตยไปใช้ในความหมายที่คลุมเครือซึ่งอาจจะเกิดจากความตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจของผู้ที่นำไปใช้ก็ตาม ดังนั้นงานชิ้นนี้จึงจะพยายามที่จะอธิบายให้เห็นถึงความเหมือนที่แตกต่างระหว่างประชาธิปไตยแบบเอเธนส์ (Athenian Democracy) กับ ประชาธิปไตยแบบเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democracy) และ ประชาธิปไตยของประชาชน (People’s Democracy) ตลอดจนการเลื่อนไหลและการต่อสู้เพื่อช่วงชิงความหมายของคำว่าประชาธิปไตย


เริ่มต้นจากประชาธิปไตยแบบเอเธนส์ (Athenian Democracy) ซึ่งเป็นรูปแบบการปกครองที่มีมาตั้งแต่สมัย 500 ปีก่อนคริสตกาล คำว่า “ประชาธิปไตย” หรือ “Democracy” นั้นมาจากภาษากรีกคำว่า “Demos” ที่แปลว่าคนจน ชนชั้นล่าง ฝูงชน มาประกอบกับคำว่า “Kratos” ที่แปลว่าการปกครอง เมื่อทั้งสองคำมารวมกันจึงมีความหมายว่า “การปกครองของพวกคนจนหรือการปกครองของชนชั้นล่าง” สำหรับหลักการพื้นฐานของการปกครองแบบประชาธิปไตยในยุคสมัยเอเธนส์นี้จะอยู่บนฐานคิดที่เชื่อว่าทุกคนมีความเท่าเทียมกัน แต่ความเท่าเทียมในที่นี้ประชาชนในเอเธนส์ตอนนั้นจะต้องช่วยเหลือตัวเองในทางสาธารณะ เช่น หากเมื่อมีการกระทำผิดหรือมีการถูกฟ้องจนถึงกับต้องขึ้นโรงขึ้นศาลพวกเขาจะต้องแก้ต่างด้วยตนเอง ก่อนที่จะให้ประชาชนทุกคนเป็นคนตัดสิน และในส่วนของการบริหารหรือการดำเนินกิจการสาธารณะจะใช้วิธีการจับฉลาก (By Lot) ซึ่งการจับฉลากนี้จะให้สิทธิเฉพาะพลเมือง (Citizen) ที่เป็นผู้ชายที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไปและมีความสามารถในการมีและใช้อาวุธได้เท่านั้น ส่วนเด็กหรือผู้หญิงและคนต่างด้าวจะไม่มีสิทธิ์หรือมีอำนาจในการปกครอง รูปแบบการปกครองดังกล่าวดำรงค์อยู่ในเอเธนส์เกือบ 200 ปี จนกระทั่งนครเอเธนส์จากอยู่ภายใต้การยึดครองของนครรัฐมาซีโดเนีย เมื่อประมาณ 320 ปีก่อนคริสตกาล

นับแต่นั้นมาจนถึงศตวรรษที่ 19 กลายเป็นช่วงเวลาที่การรับรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตยถูกมองว่าเป็นรูปแบบการปกครองที่เลวร้าย เป็นรูปแบบการปกครองแห่งความเสื่อม ทั้งนี้เพราะรูปแบบการปกครองดังกล่าวเป็นรูปแบบการปกครองของชนชั้นล่าง ยิ่งกว่านั้นรูปแบบการปกครองแบบประชาชิปไตยเอเธนส์เอาเข้าจริงแล้วสามารถที่จะใช้ได้กับรัฐขนาดเล็กเท่านั้น ด้วยเหตุดังกล่าวนี้เองผู้คนหรือนักคิดในยุคนั้นจึงมีความขยะแขยงและกลัวการปกครองแบบประชาธิปไตย กระทั่งต่อมาในศตวรรษที่ 11-13 ได้เกิดสาธารณรัฐเล็ก ๆ ขึ้นในประเทศอิตาลี ซึ่งลักษณะการปกครองในพื้นที่ดังกล่าวมีความคล้ายกับประชาธิไตยของเอเธนส์ แต่คนในสังคมดังกล่าวก็ไม่กล้าที่จะเรียกการปกครองของพวกเขาเองว่าเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตย จึงเลี่ยงที่จะเรียกการปกครองในลักษณะดังกล่าวว่า “สาธารณรัฐ” (Republic) หรือแม้กระทั่งในศตวรรษที่ 18 เมื่อมีการต่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกา ในบรรดาผู้ก่อตั้งก็ยังคงมีความหวาดกลัวกับคำว่าประชาธิปไตยจึงได้ให้นิยามว่าการปกครองของพวกเขาเป็นการปกครองแบบสาธารณรัฐ และหากพิจารณาให้ยิ่งกว่านั้นก็จะเห็นได้ว่าการกำเนิดขึ้นของประชาธิปไตยแบบตัวแทนหรือประชาธิปไตยตะวันตกนั้น ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยแบบเอเธนส์


ครั้นเมื่อเข้าสู่ช่วงต้นศตวรรษที่ 19 สิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งที่เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 14 – 16 ก็เริ่มที่จะค่อย ๆ ขยายตัวจนกลายเป็นสิทธิสากลแก่พลเมืองที่เป็นผู้ใหญ่ทั้งหมด เงื่อนไขต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงื่อนไขทางด้านการมีทรัพย์สินของผู้แทนก็ได้ถูกยกเลิกไป ทำให้การเลือกระบอบตัวแทนค่อยๆ แปลงสภาพจนเกือบเหมือนสิ่งเดียวกับระบอบประชาธิปไตยแบบดั่งเดิม ทั้ง ๆ ที่นักปรัชญาการเมืองอย่างอริสโตเติลหรือรุสโซ่ มองว่าการเลือกตั้งนั้นมีลักษณะที่เป็นอภิชนาธิปไตย (Aristocratic) มากกว่าการได้ตำแหน่งทางการเมืองมาโดยการจับฉลาก แต่อย่างไรก็ดีภายใต้บริบททางการเมืองของประเทศสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ.1787 ฝ่ายการเมืองกลุ่มต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่เห็นด้วยกับระบบการเลือกตั้งและมีความเชื่อว่าการเลือกตั้งจะทำให้ผู้แทนที่มีคุณสมบัติเหนือกว่าประชาชนสามัญทั่วไปเป็นผู้ไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ดังนั้นเองการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนจึงกลายเป็นเสาหลักให้แก่การปกครองในประเทศตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา และนั่นเองทำให้คำว่าประชาธิปไตยเริ่มที่จะมีความหมายในเชิงบวก เมื่อมีนักการเมืองได้นำเอาคำว่าประชาธิปไตยมาตั้งเป็นชื่อพรรคการเมืองในสหรัฐอเมริกา โดยพรรคการเมืองดังกล่าวนั้นคือพรรค “Democratic” ซึ่งมีแอนดรูว์ แจ๊คสัน (Andrew Jackson) เป็นผู้นำพรรค ทั้งนี้การนำชื่อดังกล่าวมาตั้งเป็นชื่อพรรคก็เพื่อที่ต้องการจะสื่อให้เห็นถึงนโยบายการกระจายอำนาจไปยังมลรัฐต่าง ๆ และเปิดโอกาสให้ชนชั้นล่างได้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง รวมถึงการพยายามลดการรวมศูนย์อำนาจทางการเมืองและทางเศรษฐกิจไม่ให้รวมศูนย์ไว้ที่รัฐบาลกลาง นอกจากนี้การนำชื่อดังกล่าวมาตั้งเป็นชื่อพรรคยังเป็นความพยายามที่จะสื่อความหมายว่าอำนาจนั้นเป็นของประชาชน แต่หากพิจารณาอย่างละเอียดจะเห็นได้ว่าความหมายของคำว่าประชาธิปไตยภายใต้บริบทดังกล่าวนั้นหมายถึงการปกครองแบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative Democracy) คือการให้ประชาชนที่เป็นพลเมืองจะได้รับสิทธิออกเสียงเลือกตั้งสามารถที่จะเลือกตัวแทนของตนเข้าไปเป็นผู้ปกครองเพื่อทำหน้าที่ทางด้านนิติบัญญัติและทางด้านบริหาร ซึ่งมีความแตกต่างไปจากประชาธิปไตยเอเธนส์ที่มีลักษณะเป็นประชาธิปไตยโดยตรง (Direct Democracy)

ภายหลังจากที่มีการเริ่มใช้ระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทนในหลายประเทศแถบตะวันตก แต่ก็มิได้หมายความว่ารูปแบบการปกครองดังกล่าวจะดำเนินไปด้วยความราบรื่นโดยตลอด ดังจะเห็นได้ว่าการปกครองดังกล่าวได้มีช่วงเวลาที่ต้องเผชิญกับวิกฤตและอุปสรรค์หลายครั้ง อย่างเช่น การที่ต้องเผชิญกับรูปแบบการปกครองแบบสังคมนิยมในรูปแบบต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่บนฐานคติว่าผลประโยชน์ส่วนรวมมีความสำคัญกว่าผลประโยชน์ของปัจเจกชน หรือแม้กระทั้งการที่ต้องถูกท้าทายจากระบอบการปกครองแบบฟาสซิสม์ในช่วงก่อนส่งครามโลกครั้งที่ 2 และจุดหักเหสำคัญอีกประการก็คือช่วงหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อโลกได้เข้าสู่ยุคของสงครามเย็น (Cold War) ซึ่งภายใต้บริบทดังกล่าวโลกได้แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายเสรีนิยมนำโดยประเทศสหรัฐอเมริกา และฝ่ายคอมมิวนิสต์นำโดยสหภาพโซเวียต ซึ่งภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวทั้ง 2 ฝ่ายต่างทำสงครามแบบจิตวิทยาคือการแข่งขันโฆษณาชวนเชื่อที่ต่างฝ่ายต่างอ้างว่าตนมีการปกครองแบบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ส่วนฝ่ายตรงข้ามเป็นประชาธิปไตยจอมปลอม สหรัฐอเมริกาเองก็พยายามที่จะบอกว่าตนคือประชาธิปไตยที่แท้จริงเพราะมีการเลือกตั้ง มีการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจ ส่วนฝ่ายสหภาพโซเวียตก็ได้โต้ตอบโดยการอ้างความเป็นระบอบประชาธิปไตยของประชาชน (People’s Democracy) และมีความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงมากกว่าเพราะเป็นการปกครองที่ให้สวัสดิการเท่าเทียมตามศักดิ์ศรีมนุษย์


จากบริบททางการเมืองโลกในช่วงสงครามเย็นทำให้เห็นว่าคำว่าประชาธิปไตย เป็นคำที่ฝ่ายต่าง ๆ พยายามที่จะช่วงชิงการให้ความหมาย ซึ่งทำให้คำว่าประชาธิปไตยมีความหมายที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงเมื่อเทียบกับความหมายประชาธิปไตยในยุคเอเธนส์ และปรากฏการณ์ในการช่วงชิงความหมายของคำว่าประชาธิปไตยก็ยังคงปรากฏให้เห็นมาจนถึงปัจจุบัน เพราะในประเทศที่ปกครองแบบเผด็จการก็ยังคงยืนยันว่าตนมีการปกครองแบบประชาธิปไตย หรือแม้แต่การเมืองภายประเทศไทยเองก็เช่นกันกลุ่มการเมืองกลุ่มต่าง ๆ ก็ล้วนแล้วแต่บอกว่าตนเองนั้นเป็นประชาธิปไตย แต่หากพิจารณาจากแนวปฏิบัติหรือพิจารณาจากแนวคิด/อุดมการณ์ของแต่ละพรรคแต่กลุ่มแล้วนั้น จะพบว่าแต่ละพรรคแต่กลุ่มต่างมีแนวปฏิบัติหรือชุดอุดมการณ์ที่แตกต่างกันออกไป แต่มีสิ่งหนึ่งที่ทุกกลุ่มทุกพรรคมีเหมือนกันคือการบอกว่าตัวเองนั้นเป็น “ประชาธิปไตย”



เอกสารอ้างอิง

ไชยันต์ ไชยพร. (2562). สถานะความเป็นพลเมืองในประชาธิปไตยเอเธนส์ (ตอนที่สอง) ใน วารสารสถาบันพระปกเกล้า. ฉบับเดือน เดือนกันยายน ธันวาคม พ.ศ. 2552.


ไชยันต์ ไชยพร. (2547). “ประชาธิปไตยโบราณสู่สมัยใหม่” ใน แนวคิดทางการเมืองและสังคม. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.


ธงชัย วงศ์ชัยสุวรรณ. (2546). “ประชาธิปไตย : เส้นทางเดินจากประชาธิปไตยโดยตรงสู่ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม” ใน รัฐศาสตร์สาร, ฉบับที่ 24, 2546.


เพิ่มศักดิ์ จะเรียมพันธ์. (2561). ความคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยในประเทศไทยจนถึง พ.ศ. 2475 : การก่อรูป, การประชันความหมาย และการผสมผสาน. วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญารัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชารัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.


ศุภชัย ศุภผล. (มปท). ประชาธิปไตย. เอกสารอัดสำเนา



Premium isolated images

พื้นที่ประชาสัมพันธ์

ขอเชิญรับฟัง Podcast จากสำนักพิมพ์ Crackers Books

และรับฟังทุกรายการได้ที่ crackersbooks.com/podcasts

Flat Youtube Icon

ติดต่อโฆษณา โทร 0953394114