Published by Crackers Books,

5 March 2024

https://crackersbooks.com/blogs

โธมัส ฮ็อบส์ : สังเขปชีวประวัติและปรัชญาบางประการ (ตอน 1)

ศิลปะ เดชากุล


เกริ่นนำเรื่องปรัชญาการเมือง


ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาของนักคิด โธมัส ฮ็อบส์ (Thomas Hobbes) (ค.ศ.1588-1679) นักปรัชญาการเมืองชาวอังกฤษผู้โด่งดัง ผู้เขียนจะขอพาผู้อ่านมาทำความเข้าใจถึงความหมายของคำว่าปรัญญาการเมืองเสียก่อนเพื่อเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการทำความเข้าใจเนื้อหาต่างๆ ต่อจากนี้


ปรัชญาคืออะไร หากพิจารณาความหมายโดยศัพท์ของคำว่าปรัชญา จะพบว่าคำว่าปรัชญานี้เป็นศัพท์บัญญัติของพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ เพื่อเป็นศัพท์สำหรับการแปลคำภาษาอังกฤษคำว่า philosophy ดังนั้น ความหมายโดยศัพท์ของคำว่าปรัชญาจึงมีความหมายสอดคล้องกับคำว่า philosophy จากการพิจารณาศัพท์ philosophy จะพบว่ามีรากศัพท์มาจากภาษากรีกโบราณ คือคำว่า philos ซึ่งมีความหมายว่า ผู้รัก และ sopiaซึ่งมีความหมายว่าปราดเปรื่อง จึงเห็นได้ว่าความหมายโดยศัพท์ของคำว่า philosophy ผู้รักความปราดเปรื่อง หรือปรารถนาจะเป็นปราชญ์ หรือผู้ปรารถนาจะฉลาด ดังนั้น ความหมายโดยศัพท์ของคำว่าปรัชญาจึงหมายถึงผู้รักความปราดเปรื่อง หรือผู้ปรารถนาจะเป็นปราชญ์ หรือผู้ปรารถนาจะฉลาด หรือผู้ที่ยังไม่รู้และปรารถนาจะรู้มากขึ้น อย่างไรก็ตามในอีกความหมายหนึ่งดังเดิม ปรัชญาหมายถึงความรักในปัญญา (Love of Wisdom) หรือการแสวงหาในปัญญา (Quest for Wisdom) จากความหมายโดยศัพท์ของคำว่าปรัชญาดังกล่าวข้างต้น จะพบว่าปรัชญาเป็นเรื่องราวของการใช้ปัญญาเพื่อไตร่ตรองในสิ่งที่ตนยังสงสัย หรือในสิ่งที่ตนยังคิดว่าเป็นปัญหาอยู่ และเป็นการพยายามใช้ปัญญาไตร่ตรองถึงคำตอบที่เป็นไปได้สำหรับปัญหาที่ตนยังติดใจสงสัย ดังนั้นปรัชญาจึงเป็นเรื่องของ ผู้ใช้ปัญญา ผู้ที่ไม่ยอมรับสิ่งใดโดยง่ายดาย และเป็นผู้ที่สงสัยใคร่รู้ตลอดเวลา (ปานทิพย์ ศุภนคร, 2542; สมบัติ จันทรวงศ์, 2550)


สำหรับสาขาความรู้ของปรัชญา (Philosophy) ถูกแบ่งออกเป็นสาขาหลักกว้างๆ 4 สาขา อันได้แก่ สาขาแรก อภิปรัชญา (Metaphysic) สาขาที่สอง ญาณวิทยา (Epistemology) สาขาที่ สุนทรียศาสตร์ (Aesthetics) (ผู้เขียนจะขออธิบายถึงความหมายของทั้งสามสาขาในโอกาสถัดไป) และสาขาที่สี่ จริยศาสตร์ (Ethic) สำหรับปรัชญาการเมืองนั้น ตัวปรัชญาการเมืองถือเป็นสาขาความรู้หนึ่งที่แฝงย่อยอยู่ในสาขาความรู้หลักในทางปรัชญา ในสาขาที่ถูกเรียกว่า จริยศาสตร์ ด้วยเหตุที่ว่าจริยศาสตร์คือสาขาที่มุ่งศึกษาถึงสิ่งที่ควรจะเป็น สิ่งที่ดี สิ่งที่ผิด สิ่งที่ถูก กล่าวคือมุ่งศึกษาถึงสิ่งที่ควรจะเป็น ตลอดจนพฤติกรรมที่ควรจะเป็น อะไรเป็นสิ่งที่ควรกระทำ อะไรไม่ควรกระทำ อะไรผิดอะไรถูก สำหรับพฤติกรรมสิ่งที่ผิดสิ่งที่ถูก พิจารณาลึกลงไปให้เกี่ยวข้องกับการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ ความสัมพันธ์ที่ถูกต้องระหว่างมนุษย์ด้วยกันภายในสังคมหนึ่งๆ ว่าความสัมพันธ์ที่ควรจะเป็นระหว่างมนุษย์ด้วยกันควรจะเป็นอย่างไร ควรจะเป็นไปอย่างเท่าเทียมหรือไม่ หรือควรจะเป็นไปอย่างไม่เท่าเทียม และหากจะเป็นไปอย่างเท่าเทียม หรือไม่เท่าเทียม เอาเหตุผลอะไรมาสนับสนุน ด้วยคำถามเช่นนี้จะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่ไม่สามารถแยกออกจากความรู้หลักในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความดี ความชั่ว หรือสิ่งที่ควรจะเป็นได้เลย ลักษณะนี้เองจึงทำให้ ปรัชญาการเมืองเป็นสาขาความรู้ย่อยที่อยู่ในสาขาหลักทางปรัชญาที่เรียกว่า จริยศาสตร์อีกทีหนึ่ง (ศุภชัย ศุภผล, 2563)


ยิ่งไปกว่านั้นหากนำคำว่าปรัชญา (Philosophy) ในความหมายก่อนหน้ามาผสมกับคำว่า การเมือง (Politics) ซึ่งในคำว่าการเมืองนี้ในปัจจุบันมีความหลากหลายของความหมาย แต่หากพิจารณาตามแนวทางของ ศุภชัย ศุภผล (2563) ซึ่งได้อธิบายไว้ว่ารากศัพท์ของคำว่า การเมือง เป็นศัพท์ที่ถูกบัญญัติขึ้นมาจากภาษาอังกฤษคำว่า Poitics ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษากรีกคือPolitikaซึ่งหมายถึงเรื่องราว หรือกิจการของ Polis ซึ่งหมายถึง หน่วยในการปกครอง ชุมชน หรือนครรัฐของพวกกรีกโบราณ (Ancient Greece) อาทิ เอเธนส์ (Athens) สปาร์ต้า (Sparta) เป็นต้น อย่างไรก็ตามความหมายของคำว่า Polis บางคนก็แปลว่า นครรัฐ (City State) หรือในบางคนก็แปลว่า รัฐ หรือบางคนก็แปลว่า เมือง บางคนก็บอกว่าแปลเป็นไทยไม่ได้เพราะเป็นบริบทเฉพาะของกรีกโบราณ ดังนั้นควรจะใช้ทับศัพท์ไปเลย แม้กระนั้นก็สุดแล้วแต่ความเห็นของแต่ละคน อย่างไรก็ตามผู้เขียนจะอธิบายคำว่าการเมืองที่หมายถึง ส่วนรวม คนทุกคน เรื่องสาธารณะ หรือในอีกมุมมองหนึ่ง อาจจะทำความเข้าใจอย่างง่ายๆว่า การเมืองเป็นความสัมพันธ์ของมนุษย์ตั้งแต่สองคนขึ้นไปที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของอำนาจ ดังนั้นเมื่อนำคำว่าการเมือง (Politics) มารวมกันระหว่างคำว่า ปรัชญา (Philosophy) ก็จะได้ความหมายว่า องค์ความรู้หนึ่งที่มุ่งศึกษาถึงสิ่งที่เป็นพื้นฐานที่สุด หรือเป็นธรรมชาติในทางการเมือง หรือองค์ความรู้หนึ่งที่มุ่งศึกษาถึงสิ่งที่เป็นพื้นฐานในเรื่องราวเกี่ยวกับสาธารณะ หรือเรื่องราวเกี่ยวข้องกับทุกคน หรือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับอำนาจ (ศุภชัย ศุภผล, 2563)


ว่าด้วยสังเขปชีวประวัติของโธมัส ฮ็อบส์


ในส่วนแรกผู้เขียนได้พยายามอธิบายถึงความหมายของคำว่าปรัชญาการเมืองพอสังเขป ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้อ่านได้ทำความเข้าใจถึงความหมาย และเพื่อปูพื้นฐานให้ผู้อ่านในการที่จะไปทำความเข้าใจประเด็นอื่นๆที่เกี่ยวข้องภายหลังจากนี้ อย่างไรก็ดีเนื้อหาในส่วนนี้ของผู้เขียนจะเป็นการอภิปรายเพื่อแสดงให้เห็นถึงสังเขปชีวประวัติของ โธมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes) โดยผู้เขียนจะนำเสนอด้วยการแบ่งออกเป็นบริบทสำคัญๆ ดังต่อไปนี้


ช่วงวัยเด็ก

โธมัส ฮ็อบส์ ซึ่งหลังจากนี้ผู้เขียนจะเรียกว่า ฮ็อบส์ ฮ็อบส์เกิดวันที่ 5 เมษายน ค.ศ.1588 ในหมู่บ้านเวสต์พอร์ต (Westport) นอกเมืองมาล์มสบรี (Malmesbury) สำหรับเมืองมาล์มสบรีอยู่ในภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้ ประเทศอังกฤษ ในศตวรรษที่ 17 ถือเป็นเมืองที่มีประชากรเฉลี่ยประมาณหนึ่งพันคน ในวัยเด็กฮ็อบส์มีลักษณะนิสัยที่ขี้เล่นมากแต่ในบางครั้งก็มีลักษณะนิสัยที่เศร้าโศกเช่นกัน บนใบหน้าของเขามีรอยแตก ช่วงเวลาที่ฮ็อบส์โกรธดวงตาของเขาจะเปิดกว้างอุปมาอุปไมยได้ว่ามีลักษณะที่เหมือนกันกับลูกเกาลัด (Chestnuts) ฮ็อบส์มีสีผมที่ดำ ในวัยเด็กเขาได้รับฉายาว่าอีกา (Crow) อย่างไรก็ตามในช่วงท้ายของชีวิตฮอบส์ได้มีศรีษะล้าน และมีผมเพียงเล็กน้อยที่เป็นสีขาว ฮ็อบส์เข้ารับการศึกษาครั้งแรกตอนอายุสี่ปีที่โรงเรียนในเวสต์พอร์ต (Westport) จนถึงอายุแปดขวบ ภายหลังจากนั้นฮ็อบส์ได้เข้ามาศึกษาโรงเรียนในเมืองมาล์มสบรี (Malmesbury) ในปี ค.ศ.1591 กับอีแวนส์ (Evans) รัฐมนตรีประจำเมืองในขณะนั้น แม้แรกเริ่มเดิมทีเขาจะเรียนกับอีแวนส์ ในทางตรงกันข้ามฮ็อบส์กลับมีแรงบันดาลใจจากผู้ที่เป็นอิทธิพลต่อชีวิตของเขาคือ โรเบิร์ต ลาติเมอร์ (Robert Latimer) ชายผู้ได้รับการขนานนามว่าเป็นชาวกรีกที่ดี (good Grecian) ฮ็อบส์เริ่มเรียนกับลาติเมอร์ประมาณปี ค.ศ.1596 ในช่วงระยะเวลาต่อมา ลาติเมอร์ได้กลายเป็นรัฐมนตรีที่เมืองมาล์มสบรี และเป็นอาจารย์ใหญ่ที่ลีห์ เดลาเมียร์ (leigh Delamere) ในช่วงเวลานี้เองฮ็อบส์ได้ให้ความสนใจในการศึกษาเรื่องภาษาและวรรณกรรมคลาสสิก (classical languages and literature) เป็นอย่างมาก (A.P. Martinich, 1999: 2019)


ช่วงการศึกษา


ภายหลังจากนั้นฮ็อบส์เลือกที่จะไปเรียนต่อที่โบสถ์แมกดาเลน (Magdalen) เมืองอ็อกซ์ฟอร์ด (Oxford) ไม่มีการระบุที่แน่ชัดว่าเขาไปที่นั้นในปี ค.ศ.1602 หรือ ค.ศ.1603 ในขณะที่เขาอายุสิบสี่ปี ซึ่งคนส่วนใหญ่ในโบสถ์ที่เรียนจะมีอายุสิบหกถึงสิบแปดปี ฮ็อบส์จึงถือได้ว่าเข้าเรียนก่อนเกณฑ์ และมีอายุน้อยกว่าเพื่อนร่วมชั้นส่วนใหญ่ แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ได้เตรียมตัวมาอย่างดี เขาเข้ารับการศึกษาครั้งแรกของช่วงชีวิตตอนสี่ขวบ และได้ใช้ระยะเวลาเป็นจำนวนหกปีในการฝึกฝนภาษาละติน และกรีก (Latin and Greek) ก่อนที่จะเข้าศึกษาที่โบสถ์แมกดาเลน ที่นั่นเองเขาได้เจาะลึกศึกษางานคลาสสิก ปรัชญา และตรรกะ (Philosophy and Logic) โดยหมกมุ่นอยู่กับกระแสทางปัญญาในยุคนั้น ช่วงเวลานั้นเองทำให้เขาได้สัมผัสผลงานของนักปรัชญาคลาสสิคอย่าง อริสโตเติล (Aristotle) รวมไปถึงนักคิดร่วมสมัยอย่าง เรอเน่ เดการ์ตส์ (René Descartes) ฮ็อบส์ค่อยๆศึกษาเรียนรู้อย่างประณีต และชื่นชอบที่จะพิสูจน์สิ่งต่างๆในแบบของเขาเอง ฮ็อบส์มีลักษณะทางความคิดที่เป็นอิสระ ลักษณะดังกล่าวได้ติดอยู่กับตัวเขาตลอดชีวิต และในบางครั้งการกระทำเช่นนี้ก็ได้นำเกียรติยศมาสู่ตัวเขาเอง เช่น การถือกำเนิดแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับปรัชญาการเมือง หลังจากเรียนจบในมหาวิทยาลัย ฮ็อบส์ได้กลายเป็นครูสอนพิเศษให้กับครอบครัวชนชั้นสูง ช่วงเวลานี้เองถือเป็นช่วงสำคัญในการพัฒนาทางด้านความคิดของเขาด้วยเหตุที่ว่าเขามีความใกล้ชิดกับบุคคลผู้มีอิทธิพล และทำให้เขาได้รับข้อมูลเชิงลึกที่เกี่ยวข้องทางสังคมและการเมืองในขณะนั้น ประสบการณ์เหล่านี้เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างมุมมองทางปรัชญาของเขาในภายหลัง ฮ็อบส์ได้ออกเดินทางเพื่อการศึกษาเขาได้ขยายเขตพรมแดนทางความรู้ที่มีของเขาเองออกจากประเทศอังกฤษโดยเริ่มต้นการเดินทางสู่ทวีปยุโรปขณะนั้นเองจึงทำให้เขาพบกับนักคิดชั้นนำในยุคนั้นอาทิ กาลิเลโอ (Galileo) เป็นต้น จากสภาพแวดล้อมต่างๆในข้างต้นจึงทำให้ฮ็อบส์ได้ขยายพรมแดนทางความรู้ และพัฒนากลายมาเป็นแนวคิดในแบบของ ฮ็อบส์ในที่สุด (A.P. Martinich, 1999: 2019; Noel Malcom, 2002)


ผลงานในช่วงชีวิตของเขา


โธมัส ฮ็อบส์ นักปรัชญาชาวอังกฤษ ได้ทิ้งร่องรอยทางความคิดโดยการนำเสนอปรัชญาการเมืองที่เป็นคุณูประการต่อสังคมไว้ด้วยผลงานอันทรงคุณค่าของเขาที่มีชื่อว่า The Elements of Law (1640) De Cive (The Citizen, 1642) และ Leviathan ซึ่งถูกตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1651 ข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัดที่สุดในระหว่างผลงานเหล่านี้คือส่วนที่เป็นพัฒนาการ และการอธิบายคำสอนทางเทววิทยาในงานชิ้นหลัง ๆ ความตั้งใจของฮ็อบส์อาจมองได้ว่ามีอยู่สองประการ ประการแรก เพื่อทำให้ปรัชญาศีลธรรม และปรัชญาการเมืองมีรากฐานอยู่บนวิทยาศาสตร์เป็นครั้งแรก ประการที่สอง เพื่อให้เขาได้มีส่วนสร้างสันติสุข และความเป็นมิตรในหมู่พลเมือง และโน้มน้าวมนุษยชาติไปสู่การปฏิบัติหน้าที่พลเมืองของตน ในทัศนะของฮ็อบส์ความตั้งใจทั้งสองประการที่กล่าวมามีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดทั้งในทางทฤษฎี และปฏิบัติความตั้งใจประการที่เกี่ยวกับพลเมือง หรือการหล่อหลอมพลเมืองนี้ทำให้ฮ็อบส์ถูกจัดอยู่ในจารีตของปรัชญาการเมืองที่สืบสายกันมา นับตั้งแต่ โสเกรตีส (Socrates) เพลโต (Plato) อริสโตเติล (Aristotle) พลูตาร์ก (Plutarch) และซิเซโร (Cicero) (ลอเรนส์ เบรินส์, 2550)


ในช่วงท้ายชีวิตของฮ็อบส์เขายังคงอาศัยอยู่อังกฤษ ฮ็อบส์พบว่าตัวเองอยู่ท่ามกลางความสับสนวุ่นวายทางปัญญาและการเมืองในช่วงศตวรรษที่ 17 ซึ่งเกิดจากสงครามกลางเมืองอังกฤษ และการท้าทายอำนาจของกษัตริย์ในเวลาต่อมา ในปี ค.ศ. 1675 ฮ็อบส์ได้ตีพิมพ์อัตชีวประวัติของเขาที่มีชื่อว่า Behemoth or The Long Parliament ซึ่งเป็นเรื่องราวย้อนหลังเกี่ยวกับความวุ่นวายทางการเมืองที่เขาได้พบเห็น และเขาได้วิเคราะห์เหตุการณ์ที่นำไปสู่สงครามกลางเมืองของอังกฤษในขณะนั้น งานชิ้นนี้ได้สะท้อนแนวคิดของฮ็อบส์ที่เกี่ยวข้องกับการปกครอง และอำนาจภายหลังจากเหตุการณ์ความวุ่นวาย โธมัส ฮ็อบส์ในวัย 91 ปี เสียชีวิตเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ.1679 ในฮาร์ดวิคฮอลล์ (Hardwick Hall) เมืองดาร์บีเชอร์ (Derbyshire) ประเทศอังกฤษ แม้ว่ารายละเอียดของการเสียชีวิตของเขาจะไม่ได้ถูกบันทึกไว้อย่างกว้างขวาง แต่มรดกของเขาในฐานะนักปรัชญาการเมืองยังคงมีอิทธิพลต่อนักคิดรุ่นหลัง และสังคมจวบจนกระทั่งปัจจุบัน


กล่าวโดยสรุปบทความตอนที่หนึ่งชิ้นนี้ ผู้เขียนพยายามจะสร้างความรู้ความเข้าใจบางประการถึงศาสตร์วิชาที่ถูกเรียกว่าปรัชญาการเมืองเพื่อเป็นพื้นฐานให้ผู้อ่าน ในทำนองเดียวกันนักปรัชญาการเมืองที่ได้สร้างคุณูประการทางความคิด และเป็นพื้นฐานขององค์ความรู้ที่ผู้อ่านบางท่านอาจจะเคยเห็นผ่านตา ไม่ว่าจะเป็นจากการศึกษาเอง หรือผ่านห้องเรียนจากเหล่าคณาจารย์ ที่คนส่วนใหญ่เรียกกันว่านักคิดสายสัญญาประชาคม (Social Contract) ที่มีชื่อว่าโธมัส ฮ็อบส์ นอกเหนือจากคุณูประการทางด้านความคิดดังกล่าว ผู้เขียนเห็นว่าการทำความเข้าใจสังเขปชีวประวัติก็เป็นส่วนสำคัญในการทำความเข้าใจเรื่องอื่นๆของนักปรัชญาการเมืองดังกล่าวด้วยเช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้นผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความชิ้นนี้จะสร้างประโยชน์ต่อผู้อ่านไม่มากก็น้อย


“… That which men desire, they are also said to LOVE and to HATE those ...” (Thomas Hobbes, Leviathan)


รายการอ้างอิง

ปานทิพย์ ศุภนคร. (2542). ปรัชญาเบื้องต้น. กรุงเทพมหานคร. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.


ลอเรนส์ เบิร์นส์. (2555). ลีโอ สเตร๊าส์ และโจเซ็ฟ คร็อปซีย์ (บรรณาธิการ). สมบัติ จันทรวงศ์ (ผู้แปล). ประวัติปรัชญาการเมืองเล่มที่สอง. กรุงเทพมหานคร. โครงการจัดพิมพ์คบไฟ.


ศุภชัย ศุภผล. (2563). ศุภชัย ศุภผล (บรรณาธิการ). รัฐศาสตร์ทั่วไป. เอกสารอัดสำเนา.


สมบัติ จันทรวงศ์. (2550). ปรัชญาการเมืองเบื้องต้น: บทวิเคราะห์โสเกรตีส. (พิมพ์ครั้งที่2). กรุงเทพมหานคร. โครงการจัดพิมพ์คบไฟ.


Martinich, A. P. (1999). Hobbes A Biography. United Kingdom. Cambridge University.


Martinich, A. P. (2019). Thomas Hobbes. In E. N. Zalta (Ed.), The Stanford Encyclopedia of

Philosophy (Winter 2019 Edition). Stanford University.


Noel Malcolm. (2002). Aspects of Hobbes. United states. Oxford University.


Thomas Hobbes. (N.d.). Michael Curtis (Edited). The Great Political Theories Volume 1. New

York. Avon Books.


Premium isolated images

พื้นที่ประชาสัมพันธ์

ขอเชิญรับฟัง Podcast รายการแรกจากสำนักพิมพ์ Crackers Books

Microphone
Flat Youtube Icon
Isolated Shelf on White