เปิดประสบการณ์การเดินทางจากอุบลราชธานีถึงปัตตานี
กิตติภพ แก้วสุวรรณ์
นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ สาขาวิชาการปกครอง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
เมื่อพูดถึงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สิ่งที่นึกถึงเป็นอันดับแรกคงหนีไม่พ้นข้อความอย่าง “ผู้ก่อการร้าย” “โจรใต้” และ “ความรุนแรง” ที่มักจะได้ยินหรือเห็นผ่านข่าวสารตามช่องทางสื่อ โดยเฉพาะยิ่งเมื่อเป็นคนอีสานที่เกิดและเติบโตที่จังหวัดอุดรธานีก่อนที่จะมาเรียนต่อในระดับปริญญาตรีที่จังหวัดอุบลราชธานีอย่างผมซึ่งไม่สามารถจินตนาการถึงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างอื่นที่ต่างจากข้อความในข้างต้นได้เลย แต่เมื่อผมได้พูดคุยและเล่นการ์ดเกม “Patani Colonial Territory” ที่เป็นเกมแนวประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้กับพี่ชายกลุ่มหนึ่งที่เป็นคนจากดินแดนดังกล่าว ผมจึงได้รู้สึกถึงความกดทับจากรัฐที่กระทำกับพื้นที่ตรงนั้นและเริ่มตั้งคำถามกับจินตนาการแบบเดิมของตนเองก่อนที่จะได้เริ่มการเดินทางเพื่อหาคำตอบในครั้งนี้
เริ่มเดินทาง :มันช่างแตกต่างเหลือเกิน
ผมเริ่มเดินทางออกจากจังหวัดอุบลราชนีไปกรุงเทพมหานครด้วยเครื่องบิน ก่อนที่จะต่อด้วยรถไฟเส้นทาง กรุงเทพอภิวัฒน์ - สุไหงโกลก โดยมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่ดินแดนแห่งความขัดแย้งและรุนแรงในทัศนะโดยทั่วไปของคนภายนอกที่มองไปยังดินแดนแห่งนี้ “สามจังหวัดชายแดนภาคใต้” ด้วยความปรารถนาที่จะได้สัมผัสและรับรู้เรื่องราวในที่แห่งนี้ด้วยตาเนื้อของตนเอง รถไฟจอด ณ สถานีรถไฟจังหวัดยะลา ผมได้คลายความเหนื่อยล้าด้วยความดีใจเมื่อถึงจุดหมาย ตลอด 17 ชั่วโมงที่ผ่านมาผมนั่งรถไฟชั้น 3 ตู้พัดลมท่ามกลางผู้คนมากมายที่ต่างเดินทางในเส้นทางเดียวกันในเดือนรอมฎอน และเสียงเจื้อยแจ้วของพ่อค้าแม่ค้าที่เวียนกันขึ้นมาขายสินค้ากลิ่นแตกต่างกันไปทำเอาผมสะดุ้งตื่นขึ้นหลายครั้งระหว่างทาง ผมเดินออกมายังด้านหน้าสถานีรถไฟมองเห็นความงดงามของแนวรถตุ๊กตุ๊ก 4 ล้อคันเล็กดูแปลกตา และทิวตึกหลากสีสันด้านขวามือ แต่ผมกลับสะดุดตาเมื่อเห็น “ป้อมทหาร” ขนาดย่อมที่ล้อมด้วยกระสอบทรายก่อเป็นแนวสี่เหลี่ยมภายใต้หลังคาที่ตั้งอยู่มุมถนนบริเวณสามแยก “บ้านเฮาบ่มีเด้ะหนิ” ผมอุทาน ก่อนจะหันไปเจอ “เครื่องตรวจอาวุธ” บริเวณทางเข้าสถานีรถไฟ ผมสัมผัสได้ถึงความตึงเครียดในขณะที่ผู้คนที่นี่ต่างดูปกติด้วยความเคยชิน
เย็นวันนั้นผมไปที่ตลาดเก่าในตัวเมืองจังหวัดยะลาอันครึกครื้น ผู้คนมากมายอยู่ที่นั่นหลังจากผ่านช่วงเวลาอันเงียบเหงาในช่วงกลางวันที่ประชากรส่วนใหญ่ที่นับถือศาสนาอิสลามถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ร้านอาหารส่วนใหญ่ปิด ผู้คนใช้เวลากลางวันในการพักผ่อน ตลาดครึกครื้นด้วยผู้คนที่แต่งกายด้วยชุดมาลายู ผู้หญิงสวมผ้าคลุมหัว เสื้อผ้าปกปิดร่างกายเห็นเพียงมือและใบหน้า ผู้ชายสวมหมวกที่ไม่มีปีก เสื้อผ้าปกปิดเห็นเพียงมือและหัวส่วนที่ไม่ถูกสวมโดยหมวก และผู้คนเชื้อชาติและศาสนาอื่น ๆ ที่แต่งกายด้วยเสื้อผ้าทั่วไป ประกอบกับเสียงพูดคุยกันเป็นภาษามาลายู ในเดือนรอมฎอนที่การซื้อสินค้าจะได้มากกว่าปกติเนื่องจากพ่อค้าแม่ค้าขายไปด้วยแจกไปด้วย ทั้งถังน้ำแข็งที่ห้อยถุงไว้ด้านข้างเพื่อให้ผู้คนเอาไปโดยไม่ต้องจ่ายเงิน ผู้คนที่นี่มีความหลากหลายทั้งเชื้อชาติและศาสนาที่อยู่ร่วมกันโดยไม่แบ่งแยกในดินแดนแห่งแหลมมาลายู ผมไม่ได้รู้สึกว่าผมอยู่ที่ประเทศไทย มันช่างแตกต่างเหลือเกิน
ปาตานี ?
“ปาตานีครับ ปาตานีก็คือปาตานี ไทยก็คือไทย” คำตอบของพี่ชายคนหนึ่งหลังสิ้นคำถามของผมที่เค้นมาจากเรื่องราวที่ผมได้ร้บรู้จากการ์ดเกม “Patani Colonial Territory” ที่มีโอกาสได้เล่นเมื่อปีก่อน ซึ่งผมได้ถามเกี่ยวกับความรู้สึกว่ามีความรู้สึกว่าตนเป็นคนปาตานีหรือคนไทยท่ามกลางวงบุหรี่ใบจากที่คาเฟ่แห่งหนึ่งกลางเมืองยะลาในยามค่ำ วันนี้เป็นวันที่สองหลังจากที่ผมมาอยู่ที่นี่ ตอนกลางวันยังคงเงียบเหงา แต่โชคดีที่เพื่อนผู้หญิงสองคนที่เราได้รู้จักกันวันก่อนชวนผมไปเปิดบวชร่วมกับเพื่อนคนอื่น ๆ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เธอเป็นคนที่นี่และเรียนมหาวิทยาลัยอยู่ที่นี่ 18.30 น. เสียงสัญญาณดังขึ้นให้ทราบว่าถึงเวลาเปิดบวช ด้านหน้าของผมถูกวางด้วยอาหารคาวหวานอย่างข้าวหมกไก่ทอด เฉาก๊วย น้ำชา ผลอินทผลัม และอื่น ๆ ที่ถูกตักและส่งต่อกันก่อนหน้าจะถึงเวลา ทุกคนในวงกินข้าวที่นั่งเรียงและหันหน้าเข้าหากันเป็นแนวยาวตามเสื่อผืนยาว แยกวงชายและหญิงพร้อมกันนำผลอินทผลัมขึ้นมาแยกเมล็ดออกก่อนส่งเข้าปาก และกินอาหารอื่นหลังจากนั้น
ความรุนแรงโดยรัฐ ?
“Assalamualaikum ครับ” ผมทักทายเพื่อนผู้หญิงชาวมาลายูในตอนเช้ามืดของวันที่สาม วันนี้เราจะไปเที่ยวต่างอำเภอกันจากการนัดอย่างรวดเร็วที่คาเฟ่ในวันก่อน ผมนับถือหัวใจพวกเธอจริง ๆ เพราะต้องถือศีลอดในขณะที่ต้องขับรถจักรยานยนต์กว่า 100 กิโลเมตร และเดินเท้าอีกเกือบ 1 กิโลเมตรภูเขา การเดินทางเริ่มขึ้น เราขับรถมุ่งหน้าไปยังอำเภอเบตงเที่ยวภูเขา น้ำตก และสะพานข้ามเขื่อนบางลางเป็นจุดสุดท้าย นี่เป็นการขับรถเที่ยวที่มีทิวทัศน์ระหว่างทางงดงามที่สุดในชีวิตของผม จะขัดตาก็เพียงแต่ป้อมทหารขนาดเล็กและใหญ่ทั้งด่านตรวจระหว่างอำเภอที่ตั้งอยู่บริเวณริมถนน บางจุดล้อมพื้นที่ไปปกคลุมสวนยางพาราหรือที่ส่วนบุคคลของประชาชนในพื้นที่ พวกเธอเล่าว่ากองกำลังของรัฐเข้าไปใช้พื้นที่ของประชาชนโดยไม่ได้ขออนุญาตเป็นส่วนมากและด้วยความกลัวเจ้าของที่ก็ไม่กล้าเข้าไปคัดค้านกับกองกำลังของรัฐเหล่านี้ ทำได้เพียงแต่จำยอมเท่านั้น หลังถึงจุดสุดท้ายเราก็เดินทางกลับ ในที่สุดด่านตรวจก็ทำงานหลังจากขามาพวกเขาไม่ได้ตรวจกลุ่มผม ชายในเครื่องแบบกวักมือเรียกรถผมและเพื่อนอีกสองคันให้จอดรถ พวกเขาขอตรวจบัตรประชาชน ถ่ายรูปบัตรประชาชน รถและป้ายทะเบียน และซักถามถึงจุดประสงค์ของการเดินทาง ระหว่างจอดรอเพื่อนอีกคันที่กำลังถูกตรวจเช่นกัน เพื่อนผู้หญิงเล่าว่าเขามักจะตรวจผู้ชายเป็นปกติ พวกเธอไม่ค่อยจะถูกตรวจเท่าใดนัก เมื่อการตรวจเสร็จสิ้นพวกเราก็เดินทางมุ่งหน้าไปยังตัวเมืองยะลาต่อไปก่อนที่ผมจะถูกตรวจอีกหนึ่งรอบ คราวนี้มีแค่ผมที่เป็นผู้ชายเพียงคนเดียวในกลุ่มที่ถูกตรวจ จนเมื่อเวลาเที่ยงวันเราก็ได้เดินทางมาถึงที่พักในตัวเมืองยะลาซึ่งเป็นจุดหมาย
“ที่นี่ปรีดี พนมยงค์ กับสี่ สส.อีสานคนหนึ่งเคยมา” พี่ชายหนึ่งในสองคนที่พาผมมาพูดขึ้นระหว่างเดินทางกำลังจะถึงจุดหมายในบ่ายวันนี้ “สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี” รถเก๋งเลี้ยวซ้ายเผยให้ผมที่นั่งอยู่ในรถมองเห็นอาคารปูนเก่า ๆ ที่มียอดทรงครึ่งวงกลมคล้ายหลังคามัสยิดหลังนั้น ปัจจุบันที่นี่กลายเป็นสำนักงานของภาคประชาสังคมหลายองค์กรที่ได้เช่าห้องอยู่ด้านใน ผมเข้าไปด้านในและได้พบกับพี่ชายที่ทำงานกับองค์กรภาคประชาสังคม เราทักทายและถามไถ่เกี่ยวกับความเป็นมากันเล็กน้อยก่อนที่เรื่องราวที่ผมได้ยินมาตลอดสองวันตั้งแต่มาถึงที่นี่จะกระจ่างมากขึ้น “ไม่กี่วันก่อนที่เราจะมาก็มีการวิสามัญสองราย ถูกล้อมปราบ เขาก็อ้างเหตุผลของเขา (ฝ่ายรัฐ) การเซ็นสัญญาที่มาเลเซียให้ไม่มีการปฏิบัติการทางทหารในช่วงเดือนรอมฎอนก็ไม่เห็นความจริงจังที่จะปฏิบัติตามของรัฐบาล” บทสนทนาดำเนินต่อไป “คนที่นี่ถูกกฎหมายพิเศษครอบอยู่ 3 ฉบับ คือ พรบ.กฎอัยการ พรก.ฉุกเฉิน และพรบ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กองกำลังจึงมีอำนาจมาก เวลาเขาจะเข้าตรวจสอบเขาก็ตรวจสอบได้เลยโดยไม่ต้องมีหมายค้น เมื่อถูกจับก็จะถูกนำตัวไปที่ค่ายทหารก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยศาล ซึ่งในระหว่างนี้เขา (ผู้ถูกควบคุมตัว) ก็จะถูกคุมตัวอย่างหนักและมักจะถูกกระทำรุนแรงทั้งร่างกายและจิตใจ หน้าที่ของเรา (องค์กรภาคประชาสังคม) ในช่วงนี้เราก็ต้องติดตามเมื่อญาติแจ้งเข้ามาว่ามีคนถูกควบคุมตัวหรือหายตัวไป เมื่อทราบว่ายังถูกควบคุมตัวเราก็ต้องบอกว่าผู้ถูกควบคุมตัวมีสิทธิอะไรบ้าง” เมื่อสิ้นเสียงผมรู้สึกได้ถึงความรุนแรงโดยรัฐ และความอึดอัดคับแคบของคนที่นี่ ผมเดินทางกลับที่พักพร้อมกับคำตอบบางประการที่ว่าความรุนแรงที่นี่นั้นมีความรุนแรงโดยรัฐ ซึ่งเทียบกับกลุ่มก่อการรุนแรงในพื้นที่นั้น กองกำลังและอาวุธของพวกเขาคงเทียบไม่ได้เลย และเครื่องมืออันทรงแสนยานุภาพในมือของรัฐอย่างกฎหมายก็ยังคงกระทำอยู่อย่างขันแข็ง และซึมซาบเข้ากัดกินวิถีชีวิตของคนที่นี่เข้าเสียแล้ว
เดินทางกลับ :ผมไม่กล้าตัดสินใจว่าเป็นฝีมือของฝ่ายใด
ในบ่ายวันที่สี่เสียงหวูดรถไฟได้ดังขึ้นที่สถานีจะนะเป็นเสียงสัญญาว่าการเดินทางในครั้งนี้ได้จบลงแล้ว ผมเดินทางกลับขณะที่เกิดไฟลุกไหม้อยู่ด้านหลัง อยู่ในดินแดนแห่งนี้ “#สรุปเหตุการณ์เมื่อคืนที่ผ่านมา 22 มี.ค. 67….” ข้อความจากพี่ชายเด้งขึ้นบนมือถือของผมขณะนั่งอยู่บนรถไฟ เป็นข้อความสรุปสถานการณ์ในเบื้องต้น ณ ขณะนั้น ทราบว่ามีเหตุวางเพลิงและระเบิดที่ได้รับแจ้งรวม 26 จุด ก่อนที่ผมจะเห็นข่าวที่มีภาพกล้องวงจรปิดขณะเกิดเหตุเผยให้เห็นภาพกลุ่มกองกำลังที่สวมด้วยชุดเครื่องแบบของรัฐเป็นผู้ก่อเหตุในภายหลัง ผมไม่กล้าที่จะตัดสินว่าเป็นฝีมือของฝ่ายใด ได้เพียงแต่นึกถึงเรื่องราวจากพี่ชายคนเมื่อวานที่ว่าความรุนแรงในดินแดนแห่งนี้นั้นไม่มีเพียงแค่จากกลุ่มผู้ก่อการรุนแรง แต่ยังมีความรุนแรงโดยรัฐด้วย รถไฟยังคงเดินหน้าต่อไปมุ่งสู่สถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ ระหว่างทางผมยังคงนึกถึงรอยยิ้มและความเอื้อเฟื้อของคนที่นั่นที่โอบกอดผม แต่ผมก็ยังรู้สึกเศร้า เศร้ากับสิ่งที่เขาต้องประสบโดยไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ ท้ายที่สุดนี้ผมขอภาวนาสันติภาพและความสงบจงเกิดแก่พี่น้องสามจังหวัดชายแดนโดยเร็วที่สุดครับ
ติดต่อโฆษณา โทร 0953394114