Published by Crackers Books,

18 March 2024

https://crackersbooks.com/blogs


มองแอนิเมชันรุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ 2475

ผ่านกรอบแนวคิดการจัดวางความคิดทางการเมือง



วีรชน เกษสกุล

คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี


ภายหลังจากที่แอนิเมชัน “๒๔๗๕ รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ” หรือ “2475 Dawn of Revolution” ได้มีการฉายในรอบปฐมทัศน์ไปเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2567 และมีการเผยแพร่ผ่านช่องทาง YouTube เมื่อวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่าน เห็นได้ว่าการปรากฏตัวขึ้นของแอนิเมชันดังกล่าวเป็นที่สนใจของผู้คนจำนวนมากทั้งกลุ่มที่ออกมาชื่นชมและกลุ่มที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งโดยส่วนตัวผู้เขียนมองว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวถือเป็นนิมิตหมายที่ดีของสังคมที่ผู้คนจะได้ถกเถียงกันในประเด็นที่ถือได้ว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมากทั้งในมิติทางวิชาการและรวมถึงมิติทางการเมืองการปกครองด้วย

ทั้งนี้ หากพิจารณาเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในฐานะที่เป็นประวัติศาสตร์การเมืองเราจะพบว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วดับไป หากแต่เหตุการณ์ดังกล่าวยังคงเลื่อนไหลและส่งผลกระทบต่อสังคมการเมืองมาโดยตลอดจนกระทั่งถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงวิชาการจะเห็นได้ว่าตลอดระยะเวลากว่า 90 ปีที่ผ่านมา มีการพยายามช่วงชิงความหมายทางการเมืองผ่านการสร้างองค์ความรู้มาโดยตลอด


ในกรณีของแอนนิเมชันชิ้นนี้ ผู้เขียนเองได้ลองพิจารณาผ่านกรอบแนวความคิดที่ว่าด้วยการจัดวางความคิดทางการเมือง ทำให้เห็นว่าแอนนิเมชันเรื่องนี้เองก็เป็นหนึ่งในกระบวนการของการพยายามช่วงชิงความหมายทางการเมืองด้วยเช่นกัน และภายหลังจากที่ผู้เขียนได้มีโอกาสได้ร่วมเวทีเสวนากับผู้กำกับแอนนิเมชันชิ้นนี้ ก็ยิ่งทำให้มั่นใจยิ่งขึ้นว่าแอนนิเมชันชิ้นนี้ไม่ได้เป็นเพียงการ์ตูนที่ถ่ายทอดเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ธรรมดา ๆ เท่านั้น หากแต่ยังเป็นเครื่องมือในการท้าทายชุดความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ที่ดำรงอยู่ในสังคมปัจจุบัน ขณะเดียวกันก็มีความพยายามในการจะจัดวางชุดความคิดหรืออุดมการณ์บางอย่างกลับเข้าไปพร้อม ๆ กันด้วย ซึ่งหากพิจารณาให้ยิ่งกว่านั้นก็จะเห็นได้ว่าการใช้การ์ตูนในการดำเนินเรื่องก็เป็นยุทธศาสตร์สำคัญอย่างหนึ่งของการสื่อสาร กล่าวคือ การ์ตูนในฐานะที่เป็นตัวบททางสังคมอย่างหนึ่งที่มีลักษณะเป็นภาพหรือสัญญะนั้นส่งผลต่อการเกิดภาพจำได้ดีกว่าตัวบทที่เป็นตัวอักษร แม้ว่าทีมผู้สร้างจะพยายามอธิบายว่าการใช้การ์ตูนนั้นก็เพื่อที่จะให้การบริหารจัดการเป็นไปได้ง่ายกว่าการใช้คนเป็นตัวแสดงภายใต้สถานการณ์ที่ต้องเผชิญอยู่กับการแผ่ระบาดของโรคโควิด -19 แต่หากอธิบายอย่างตรงไปตรงมาก็จะเห็นได้ว่าการเลือกใช้การ์ตูนนั้นนอกจากจะได้กลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้สนใจทางประวัติศาสตร์การเมืองแล้วนั้น การ์ตูนยังเป็นสื่อชั้นดีที่จะสร้างสามัญสำนึก (Common sense) เกี่ยวกับชุดความรู้ทางประวัติศาสตร์ให้กับกลุ่มของเด็ก ๆ ซึ่งในภาษาของชาวกรัมเชี่ยนเรียกวิธีการดังกล่าวนี้ว่า “การช่วงชิงพื้นที่ทางวัฒนธรรม” (War of Position)


อนึ่ง หากพิจารณาในส่วนของเนื้อหาของแอนิเมชันเรื่องนี้ จะได้เห็นว่าภาพรวมหรือเนื้อหาโดยส่วนใหญ่เป็นการพยายามที่จะทำเสนอให้เห็นถึงความขัดแย้งภายในกลุ่มของคณะผู้ก่อการ ซึ่งประเด็นดังกล่าวช่วยแสดงให้เห็นว่าการปฏิวัติสยาม 2475 เต็มไปด้วยความขัดแย้งและเต็มไปด้วยการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง และความขัดแย้งไม่ได้ดำรงอยู่เพียงแค่ฝ่ายปฏิวัติกับพลังฝ่ายปฏิปักษ์การปฏิวัติเท่านั้น หากแต่ในฝ่ายปฏิวัติหรือฝ่ายต้านปฏิวัติด้วยกันเอง หรือฝ่ายที่สาม ที่สี่ และอื่นๆ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงหรือเกี่ยวข้องแบบเบาบางก็ยังเต็มไปด้วยความแตกต่าง ลักลั่น และขัดแย้ง ซึ่งก็ต้องชื่นชมทีมผู้สร้างที่ช่วยถ่ายทอดประเด็นดังกล่าวให้เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไป แม้ว่าประเด็นดังกล่าวจะเรื่องที่ผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงการปกครองทราบเป็นอย่างดีอยู่แล้ว หากแต่บางคนบางกลุ่มเลือกที่จะไม่พูดหรือหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึงกรณีดังกล่าว ซึ่งประเด็นความขัดแย้งภายในกลุ่มของคณะผู้ก่อการนี้เองผู้เขียนมองว่าเป็นอุปสรรค์สำคัญอย่างหนึ่งที่คณะผู้ก่อการไม่สามารถที่จะติดตั้งหรือจุดวางชุดอุดมการณ์หลักได้ ซึ่งเมื่อกล่าวถึงชุดอุดมการณ์หลักก็ยิ่งเป็นสิ่งที่ต้องคำถามว่าแท้แล้วชุดอุดมการณ์หลักของคณะราษฎรคืออะไร มันคือชุดอุดมการณ์ทางการเมืองแบบประชาธิปไตยตามที่คนส่วนใหญ่เข้าใจหรือไม่


จากข้อคำถามดังกล่าว หากเราย้อนกลับไปพิจารณาในช่วงวันแรก ๆ ของการปฏิวัติ เราก็จะเห็นร่องรอยของการเลื่อนไหลของชุดอุดมการณ์ที่มาพร้อม ๆ กับการพยายามช่วงชิงการนำกันเองภายในกลุ่มของคณะผู้ก่อการ กล่าวคือก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองคณะผู้ก่อการมีความเห็นพ้องต้องกันที่จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ราชย์ (Absolute Monarchy) ไปสู่การปกครองภายใต้ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional monarchy) แต่ทันทีที่สามารถยึดอำนาจได้สำเร็จสมาชิกบางคนบางกลุ่มก็เริ่มที่จะเคลื่อนตัวออกจากวัตถุประสงค์ที่ตกลงปลงใจกันไว้ตั้งแต่แรก ดังจะเห็นได้ชัดหากเปรียบเทียบเงื่อนไขที่แกนนำของคณะผู้ก่อการพยายามที่จะเสนอให้กับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงเลือกปฏิบัติ โดยในประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ได้วางเงื่อนไขเอาไว้ว่า


“...ถ้ากษัตริย์ตอบปฏิเสธหรือไม่ตอบภายในกำหนดโดยเห็นแก่ส่วนตนว่าจะถูกลดอำนาจลงมาก็จะได้ชื่อว่าทรยศต่อชาติ และก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองแบบอย่างประชาธิปตัย (Republic) กล่าวคือ ประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกตั้งขึ้นอยู่ในตำแหน่งตามกำหนดเวลา...”


ส่วนเนื้อหาในเอกสารคำกราบบังคมทูล ได้วางเงื่อนไขเอาไว้ว่า


“…ถ้าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ตอบปฏิเสธก็ดี หรือไม่ตอบภายใน 1 ชั่วนาฬิกา นับแต่ได้รับหนังสือนี้ก็ดี คณะราษฎรจะได้ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน โดยเลือกเจ้านายพระองค์อื่นที่เห็นสมควรขึ้นเป็นกษัตริย์”


จากตัวบทดังกล่าวสะท้อนให้เห็นได้ชัดว่าภายใต้บริบทหลังการปฏิวัติ คณะผู้ก่อการไม่ได้มีจุดมุ่งหมายร่วมกันในการที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบที่เรียกว่า “ประชาธิปไตย” ตั้งแต่ต้น ในทางตรงกันข้าม ระบอบการปกครองที่เรียกว่าประชาธิปไตยกลับถูกนำมาเป็นเงื่อนไขในการบีบให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลือกตามแนวทางที่คณะผู้ก่อการต้องการที่จะติดตั้งหรือจัดวางแทนที่ระบอบเดิม


อนึ่ง ภายหลังจากการรับชมแอนนิเมชันเรื่องนี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึงการจำแนกประเภทของงานหรือแบบแผนในการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการปฏิวัติสยาม ซึ่งอาจารย์นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ได้แบ่งออกเป็นเป็น 3 กลุ่มประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 ดำเนินเรื่องแบบคนรักเจ้า หรือกลุ่มอนุรักษ์นิยม กลุ่มที่ 2 ดำเนินเรื่องแบบนิยมคณะราษฎร หรือกลุ่มเกลียดเจ้า และกลุ่มที่ 3 ดำเนินเรื่องแบบกลาง ๆ โดยผสมผสานเรื่องต่าง ๆ เข้าด้วยกัน รวมทั้งมีความพยายามในการสร้างสรรค์เรื่องราวใหม่ ๆ เพิ่มเติมเข้าไปในเรื่องที่เคยมีอยู่แต่เดิม ดังนั้นเองไม่ว่าคุณจะนำเสนอในมิติใดก็ตามจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์จากคนอีกลุ่มอยู่เสมอ แต่อย่างไรก็ดีสาระสำคัญมันไม่ได้อยู่ที่ว่าใครจะวิจารณ์ใคร สาระสำคัญของมันคือการวิพากษ์วิจารณ์บนหลักฐาน และการเปิดเผยข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์อย่างตรงไปตรงมาของฝ่ายต่าง ๆ น่าจะช่วยให้เราก้าวข้ามความขัดแย้งและยกระดับองค์ความรู้เกี่ยวกับการปฏิวัติสยามไปอีกระดับ



เอกสารอ้างอิง


นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ (2547). การสละราชสมบัติในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ศึกษากระบวนการ

จัดการ "ความจริง" ว่าด้วยพระมหากษัตริย์นักประชาธิปไตย. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.


วัชรพล พุทธรักษา. (2557). บทสำรวจความคิดทางการเมืองของอันโตนิโอ กรัมชี่. กรุงเทพมหานคร : สมมติ.


วัชรพล พุทธรักษา. (2561). อันโตนิโอ กรัมชี่ กับการจัดวางความคิดทางการเมือง ปรัชญาปฏิบัติการ

เปลี่ยนแปลงทางสังคม และการปลดปล่อยมนุษย์. กรุงเทพมหานคร : สมมติ.


วีรชน เกษสกุล และวัชรพล พุทธรักษา. (2565). การจัดวางความคิดทางการเมือง: แนวทางการวิเคราะห์การก่อ

ตัวทางสังคมของกลุ่มคณะราษฎร. วารสารชุมชนวิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา. ปีที่ 16 ฉบับที่ 2 (2022) เมษายน-มิถุนายน 2565.


สมเกียรติ วันทะนะ, ใน นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. (2533). ความคิดความรู้และอำนาจในการปฏิวัติสยาม2475.

กรุงเทพฯ : เอดิสัน เพรส.


การเสวนา เรื่อง "ประวัติศาสตร์และการเมืองในแอนิเมชั่น: ๒๔๗๕ รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ". จัดโดย กลุ่มศึกษา

ประชาธิปไตยและการเมือง มร. ชมรมรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และนักศึกษาวิชา POL4189 การเมืองกับศิลปะ หลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง สืบค้นเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2567จากhttps://www.facebook.com/100095297647079/videos/1378158006199816





Premium isolated images

พื้นที่ประชาสัมพันธ์

ขอเชิญรับฟัง Podcast จากสำนักพิมพ์ Crackers Books

และรับฟังทุกรายการได้ที่ crackersbooks.com/podcasts

Flat Youtube Icon

ติดต่อโฆษณา โทร 0953394114