Published by Crackers Books,

7 February 2024

https://crackersbooks.com/blogs-011

ความฝัน” และ “ความมั่นคง”: สองทางแพร่งในชีวิตเด็ก Gen Z ในสังคมไทย?


ปัญญากร ดีสงบ

นิสิตปริญญาตรี ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร


ในช่วงระยะเวลาใกล้จะเรียนจบของนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ พวกเขาคงครุ่นคิดกันอยู่ไม่น้อยว่าเส้นทางหลังการเรียนจบจะไปทำอะไรต่อดี ระหว่าง 1) สอบเข้ารับราชการ 2) หาสมัครงานในบริษัทเอกชน และ 3) เรียนต่อระดับปริญญาโท/เอก ซึ่งเมื่อมาพิจารณาถึงคุณลักษณะสำคัญของเด็ก Generation Z (หลังจากนี้จะขอเรียกเด็ก Gen Z) ที่เกิดหลังช่วงปี ค.ศ. 1995-2009 ก็จะพบว่ามีคุณลักษณะ 5 ประการ คือ ประการแรก เติบโตมาในยุคเทคโนโลยี ประการที่สอง มีความอดทนน้อย ไม่คุ้นเคยกับการต้องอดทนรอสิ่งใดเป็นระยะเวลานาน ประการที่สาม ให้ความสำคัญกับความต้องการของตนเองเป็นหลัก ประการที่สี่ กล้าที่จะระบายความรู้สึกนึกคิดของตนบนโลกออนไลน์ และประการสุดท้าย ไม่มีความเกรงกลัวที่จะตั้งคำถามต่อผู้ที่มีวัยวุฒิที่มากกว่า (GEN Z Manpower, ม.ป.ป.)


จากคุณลักษณะเหล่านี้ จึงสามารถพิจารณาได้ว่า เด็ก Gen Z คงจะมีแนวโน้มที่จะเดินเส้นทางชีวิตหลังเรียนจบที่หนีห่างออกจากทางเลือกแรก คือ การสอบเข้ารับราชการน้อยลง เนื่องด้วยความที่การทำงานในระบบราชการที่ให้ความสำคัญต่อลำดับขั้นบังคับบัญชา (hierarchy) มีการทำงานที่เป็นระบบ ตามระเบียบขั้นตอนทางกฎหมาย ทั้งยังมีการเข้า-ออกงานตามเวลาอย่างชัดเจน ส่งผลให้ต้องมีการเคารพและเชื่อฟังคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่มีวัยวุฒิ/อาวุโสมากกว่า การตั้งคำถามหรือแสดงความเห็นและความเป็นตัวตน (individual) อาจจำกัดหรือน้อยลง และมีการทำงานที่อาจล่าช้าหรือติดพันข้อกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ขัดแย้งกับคุณลักษณะของเด็ก Gen Z ที่มีความอดทนต่ำ มีความเป็นตัวตนสูง และกล้าตั้งคำถามกับผู้ที่อาวุโสกว่าเสียทั้งสิ้น


อย่างไรก็ดี แม้ที่ผู้เขียนกล่าวในข้างต้น จะเป็นสิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ในเชิงหลักการ แต่ในความเป็นจริงโดยเฉพาะในสังคมไทยที่หลาย ๆ ครอบครัวมีความคาดหวังให้ลูกหลานของตนเข้ารับราชการ เพื่อแลกมาซึ่งการงานที่มั่นคง รวมถึงสวัสดิการเบิกจ่ายต่าง ๆ อาทิ ค่ารักษาพยาบาล ค่าเทอมบุตร ฯลฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนในครอบครัวจะได้ประโยชน์เหล่านี้ร่วมด้วย ผนวกกับภายใต้สภาวะสังคมไทยโดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 (Covid-19) นับตั้งแต่ปลายปี 2019 เป็นต้นมา สังคมไทยก็ประสบกับสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และอัตราการว่างงานจากการถูกเลิกจ้างงานจากบริษัทเอกชนที่สูงขึ้น ด้วยเหตุเหล่านี้เด็ก Gen Z ในสังคมไทยปัจจุบันที่พึ่งเรียนจบหรือกำลังจะเรียนจบก็คงวิตกกังวลกันอยู่ไม่น้อยว่าตนจะอยู่รอดท่ามกลางสภาวะดังกล่าวได้อย่างไร การสอบเข้ารับราชการที่ในเชิงหลักการดูเป็นสิ่งที่ขัดกับคุณลักษณะของเด็ก Gen Z จึงได้ถูกแปรเปลี่ยนจากที่เป็นทางเลือก เป็นทางที่ (จำเป็นต้อง) เลือก อย่างมิอาจปฏิเสธได้ กระนั้นก็ดี ผู้เขียนมองว่าการมองภาพเด็ก Gen Z ในลักษณะเช่นนี้ ดูจะทำให้เรามองข้ามหรือมองไม่เห็นความมหลากหลายในความฝันของเด็ก Gen Z ที่พวกเขาได้วาดไว้ในชีวิตหลังการเรียนจบ ดังนั้น ผู้เขียนจึงจะได้ลองจำแนกกลุ่มเด็ก Gen Z เกี่ยวกับเส้นทางชีวิตที่พวกเขาต้องการจะเลือกเดินระหว่าง “ความฝัน” และ “ความมั่นคง” ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเสมือน 2 ทางแพร่งดังที่ชื่อบทความชิ้นนี้ได้จั่วหัวไว้หรือไม่ เป็น 3 กลุ่มหลัก ดังนี้


1) กลุ่มที่เลือกทำตามความฝันของตนได้


ในเด็ก Gen Z กลุ่มนี้ ผู้เขียนเสนอว่าเป็นเด็ก Gen Z ที่เกิดมาในสภาวะที่ครอบครัวมีความพร้อมในด้านการเงิน โดยครอบครัวของเด็ก Gen Z กลุ่มนี้อาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องรวยในระดับกลุ่มคน 1% ในประเทศ แต่ก็มีกำลังทรัพย์ที่มากพอในระดับหนึ่งที่พร้อมจะสนับสนุนให้บุตรหลานของตนได้มีโอกาสได้ลองผิดลองถูกในชีวิตเมื่อเรียนจบแล้ว กล่าวให้ชัดก็คือ พร้อมที่จะให้บุตรหลานตนได้ลอง “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” เพื่อที่บุตรหลานตนจะได้เรียนรู้ว่าสิ่งที่ได้ลองทำไปนั้นเป็นสิ่งที่พวกเขาชื่นชอบดังใฝ่ฝันหรือไม่ อาทิ ลองไปทำงานหรือเรียนต่อในต่างประเทศ ลองประกอบกิจการ/ธุรกิจของตน ลองไปทำงานในองค์กร NGOs หรือองค์กรเพื่อสังคม ฯลฯ ซึ่งแม้ในระหว่างที่เด็ก Gen Z กลุ่มนี้ได้ลองทำสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้แล้วเผอิญเกิด “ความล้มเหลว” ในสิ่งที่กำลังทำอยู่ เช่น ทำธุรกิจแล้วล้มเหลว เรียนต่อแล้วไม่ใช่สิ่งที่ชอบหรือเรียนต่อไม่ไหว ก็มิได้ทำให้เด็กกลุ่มนี้ต้องรีบดิ้นรนไปหาการงานทำที่มั่นคงอย่างอาชีพราชการแต่อย่างใด เนื่องจากพวกเขามี “เบาะนุ่ม” หรือครอบครัวที่มีความพร้อมด้านการเงินคอยรองรับ เมื่อพวกเขาล้มพวกเขาก็สามารถลุกขึ้นมา “เริ่มต้นใหม่” ได้ในเวลาที่ไม่นานนัก ด้วยเหตุนี้ เด็ก Gen Z ในกลุ่มนี้จึงสามารถทำตามความฝันของตนได้ตามที่ใจปรารถนา (ภายใต้สภาวะที่ครอบครัวพร้อมจะสนับสนุน) ไม่จำต้องเลือกความมั่นคง (งานราชการ) ดังที่กล่าวในข้างต้น


2) กลุ่มที่ไม่สามารถเลือกทำตามความฝันของตนได้


ในส่วนเด็ก Gen Z กลุ่มนี้ ผู้เขียนเสนอว่าเป็นกลุ่มที่เป็นขั้วตรงข้ามกับเด็ก Gen Z กลุ่มแรก เนื่องจากในเด็ก Gen Z กลุ่มนี้มักเกิดมาในสภาวะที่ครอบครัวไม่ได้มีความพร้อมด้านเงินที่จะสนับสนุนให้ลองทำตามความฝันมากพอ กล่าวคือ เป็นกลุ่มครอบครัวที่อาจสนับสนุนได้เพียงมากสุดคือเรียนจบระดับปริญญาตรี แต่ไม่ได้พร้อมที่จะสนับสนุนให้เด็กได้ทำตามสิ่งที่ตนใฝ่ฝันหลังเรียนจบได้เท่าที่ควร ส่งผลให้เมื่อเรียนจบเด็ก Gen Z กลุ่มนี้จึงประสบกับสภาวะ “สุญญกาศในชีวิต” หมายความว่า ตนจะต้องมานั่งเลือกเส้นทางในชีวิตที่จะทำให้ตนมีรายได้เพื่อยังชีพได้ในระยะยาวและมีความมั่นคงมากพอ เนื่องจากหากตนเลือกทำตามความฝัน แต่ระหว่างทางนั้นกลับประสบกับปัญหา/อุปสรรค ตนก็ไร้ซึ่ง “พนักพิง” หรือครอบครัวที่พร้อมจะสนับสนุนและช่วยเหลือตนในยามทุกข์ยากได้ ยกตัวอย่างเช่น ตน (เด็ก Gen Z) มีความฝันที่อยากจะประกอบธุรกิจร้านกาแฟ ซึ่งต้องใช้ทุนในการดำเนินการ แต่ในระหว่างทางก็ไม่มีสิ่งใดรับประกันว่าธุรกิจที่ตนกำลังจะดำเนินไปนั้นจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว หากสำเร็จก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ตนได้ทำตามความฝันของตน แต่หากประสบกับความล้มเหลวขึ้นมา ตนกลับไร้ซึ่งครอบครัวที่พร้อมจะสนับสนุนหรือช่วยเหลือได้เท่าที่ควร เมื่อเทียบกับเด็ก Gen Z กลุ่มแรก ด้วยเหตุนี้ เด็ก Gen Z ในกลุ่มนี้จึงมีแนวโน้มที่จะเลือกความมั่นคงมากกว่าความฝัน ซึ่งก็คือการสอบเข้ารับราชการ ที่แม้จะไม่ใช่อาชีพที่ตนใฝ่ฝัน แต่อย่างน้อยที่สุดก็คงเป็นอาชีพที่ทำให้ตน “อยู่รอดปลอดภัย” และไม่ต้องมาคอยกังวลกับสภาวะความไม่มั่นคงในชีวิตที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า


3) กลุ่มที่ความฝันและความมั่นคงเป็นสิ่งเดียวกัน


ในเด็ก Gen Z กลุ่มนี้ ในมุมมองผู้เขียนนั้นถือเป็นกลุ่มที่อาจกล่าวได้ว่า “โชคดี” ที่สามารถผนวกระหว่างความฝันและความมั่นคงมาเป็นสิ่งเดียวกันได้ เพราะจะสามารถตัดปัญหาความกังวลทั้งในแง่ “การเงินที่ไม่เพียงพอต่อการตามล่าความฝัน” และในแง่ “สภาวะที่ไม่แน่นอนจากการตามล่าความฝัน” ไปได้เลย โดยในเด็ก Gen Z กลุ่มนี้ที่ผู้เขียนมีความเห็นและประสบพบเจอจากคนรอบข้าง มักจะมีคุณลักษณะเข้าข่าย 3 ประการนี้ ไม่ประการใดก็ประการหนึ่ง อันได้แก่ ประการแรก เป็นเด็ก Gen Z ที่เติบโต ถูกเลี้ยงดู และ คลุกคลีมากับครอบครัวที่มีอาชีพรับราชการทั้งบ้าน ส่งผลให้เด็ก Gen Z กลุ่มนี้ได้มีโอกาสซึมซับหรือเห็นมุมมองการทำงานราชการที่มากกว่าเด็ก Gen Z กลุ่มอื่น ๆ ที่ครอบครัวไม่ได้ทำงานเหล่านี้ พวกเขาจึงมีโอกาสที่อยากจะ “เดินรอยตาม” ครอบครัวของตนผ่านการสอบเข้ารับราชการเมื่อหลังเรียนจบ ดังจะเห็นได้จากหลาย ๆ ครอบครัวที่พ่อแม่มีอาชีพแพทย์ ลูกก็มักจะเป็นแพทย์ตาม ครอบครัวที่พ่อแม่เป็นตำรวจ ลูกก็มักจะไปสอบตำรวจตาม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาจะเหมารวมว่าเด็ก Gen Z ทุกคน ๆ ที่พ่อแม่ทำอาชีพราชการแล้วตนจะเข้ารับราชการตามพ่อแม่ แต่ผู้เขียนเพียงแต่จะสื่อว่าก็ไม่สามารถที่จะปฏิเสธได้ว่าสิ่งเหล่านี้ยังมีและดำรงอยู่ในสังคมไทยอยู่ไม่มากก็น้อย


ประการที่สอง เป็นเด็ก Gen Z ที่ได้เข้าศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในคณะสายสังคมศาสตร์และนิติศาสตร์ ในเด็ก Gen Z กลุ่มนี้ในจุดตั้งต้นก่อนเข้าศึกษาต่อในคณะเหล่านี้หลาย ๆ คนมักจะมีธงในใจแล้วว่าตนอยากจะเป็นข้าราชการ (จากที่ผู้เขียนประสบพบเจอจากคนรอบข้าง) ทั้งนี้เป็นเพราะองค์ความรู้ในคณะเหล่านี้มักจะสอนเกี่ยวกับรัฐ นโยบายสาธารณะ กฎหมาย การบริหารราชการแผ่นดิน การเมืองการปกครอง ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นองค์ความรู้ที่สามารถนำมาใช้เข้าสอบและทำงานในสายอาชีพราชการได้เสียทั้งสิ้น อาทิ ปลัดอำเภอ นายอำเภอ นักวิเคราะห์นโยบายและแผน อัยการ ผู้พิพากษา ฯลฯ จึงไม่น่าแปลกใจนักที่เด็ก Gen Z ที่เข้ามาเรียนคณะสายนี้จะมีแนวโน้มเข้ารับราชการค่อนข้างมาก


ประการสุดท้าย จากการที่เด็ก Gen Z ในสังคมไทยยุคปัจจุบันเติบโตมาพร้อมกับปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม อาทิ การทุจริตคอร์รัปชั่น การเล่นพรรคเล่นพวก ระบบอุปถัมภ์ในแวดวงราชการ ที่กำลังถูกถกเถียงและเปิดเผยบนโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่เด็ก Gen Z คลุกคลีในชีวิตประจำวันเป็นอย่างดี ส่งผลให้พวกเขาอาจตระหนักและตั้งคำถามกับถึงปัญหาเหล่านี้ตามคุณลักษณะของเด็ก Gen Z พวกเขาจึงมีภาพฝันที่อยากจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งกลไกระบบราชการถือเป็นหนึ่งในทางเลือกสำคัญ เนื่องจากเป็นอาชีพที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนและเป็น “แขนขา” ของรัฐบาลที่จะช่วยนำนโยบายมาขับเคลื่อนให้บรรลุผลในเชิงปฏิบัติ เด็ก Gen Z ในกลุ่มนี้จึงเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่มีอุดมการณ์และ “มีไฟ” เป็นความฝันที่แน่วแน่ ผ่านการเข้ามารับอาชีพรับราชการเพื่อมุ่งหวังว่าตนจะเป็นฟันเฟืองในการพัฒนาประเทศได้ไม่มากก็น้อย แต่ทั้งนี้ผู้เขียนก็ตั้งข้อสังเกตว่าภายใต้สภาวะที่สังคมและการเมืองไทยมีความ “ลุ่ม ๆ ดอน ๆ” กล่าวคือ มีการผลัดเปลี่ยนระหว่างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและรัฐบาลเผด็จการอันสะท้อนถึงภาวะไร้เสถียรภาพทางการเมืองเช่นนี้ เด็ก Gen Z ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่เข้ามารับอาชีพราชการเพื่อมุ่งหวังว่าตนจะสามารถช่วยขับเคลื่อนประเทศให้ดีขึ้นได้ จะหมดหวังก็สภาวะทางสังคมเช่นนี้และอาจลาออกจากอาชีพราชการในอนาคตหรือไม่ ก็เป็นสิ่งที่น่าจับตามองต่อไป


บทส่งท้าย: สภาวะสองทางแพร่งของเด็ก Gen Z กับภาพสะท้อนปัญหาในสังคมไทย


จากที่ผู้เขียนได้กล่าวมาทั้งหมดเกี่ยวกับสองทางแพร่งของชีวิตเด็ก Gen Z ภายหลังการเรียนจบในแต่ละกลุ่ม จะพบว่า ข้อจำกัดสำคัญที่ทำให้เด็ก Gen Z ต้องวิตกกังวลว่าตนจะเลือกทำตามความฝันหรือความมั่นคง ก็คือ “เงิน” กล่าวคือ เงินถือเป็นต้นทุนที่สำคัญที่จะช่วยในการผลักดันสิ่งที่ตนใฝ่ฝันเสียทั้งสิ้น โดยหากมองเพียงผิวเผินคนทั่ว ๆ ไปก็คงเห็นร่วมกันว่า สิ่งเหล่านี้เกิดมาจาก “ต้นทุนชีวิตคนเราไม่เท่ากัน” และมักจะกล่าวในเชิงให้กำลังใจกันว่า “คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะเป็นได้” ซึ่งเป็นคำพูดที่ดีเสียด้วยซ้ำในมุมมองผู้เขียน อย่างไรก็ดี ในอีกมุมหนึ่งผู้เขียนก็มองว่ามันจะเป็นได้จริงหรือที่เด็ก Gen Z ทุกคนเลือกที่จะเป็นได้? ในสภาวะที่ตนขาดการสนับสนุนทางด้านการเงินจากครอบครัว คำพูดในข้างต้นดูจะการมองปัญหาระดับจุลภาคในระดับครัวเรือนไปหรือเปล่า?


ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงเห็นว่าปัญหาเหล่านี้ล้วนแล้วแต่สะท้อนปัญหา “ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ” และภาวะ “การขาดสวัสดิการทางสังคม” ในสังคมไทยอย่างเห็นได้ชัด โดยจากรายงานความเหลื่อมล้ำของไทยในปี 2023 ที่ผ่านมารายได้ครัวเรือนต่อวันมีเพียง 34 บาทเท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าระดับความยากจนในระดับนานาชาติมากถึง 80 บาท (ประชาชาติธุรกิจ, 2566) อีกทั้งจากรายงานฐานข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform: TPMAP) ในปี 2023 ก็จะพบว่า มีครัวเรือนยากจนจำนวน 197,298 ครัวเรือน คนยากจนจำนวน 655,365 คน และคนจนเป้าหมายจำนวน 211,739 คน (ฐานเศรษฐกิจ, 2566) นอกจากนั้น ในประเด็นด้านสวัสดิการสังคม ก็จะเห็นว่าประเทศไทยได้ถูกจัดอันดับว่าเป็นประเทศที่มีระบบบำเหน็จบำนาญที่แย่ในปี 2023 เป็นอันดับ 43 จาก 47 ประเทศ (วาราดา, 2566) จากตัวเลขต่าง ๆ เหล่านี้จึงไม่แปลกใจเลยว่าเหตุใดจึงยังมีเด็ก Gen Z หลาย ๆ คน ที่จำเป็นต้องละทิ้งความฝัน และเลือกที่จะรับราชการในฐานะการงานที่มั่นคงมากกว่า


ดังนั้น หากลองคิดต่อไปข้างหน้าที่ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจต่ำลง และมีสวัสดิการทางสังคมที่รองรับคนทุกกลุ่มอย่างเสมอภาค เด็ก Gen Z ในฐานะคนรุ่นใหม่อาจกล้าที่จะออกจากพื้นที่ปลอดภัย (safe zone) และกล้าที่จะเดินตามความฝันของตนได้ดังที่ใจปรารถนา โดยไม่ต้องมาคอยกังวลว่าตนจะขาดการสนับสนุนใด ๆ ก็เป็นได้ และเมื่อเด็กเหล่านี้ได้ทำตามความฝันของตนอย่างแท้จริง พวกเขาก็จะสามารถดึง “ศักยภาพสูงสุด” ของตนออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่ อันจะกลายเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติยิ่ง ๆ ขึ้นไปในอนาคต ซึ่งย่อมเป็นสิ่งที่ส่งผลดีต่อทั้งระดับปัจเจกบุคคลและระดับโครงสร้างของประเทศเสียทั้งสิ้น




รายการอ้างอิง


ฐานเศรษฐกิจ. (2566). สศช.เปิดสถานการณ์ความยากจน-ความเหลื่อมล้ำ ประเทศไทย 2566. สืบค้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.thansettakij.com/business/economy/582085


ประชาชาติธุรกิจ. (2566). กสศ.เปิดรายงานความเหลื่อมล้ำฯปี 2566. สืบค้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.prachachat.net/education/news-1423269?fbclid=IwAR088L883wozHXWNfp_qr6rFWelKY7spttZXegiUsWFCXvJ7FbyKMRyEy14


วาราดา ทองจำนงค์. (2566). เปิด 10 อันดับประเทศระบบบำนาญดีสุด-แย่สุด ประจำปี 2023 ‘ไทย’ รั้งอันดับ 43 จาก 47 ประเทศ. สืบค้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://thestandard.co/top-10-pension-systems/


GEN Z Manpower. (ม.ป.ป.). 5 ลักษณะเด่นของเด็ก GEN Z.สืบค้นเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567, จาก https://genzmanpower.com/03-2/



Youtube Official Icon
Facebook Logo Vector
TikTok Logo Icon