Published by Crackers Books,
16 February 2024
https://crackersbooks.com/blogs
มองความรักในภาพยนตร์ “ผู้หญิงข้า...ใครอย่าแตะ (1990)” : เมื่อการจากลาคือความรักรูปแบบหนึ่ง
*การตีความภาพยนตร์นี้เป็นเพียงมุมมองส่วนตัวของผู้เขียนเท่านั้น ไม่สามารถนำไปอ้างอิงได้
*บทความนี้มีการพูดถึงเนื้อหาภาพยนตร์ เรื่อง “ผู้หญิงข้า...ใครอย่าแตะ (1990)”
นรารัตน์ ชัยรัตน์
ความนำ
ประโยคคลาสสิคที่ว่า “ความรัก เป็นเรื่องระหว่างคนสองคน” มาจากการให้คุณค่าของความรักตามแนวคิด Romanticism ที่ประกอบสร้างอุดมคติของความรักไว้ว่าความรักเป็นเรื่องของคนสองคน ที่ปลายทางของความรักจะอยู่ที่การแต่งงานและเซ็กส์ [1] อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมด้านความรักของชาวจีนกับคุณค่าของความรักตามแนวคิด Romanticism นั้นแตกต่างกันอย่างมาก เพราะชาวจีนมองความรักในฐานะ “เรื่องระหว่างสองครอบครัว” ไม่ใช่แต่เพียงคนสองคนเท่านั้น ดังนั้นในคุณค่าของความรักของชาวจีน สิ่งจะถูกคำนึงถึงเป็นอย่างแรกคือความเป็นหนึ่งของครอบครัว ทำให้คนในครอบครัวกลายเป็นตัวแสดงสำคัญในการสร้างความรักตามขนบธรรมเนียมของชาวจีนให้สมบูรณ์ เช่น ก่อนจะรักกัน ครอบครัวจะพิจารณาว่าคู่ชาย-หญิงนั้นมีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมใกล้เคียงกับครอบครัวตนหรือไม่ และวัฒนธรรมการคลุมถุงชนที่สะท้อนให้เห็นถึงการที่คนสองคนไม่มีสิทธิ์เลือกคู่ครองของตนเอง เป็นต้น [2] และเมื่อไปถึงการแต่งงาน ผู้ที่แต่งงานกันภายใต้ขนบธรรมเนียมนี้จะถูกคาดหวังให้มีลูกหลานสืบสกุล นั่นหมายถึงการมีเซ็กส์ย่อมถูกผูกโยงกับความคาดหวังของคนในครอบครัวด้วย และสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นขนบธรรมเนียมของชาวจีนที่ให้ถูกคุณค่าติดต่อกันมายาวนานหลายชั่วอายุคน
ในช่วงยุคที่จีนแผ่นดินใหญ่ยังมีระดับการพัฒนาที่ต่ำ และยังคละคลุ้งไปด้วยอิทธิพลของการปกครองแบบเหมาอิสต์และการปฏิวัติวัฒนธรรม ปฏิเสธไม่ได้ว่า บริติชฮ่องกง (ปัจจุบันคือเขตบริหารพิเศษฮ่องกง) พื้นที่หนึ่งที่ชาวจีนยังคงรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนไว้ ภาพยนตร์ฮ่องกงจึงเชื่อมโยง (Related) กับความรู้สึกเชื้อชาตินิยมของชาวจีนอพยพได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในสังคมที่มีชาวจีนอพยพจำนวนมากอย่างในสังคมไทย โดยสังเกตได้จากการที่ภาพยนตร์เรื่อง “ผู้หญิงข้า...ใครอย่าแตะ (1990)” ที่ทำสถิติมีผู้ชมซ้ำในโรงภาพยนตร์มากที่สุดขณะออกฉาย
มองภาพยนตร์ “ผู้หญิงข้า...ใครอย่าแตะ (1990)” ให้ลึกกว่าภาพจำแบบเดิม ๆ
หากกล่าวถึงภาพยนตร์ฮ่องกง ในความทรงจำของหลายท่านอาจมองมันในมิติของภาพยนตร์แนวกลยุทธ์-ต่อสู้ (Strategic-Action) อาทิ หนังซีรีส์เรื่อง “เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ (1980)” ที่ทำให้การสูบบุหรี่และตั้งตัวเป็น Gangster กลายเป็นสิ่งโก้เก๋สำหรับวัยรุ่น เช่นเดียวกับภาพยนตร์เรื่อง“ผู้หญิงข้า...ใครอย่าแตะ (1990)”ที่ได้ทำให้การขี่มอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ และคำว่า หลิวเต๋อหัว กลายเป็นภาพแทนของผู้ชายที่ชอบความเป็นนักเลงหัวไม้ซึ่งเป็นความเท่ในสายตาวัยรุ่นสมัยนั้น แต่หากมองให้ลึกขึ้นลงไปกว่านั้น จะพบว่าภาพยนตร์ดังกล่าวยังให้ภาพสะท้อนด้านความรักในสังคมฮ่องกง (ต้นยุค 90) ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัวแตกต่างจากสังคมอื่นๆอยู่ด้วย ด้วยเหตุนี้ ภาพยนตร์ดังกล่าวจึงมีความน่าสนใจ และน่าจะทำให้เราเห็นว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้สะท้อนคุณค่าความรักออกมาอย่างไร
ที่มา : IMDB (มปป.). Tin joek yau ching.
เมื่อ “คุณธรรม” ปะทะ “ความรัก” ภายใต้ “ความกดดัน”
ภาพยนตร์เรื่อง ผู้หญิงข้า ใครอย่าแตะ ปูเรื่องมาด้วยฉากการแข่งขันของแก๊งรถมอเตอร์ไซค์และรถบรรทุกโดยทันที ซึ่งก็จะทำให้เราเห็นบทบาทของ อาหวอ (หลิวเต๋อหัว) นักเลงมีสังกัดลูกสมุนของพี่เจ็ด ที่มีความสามารถในด้านการขับมอเตอร์ไซค์เพื่อการแข่งขัน และเห็นพื้นฐานนิสัยของอาหวอ ซึ่งเป็นคนที่จงรักภักดีกับองค์กรเป็นอย่างมาก แม้จะถูกสั่งการจากอาตง ลูกพี่ที่ตั้งตัวขึ้นมาใหม่ในแก๊ง ให้ทำงานที่ขัดต่อความคิดเห็นส่วนตัวของตน แต่อาหวอก็ยอมเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ขององค์กรที่ตนสังกัด กระทั่งการทำงานดังกล่าวใกล้สำเร็จลง แต่อาตงกลับทำงานผิดพลาดจนตำรวจเกิดสงสัย อาหวอก็แสดงไหวพริบโดยการขับรถชนรถตำรวจเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ นั่นทำให้ซื้อเวลาให้กับทีมจนงานลุล่วงและหนีได้สำเร็จ กระนั้น อาหวอซึ่งต้องหาทางหนีกลับไปเพียงคนเดียว ก็ได้ลอบลักพาตัว โจโจ้ (อู๋เชี่ยนเหลียน) ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ เป็นตัวประกันไว้ เพื่อให้หนีโดยปราศจากการไล่ล่าจากตำรวจต่อไปยังจุดนัดพบกับอาตง
ที่มา : IMDB (มปป.). Tin joek yau ching.
เมื่อถึงจุดนัดพบ หนังฉายภาพให้เห็นถึงความแตกต่างทางศีลธรรมของอาหวอกับอาตงได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะเห็นภาพสถานะผู้กดขี่และผู้ถูกกดขี่อย่างชัดเจน จากการที่อาตงใช้อำนาจข่มขู่เพื่อจ่ายค่าจ้างให้อาหวออย่างไม่สมน้ำสมเนื้อ นอกจากนี้ หลังจากอาตงได้พบโจโจ้ที่หลบอยู่ในรถและกำลังจะหนี อาตงยังโหดเหี้ยมถึงขั้นมองว่าควรฆ่าหญิงสาวเพื่อปิดปากเสีย ขณะที่อาหวอปฏิเสธเสียงแข็ง ยืนยันที่จะรับผิดชอบทุกอย่างหากหญิงสาวปริปาก รวมทั้งยังพาโจ้โจ้ซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์คู่ใจกลับไปส่งอย่างปลอดภัยถึงที่บ้าน สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงคุณธรรมในด้านความเมตตากรุณาของอาหวอ และเมื่อภาพของบ้านโจโจ้ปรากฏขึ้น ก็ได้ทำให้เราเห็นว่าตัวโจโจ้นั้นไม่ใช่เพียงหญิงสาวใสซื่อธรรมดา แต่มีภูมิหลังเป็นถึงลูกคุณหนูที่มีฐานะและอำนาจ นี่จึงถือเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องของอาหวอที่ไม่ฆ่าโจ้โจ้ตามคำสั่งของอาตง ผิดแต่เพียงว่าเหตุการณ์นี้ได้ทำให้อาตงรู้สึกไม่มั่นคงว่าหญิงสาวจะให้การต่อตำรวจหรือไม่ จึงสร้างความบาดหมางระหว่างอาหวอและอาตงขึ้น และจุดประกายให้อาตงต้องการเอาคืนทั้งสองคน
ส่วนภูมิหลังของอาหวอนั้น บทภาพยนตร์ไม่ได้กล่าวแน่ชัด แต่จากฉากการพูดคุยกันของกลุ่มหญิงขายบริการในที่พักของอาหวอ ทำให้คนดูสามารถเดาได้ว่าอาหวอถูกเลี้ยงดูจากหญิงขายบริการสูงวัยหลายคนภายในนั้น ซึ่งแม่ของอาหวอที่เสียชีวิตไปแล้วตั้งแต่อาหวอยังเด็กมากนั้น น่าจะทำอาชีพเดียวกัน และมีอาหวอโดยไม่ได้ตั้งใจ นั่นทำให้อาหวอมีปมในเรื่องของครอบครัว และใช้แอลกอฮอล์ในการจัดการกับความทุกข์ รวมทั้งยังอนุมานได้ว่า อาหวอไม่เคยได้สัมผัสกับความรักของพ่อและแม่ รวมทั้งธรรมเนียมจีนต่าง ๆ ที่ให้ความสำคัญกับสถาบันครอบครัวเลยในช่วงชีวิตของตน
อาหวอมีเพื่อนที่ชื่อว่าแรมโบ้ ซึ่งภาพยนตร์ได้ฉายภาพให้เห็นว่า แรมโบ้นี้ไม่มีที่อยู่และที่ทำงานเป็นหลักแหล่ง และอาศัยงานเล็ก ๆน้อยๆ อย่างการเช็ดกระจกรถของผู้สัญจรไปมา ในการหาเลี้ยงชีพไปวัน ๆ อย่างไรก็ตาม อาหวอก็มองแรมโบ้เป็นเพื่อนอย่างสุดหัวใจ เพราะเขาทั้งสองคนไม่เคยมองอีกฝ่ายด้วยจำนวนตัวเลขของเงินที่อยู่ในกระเป๋า แต่พวกเขาซื่อสัตย์และจริงใจต่อกันไม่ว่าอีกฝ่ายตกอยู่ในสถานการณ์ใด เช่น เมื่อใดก็ตามที่แรมโบ้โดนข่มขู่จากนักเลงท้องถิ่น อาหวอก็พร้อมเสี่ยงเจ็บตัวเพื่อเข้าช่วยโดยไม่หวังผลตอบแทนใด ซ้ำยังเป็นตัวอาหวอเอง ที่เป็นผู้ที่ช่วยเหลือทางการเงินให้แก่แรมโบ้เสียด้วยซ้ำ และเมื่ออาหวอถูกเล่นงานจากลูกน้องของอาตง แรมโบ้ก็ทำทุกวิถีทางเพื่อช่วยอาหวอแม้ตนจะต่อสู้ไม่เป็นก็ตาม
ที่มา : IMDB (มปป.). Tin joek yau ching.
เป็นที่น่าสังเกตว่า ภาพยนตร์พยายามฉายภาพของอาหวอว่าแม้จะมีบุคลิกอย่างนักเลง แต่เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างอาหวอและโจ้โจ้เริ่มพัฒนากันไปมากขึ้น เราจะเห็นว่าอาหวอบริสุทธิใจต่อโจโจ้มากพอที่จะไม่ฉวยโอกาสเชิงชู้สาวแม้จะมีโอกาสก็ตาม อีกทั้งความบาดหมางกันระหว่างอาหวอและอาตง ได้ขับเน้นการแสดงออกเชิงพฤติกรรมที่สะท้อนถึงความรักของอาหวอที่มีต่อโจ้โจ้ เพราะเมื่อภัยเข้ามาประชิตตัวหญิงสาว ตนก็ยอมปกป้องด้วยร่างกายและชีวิตของตน นั่นทำให้ผู้ชมไม่อาจกังขาถึงความรักของอาหวอที่มีต่อโจโจ้ได้เลย ในด้านคุณธรรม แม้อาหวอจะเป็นผู้ที่มีคุณธรรมดีตามครรลองวัฒนธรรมจีนทั้งในด้านการปฏิบัติต่อผู้อาวุโส ความจริงใจและความซื่อสัตย์ รวมทั้งความเมตตากรุณาต่อมนุษย์ เแต่ว่าฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่างอาหวอและโจโจ้นั้น ต่างกันอย่างไม่อาจคำนวนได้ ยิ่งภายใต้สังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูงอย่างฮ่องกง ทุกท่านก็คงจะพอทราบว่าความรักของทั้งคู่จะมีผู้ใหญ่ท่านใดในสถาบันครอบครัวจีนที่ให้การยอมรับหรือไม่ อีกทั้งปัญหาคาราคาซังของตัวอาหวอเอง ไม่เอื้อให้เกิดความรักที่จะเป็นเจ้าของซึ่งกันและกันได้เลย และชี้ให้เห็นว่าชะตาความรักของทั้งคู่ ไม่อาจเป็นเพียงเรื่องของคนสองคนได้โดยแท้
เหตุนี้ ความสัมพันธ์ของอาหวอและโจโจ้จึงเปี่ยมไปด้วยความสิ้นหวัง และอาหวอทราบดีถึงแรงกดดันที่เกิดขึ้นภายใต้ความสัมพันธ์ของพวกเขา นั่นทำให้อาหวอพยายามปลีกตัวหนีจากโจโจ้เพื่อมิให้เรื่องราวบาทหมางของตนไปพัวพันกับโจโจ้อีก นับตั้งแต่การหนีไปตั้งหลักอยู่กับคุณลุงคนหนึ่ง ซึ่งหนังมิได้ระบุว่าเป็นญาติฝั่งใด หรือการพาโจโจ้ไปร่วมกลุ่มกับเหล่านักเลง จุดประสงค์เพื่อให้โจโจ้ตระหนักว่าชีวิตของตนกับของโจ้โจ้นั้นแตกต่างกันอย่างลิบลับ หากแต่โจ้โจ้เองก็ยังคงยืนหยัดในความสัมพันธ์นี้ นั่นทำให้อาหวอยินดีที่จะใช้เวลาร่วมกับโจโจ้ให้มากที่สุด แต่ความสุขนั้นไม่อาจอยู่ได้นาน เมื่อแม่ของโจโจ้ได้เรียกตำรวจมาจับอาหวอในฐานะลักพาตัว แม้สุดท้ายแล้วอาหวอจะถูกปล่อยตัว แต่นั่นทำให้อาหวอได้พบอาตงอีกครั้งหนึ่ง และ เมื่ออาตง ได้ทำการฆ่าพี่เจ็ด ลูกพี่ของอาหวอ นั่นทำให้ไม่อาจรักษา Status Quo ระหว่างอาตงและอาหวอได้อีกต่อไป
อาหวอรู้ตัวดีว่า ไม่มีทางที่อาตงจะเก็บชีวิตของตนไว้ นั่นทำให้อาหวอทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะออกมาตั้งหลักให้ได้ กระทั่งอาหวอได้มาอยู่ที่หน้าบ้านของโจโจ้ ซึ่งตรงกันกับนาทีที่โจโจ้ กำลังจะต้องขึ้นเครื่องบินไปเรียนต่อเมืองนอก ซึ่งเป็นการตัดสินใจอย่างแข็งขันของครอบครัวโจโจ้ บนทางสองแพร่งของชีวิตนั้น โจโจ้ก็ได้เลือกที่จะซ้อนมอเตอร์ไซค์ตามอาหวอไป ไม่ว่ามันจะพาตนไปยังที่แห่งใด และจะมีชีวิตอยู่ได้อีกนานแค่ไหน ปรากฏว่าอาหวอพาโจโจ้ไปยังโบสถ์คริสต์แห่งหนึ่ง และมอบแหวนแก่หญิงสาว กระนั้น อาหวอก็ได้ขอให้โจโจ้หลับตา เพื่ออธิษฐานร่วมกัน แด่ความรัก ที่โจโจ้เป็นคนเลือกมันมากับมือ
ที่มา : IMDB (มปป.). Tin joek yau ching.
ปรากฏว่าคำอธิษฐานของอาหวอเป็นหนังคนละม้วนกับโจโจ้ การจากลา กลับเป็นสิ่งที่อาหวอต้องการมากที่สุด เพราะการจากลานี้เป็นสิ่งเดียวที่อาหวอสามารถมอบให้กับคนที่ตนรักได้ภายใต้บริบททางสังคมที่บีบคั้น และเป็นการจากลาที่อาหวอรู้ดีว่าไม่อาจหวนคืนกลับ เพราะท้ายที่สุดของภาพยนตร์เรื่องนี้ อาหวอมีโอกาสได้รับรู้แต่เพียงว่า โจโจ้คือคนรักคนสุดท้ายในชีวิตของตนเท่านั้น
บทสรุป
ภาพยนตร์เรื่อง“ผู้หญิงข้าใครอย่าแตะ 1” เป็นภาพยนตร์อีกเรื่องหนึ่งที่สามารถตีความได้ในหลากหลายแง่มุม การตีความในด้านความรัก ก็ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่มักจะเชื่อมโยงเข้ากันกับวัฒนธรรม เพราะ ความรักที่ก่อขึ้นมาในสังคมย่อมจำเป็นต้องอยู่ภายใต้การยอมรับจากสังคม แม้ว่าผู้ชมจะรับรู้ถึงคุณธรรมของพระเอก แต่ความแตกต่างทั้งในด้านวิถีชีวิตและฐานะทางเศรษฐกิจ ก็เป็นปัจจัยที่มองไม่เห็นที่ฉุดรั้งความรักของคนสองคนไว้จนไม่เห็นปลายทางของความสุขภายใต้สังคมที่ตัวเอกทั้ง 2 คนอยู่ ดังนั้น การตัดสินใจที่จะจากลา จึงสะท้อนทั้งความรักอันบริสุทธิ์ของพระเอกที่ไม่ต้องการให้นางเอกต้องเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่งระหว่างความรักกับชีวิต และการให้คุณค่าของความรักของภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่ตอกย้ำว่าความรักมิใช่เรื่องระหว่างคนสองคน
รายการอ้างอิง
[1] Alain de Botton. (2016). The Course of Love.
[2] ธัญญารัตน์ มะลาศรี. (2019) .เปรียบเทียบทัศนคติที่เกี่ยวกับความรักและการแต่งงาน กรณีศึกษาสำนวนสุภาษิตไทย-จีน. วารสารวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น (ฉบับบัณฑิตศึกษา) สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์, 7(2), 136.
นรารัตน์ ชัยรัตน์
ศิษย์เก่าภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์
คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
มีความสนใจและศึกษาวัฒนธรรมและสังคมในเอเชียตะวันออก